นวัตกรรมความยั่งยืนขับเคลื่อน 'ธุรกิจ' ลดเหลื่อมล้ำ - สู่เป้าหมาย SDGs

นวัตกรรมความยั่งยืนขับเคลื่อน 'ธุรกิจ' ลดเหลื่อมล้ำ - สู่เป้าหมาย SDGs

เรื่องความยั่งยืน เป็นเรื่องของทุกคน ต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ปรับการใช้สื่อปลูกฝังจิตสำนึกความยั่งยืนให้เหมาะสมกับพนักงาน และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเปลี่ยนวิธีคิด ปรับโมเดลธุรกิจ สู่เป้าหมาย SDGs ปี 2030

เหลือเวลาเพียงอีก 6 ปีเท่านั้น ที่ทุกบริษัทต้องร่วมกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals) หรือ SDGs 17 เป้าหมาย รวมถึงนโยบายที่จะเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ภายในปี 2050 นำมาสู่การผนึกกำลังครั้งใหญ่ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการ ลดโลกร้อน

นวัตกรรมความยั่งยืนขับเคลื่อน \'ธุรกิจ\' ลดเหลื่อมล้ำ - สู่เป้าหมาย SDGs

เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP.Group) องค์กรที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร สร้างโอกาสในการเข้าถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน ให้ความสำคัญกับดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ได้กำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ความยั่งยืนในปี 2573 ไว้อย่างชัดเจน ตามกรอบการดำเนินงาน 3 Hs คือ Heart Health และ Home ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ชี้ว่าการขับเคลื่อนความยั่งยืน ด้วยวิธีการดำเนินธุรกิจตามปกติ ในวันนี้ไม่เพียงพอที่จะรับมือกับความท้าทายและปัญหาที่โลกกำลังเผชิญ จำเป็นต้องใช้ "นวัตกรรมและเทคโนโลยี" ขับเคลื่อนธุรกิจ และเดินหน้าเร่งเครื่องให้เข้าใกล้เป้าหมาย SDGs ปี 2030 ให้มากที่สุด

3D ความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญ

ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร ผู้ช่วยบริหารประธานคณะผู้บริหาร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และเลขาธิการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) เล่าว่า ขณะนี้โลกและประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ใน 3 ด้าน หรือ 3D ได้แก่ 1. Deglobalization 2. Decarbonization 3. Digitalization นั่นคือ การทวนกลับของกระแสโลกาภิวัฒน์ ที่เกิดจากความตึงเครียดและการแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ แล้วส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศ และการลงทุนข้ามชาติที่ลดลง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่เน้นท้องถิ่น มากกว่าการจัดการระหว่างประเทศ สิ่งเหล่านี้มีนัยยต่อเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในทุกประเทศทั่วโลก

นวัตกรรมความยั่งยืนขับเคลื่อน \'ธุรกิจ\' ลดเหลื่อมล้ำ - สู่เป้าหมาย SDGs

ขณะเดียวกัน หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยก็ยังมีความล่าช้าและอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050 ซึ่งโลกเราอาจต้องเผชิญกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจและภัยพิบัติต่างๆที่ตามมา และสุดท้าย การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล ยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้วัตถุดิบ พลังงาน และน้ำอย่างสิ้นเปลือง ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ และของเสียต่างๆ รวมถึงส่งผลต่อสังคม โดยเฉพาะช่องว่างและความเหลื่อมล้ำที่กว้างขึ้นในการเข้าถึงบริการทางดิจิทัล 

ช่วยโลกบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน

ดร.เนติธร ย้ำต่อว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุค 5G ที่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ซึ่งจะต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อเทคโนโลยี 5G ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ต้องใช้พลังงานมหาศาลที่ต้องเน้นการ ลดก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้พลังงาน หรือใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยต้องไม่ลืมที่จะคำนึงถึงกระบวนการได้มาของเทคโนโลยีด้วย  เพื่อช่วยให้โลกและองค์กรบรรลุเป้าหมาย Net Zero และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้จริง

นวัตกรรมความยั่งยืนขับเคลื่อน \'ธุรกิจ\' ลดเหลื่อมล้ำ - สู่เป้าหมาย SDGs

ภาพจาก https://www.wearecp.com/cpf-2023-02-07/

ยกตัวอย่างตอนนี้หลายๆ คนรู้ว่าการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นการลดก๊าซเรือนกระจก แต่กระบวนการต่างๆ ที่นำมาสู่การใช้พลังงานแสงอาทิตย์นั้น ไม่ว่าจะป็น แบตเตอรี่ โซลาร์เซลล์ที่นำมาใช้ แหล่งกระบวนการที่จะขุดเหมือง เป็น Net Zero หรือไม่ ต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

"นวัตกรรมและเทคโนโลยีจะเป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จ ที่สอดแทรกอยู่ในทุกอณูของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขปัญหา รอบด้านยิ่งขึ้น ขยายผลได้เร็วขึ้น และทุกคนมีส่วนร่วมได้มากขึ้น" ดร.เนติธร กล่าว

"TrueMoney" ทุกคนเข้าถึงแหล่งทุน

ดร.เนติธร เล่าถึงรูปธรรมของการดำเนินธุรกิจและเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โดยหยิบยกประสบการณ์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ให้บริการ TrueMoney เพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้ หรือไม่มีบัญชีธนาคาร หรือไม่มีศักยภาพพอที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น กู้เงินไม่ได้ ไม่มีเครดิต ซื้อประกันไม่ได้ TrueMoney จะช่วยสร้างเครดิตที่น่าเชื่อถือ และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ ลดความเสี่ยงจากหนี้นอกระบบ ได้ประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน 

นวัตกรรมความยั่งยืนขับเคลื่อน \'ธุรกิจ\' ลดเหลื่อมล้ำ - สู่เป้าหมาย SDGs

"TrueMoney ตอบโจทย์ทุกจุดเจ็บปวด หรือ pain point เพราะการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอาชญากรรม เพราะลดความเสี่ยงจากกลุ่มหนี้นอกระบบ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ซึ่งนับเป็น 90 กว่า% ขององค์กรธุรกิจ ที่อยู่ในภูมิภาคอาเซียนทั้งหมด อีกทั้งมีการจ้างงาน 65% ของแรงงานทั้งหมดในภูมิภาค" ดร.เนติธร กล่าว

ดร.เนติธร เล่าอีกว่า กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง เป็นเสมือนเครื่องจักรที่จะขับเคลื่อนธุรกิจของภูมิภาคอาเซียน มีการจัดตั้ง True Money Center ที่พร้อมร่วมมือกับร้านค้าในท้องถิ่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา ร้านกาแฟ หรือแม้แต่ร้านค้าแผงลอยในประเทศต่างๆ เช่น เมียนมาร์ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศ เพื่อให้บริการรองรับการทำธุรกรรมต่างๆ เช่น การถอนเงินสด การเติมเครดิตแบบเติมเงิน การชำระบิลค่าสาธารณูปโภคและค่าโทรศัพท์ การอำนวยความสะดวกในการรับเงินสดจากการโอนเงินต่างประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้คนในชุมชนเข้าถึงบริการธุรกรรมทางการเงินที่ง่ายและปลอดภัย 

ลดความเหลื่อมล้ำด้วยเทคโนโลยี

มองอีกมุมหนึ่ง ยิ่งเทคโนโลยีเจริญมากก็มีความท้าทายเรื่อง ความเหลื่อมล้ำ มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดร.เนติธร เล่าว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ร่วมกับบริษัทในเครือฯ โดย ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป บรรเทาความท้าทายดังกล่าวผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยี "MorDee" แพลตฟอร์มการดูแลสุขภาพอัจฉริยะ แบบครบวงจรที่เชื่อมโยงการบริการด้านสุขภาพออนไลน์และออฟไลน์ ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสามารถค้นหาอาการป่วยโดยค้นหาจากคำหลัก จากนั้นติดต่อกับแพทย์ที่เกี่ยวข้อง และรับคำปรึกษาแบบออนไลน์ ในแพลตฟอร์มนี้มีแพทย์ชั้นนำกว่า 500 คน ครอบคลุมกว่า 20 สาขาเฉพาะทาง นอกจากนี้ยังสามารถขอใบรับรองแพทย์เพื่อลาป่วยจากนายจ้าง หรือแม้กระทั่งการสั่งยาให้จัดส่งถึงบ้านที่ให้บริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศ 

นวัตกรรมความยั่งยืนขับเคลื่อน \'ธุรกิจ\' ลดเหลื่อมล้ำ - สู่เป้าหมาย SDGs

นอกจากนั้นยังมี True Health Corners เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน และต้องการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล โดยสามารถรับการตรวจ คัดกรองสุขภาพเบื้องต้น ปรึกษาออนไลน์กับแพทย์ และซื้อยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายการรักษาพยายาลได้อีกทางหนึ่ง

"ตรวจสอบย้อนกลับ" ยกระดับเกษตรกร

ดร.เนติธร ยกอีกตัวอย่างของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ นั่นคือระบบตรวจสอบย้อนกลับ ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทางออกของการแก้ปัญหาเผาป่าและฝุ่นควัน PM 2.5 ในประเทศและภูมิภาค โดยเครือฯ ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน "ฟ ฟาร์ม" (ForFarm) ปัจจุบันมีผู้ใช้ในระบบ 40,000 กว่ารายในพื้นที่ 2 ล้านกว่าไร่ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับเกษตรกรเข้าสู่กระบวนการดิจิทัลมากขึ้น และทำให้กระบวนการจัดซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ มีกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ ทั้งแหล่งที่มาของวัตถุดิบ แรงงาน และพื้นที่ ว่ามีการละเมิดที่ทำกินหรือไม่ มีการบุกรุกพื้นที่ป่า หรือเผาพื้นที่ป่าหรือไม่  นอกจากนั้น ยังส่งเสริมการเกษตรแบบแม่นยำหรือ precision agriculture เพื่อช่วยลดการใช้ปุ๋ยหรือน้ำที่ไม่จำเป็น เพื่อให้มีความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และตอบโจทย์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งติดฉลากดิจิทัลที่มีข้อมูลการผลิตครบถ้วน สามารถติดตาม และรายงานผลการดำเนินงาน ที่อำนวยความสะดวกให้ธุรกิจทุกขนาด สามารถเปิดเผยผลการดำเนินงาน ตามหลักการชี้แนะสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนได้อย่างสะดวก 

นวัตกรรมความยั่งยืนขับเคลื่อน \'ธุรกิจ\' ลดเหลื่อมล้ำ - สู่เป้าหมาย SDGs

นวัตกรรมทางความคิด

ดร.เนติธร กล่าวต่อไปว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์กรและของโลก ต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความท้าทาย ทั้งด้านการค้า การลงทุน และสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญนวัตกรรมต้องไม่ใช่เพียงเรื่องของเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ต้องเป็นนวัตกรรมทางความคิดด้วย และต้องเริ่มจากตัวเราในฐานะผู้บริโภคนักลงทุน ผู้ถือหุ้น การที่เราไปซื้อหุ้น การที่เป็นพนักงานองค์กร การซื้อสินค้า สิ่งเหล่านี้เราได้นำจิตสำนึกความยั่งยืนเข้าไปเป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกซื้อสินค้า เลือกลงทุน หรือเลือกทำงานกับองค์กรที่มีจิตสำนึกมากน้อยขนาดไหน นี่คือนวัตกรรมทางความคิดหรือทัศนคติที่มีความสำคัญพอๆ กับนวัตกรรมทางเทคโนโลยี

นอกจากนั้น ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า นวัตกรรมทางความคิดจะเกิดไม่ได้ ถ้าไม่ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการให้การศึกษา และยกตัวอย่างงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปี 2567 ที่สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand: UNGCNT) พร้อมเครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทในเครือ ในฐานะองค์กรที่ร่วมก่อตั้ง ได้เข้าร่วมงานในปีนี้ด้วย โดยชี้ว่าเป็นงานที่ทำให้เห็นถึงความท้าทายขององค์กรในปัจจุบัน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ต่างมีองค์ความรู้จำนวนมาก และองค์ความรู้เหล่านั้นสามารถแปลงมาเป็นความรู้ให้แก่เยาวชนได้ เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ นอกจากจะนำ SDGs 17 ข้อ ไปบรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ความยั่งยืนขององค์กรแล้ว ยังร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ พัฒนาและถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูกหลานด้วย เช่น การพัฒนาเกมออนไลน์ The Collector เพื่อให้ความรู้เรื่องการแยกขยะ

นวัตกรรมความยั่งยืนขับเคลื่อน \'ธุรกิจ\' ลดเหลื่อมล้ำ - สู่เป้าหมาย SDGs
 
"ปีนี้ UNGCNT และเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เข้าร่วมงาน มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งเป็นเหมือน Sandbox ให้กับองค์กรภาคธุรกิจ ในการนำองค์ความรู้ที่มาอยู่มาถ่ายทอดปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกให้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อให้เติบโตด้วยจิตสำนึกเรื่องความยั่งยืนและใช้ชีวิตอย่างรับผิดชอบ สิ่งที่เราต้องทำต่อจากนี้คือขับเคลื่อนให้ทั้งสมาชิกของ UNGCNT กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ โดยนำองค์ความรู้ธุรกิจด้านความยั่งยืนมาถ่ายทอดส่งต่อให้เด็กและเยาวชน เช่น เด็กสามารถไปเยี่ยมชมฟาร์ม หรือโรงงานปิโตรเคมี เพื่อส่งเสริมให้เด็กเป็นวิศวกรเคมี หรือกลุ่มรพ.บริการทางการแพทย์ ช่วยกันสร้างจิตสำนึกให้เด็กเป็นหมอ หรือบุคลากรทางการแพทย์ ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ" ดร.เนติธร กล่าว

สร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน 

ดร. เนติธร ย้ำว่า องค์กรจะยั่งยืนไม่ได้ ถ้าไม่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ เพราะการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี จะช่วยให้ค้นหาทางออกได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ประเทศและโลกได้เร็วขึ้นเช่นกัน  โดยเป้าหมายของ "ศุภชัย เจียรวนนท" ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) ต้องการขับเคลื่อนเรื่องของเทคโนโลยี การศึกษา และความยั่งยืนเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน

ดร.เนติธร เล่าว่า สิ่งที่ศุภชัยมุ่งเน้นคือเรื่องของการตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัด (KPI) ถึงแม้ว่าสมาชิก UNGCNT จะมาจากหลากหลายธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม แต่ทุกแห่งได้ตั้งเป้าหมาย Net Zero ร่วมกัน เมื่อมีเป้าหมายร่วมกันก็จะสามารถเดินไปในทิศทางเดียวกันได้ และต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เข้ามาผนึกกำลังกัน  

"เรื่องความยั่งยืน เป็นเรื่องของทุกคน และทำเพียงองค์กรเดียวไม่ได้  ต้องมีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ปรับการใช้สื่อ ปลูกฝังจิตสำนึกความยั่งยืนให้เหมาะสมกับพนักงาน และผู้เกี่ยวข้องในแต่ละกลุ่ม รวมทั้งเปลี่ยนวิธีคิด ปรับโมเดลธุรกิจ เพื่อให้เข้าใกล้เป้าหมาย SDGs ปี 2030 ให้มากที่สุด UNGCNT กำลังพยายามขับเคลื่อนให้องค์กรสมาชิกและทุกภาคส่วนได้เรียนรู้ เติบโต และสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืนไปด้วยกัน" ดร.เนติธร กล่าวทิ้งท้าย