"Meta Verified" แหล่งรายได้ใหม่ ที่อาจทำให้บริษัทกลับมามีกำไรเติบโตอีกครั้ง
"Meta Verified" บริการจ่ายเงินแลกกับ "สัญลักษณ์ติ๊กถูกสีฟ้า" ของ Meta ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา เพราะอาจเข้ามาช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับ Meta ท่ามกลางศึกธุรกิจ Social Media
ในช่วงต้นอาทิตย์ที่ผ่านมา Meta ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Facebook ได้ออกมาพูดถึงการเปิดให้บริการ Meta Verified โดยจะมีการเก็บค่าสมาชิกรายเดือน แลกกับการที่จะได้รับสัญลักษณ์การยืนยันตัวตน ถือเป็นการป้องกันการถูกแอบอ้างชื่อจากบุคคลอื่น โดยผู้ใช้จะต้องยืนยันบัญชีผ่านบัตรประจำตัวประชาชน และจะได้รับสัญลักษณ์ "ติ๊กถูกสีฟ้า" พร้อมทั้งบริการพิเศษในการเข้าถึงการช่วยเหลือโดยตรง โดยภาพรวมจะเพิ่มความน่าเชื่อถือและมีความปลอดภัยในการใช้งานมากยิ่งขึ้น และยังเพิ่มโอกาสที่ผู้ใช้คนอื่นมองเห็นโพสต์ หรือความเคลื่อนไหวของบัญชีมากขึ้น
โดยค่าสมาชิกนั้นจะอยู่ที่ $11.99 ต่อเดือน และ $14.99 ต่อเดือน หากเลือกชำระเงินผ่านระบบ IOS และ Android และในช่วงแรกของการให้บริการนั้น จะเริ่มต้นรองรับกับผู้ใช้งานที่เป็นบุคคลก่อน ซึ่งจะต้องใช้ชื่อที่ตรงกับบัตรประชาชนเพื่อได้รับการยืนยันตัวตน ขณะเดียวกันรูปภาพที่ใช้โปรไฟล์จะเป็นภาพใบหน้าของตนเอง ผู้ใช้ต้องมีอายุมากกว่า 18 ปี จึงจะมีสิทธิ์สมัครใช้บริการ โดยจะมีการเริ่มใช้ในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ก่อนในสัปดาห์นี้ และจะขยายไปยังประเทศอื่นๆ ต่อไป
กลุ่ม Social Media อื่นๆ อาจเปิดให้บริการยืนยันตัวตนมากขึ้น
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าบริษัทเครือข่ายสังคมออนไลน์หลายรายได้กลับมาให้ความสำคัญกับระบบ Subscription มากขึ้น เพราะถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะใช้กระจายเครือข่ายของธุรกิจและเป็นอีกช่องทางที่สำคัญสำหรับการโฆษณา โดยหลายบริษัทใหญ่ๆ ได้มีการจูงใจผู้ใช้ด้วยการใช้ Account Verification ซึ่งเป็นจุดขายหลัก ก่อนหน้านี้ Twitter ได้เปิดบริการ "Twitter Blue" ราคา $11 ต่อเดือน เช่นเดียวกัน แต่ก็ถือว่ายังไม่ได้รับความนิยม นับตั้งแต่ Twitter เปิดบริการดังกล่าวในเดือน พ.ย. มีเพียง 180,000 ราย หรือ 0.2% ที่ยอมจ่ายค่าบริการ และ Snap ถือเป็น Social Media แรกๆ ที่เปิดบริการ "Snap Plus" ซึ่งจะทำให้ได้รับเครื่องหมายพิเศษ และเข้าถึง Snapchat web โดยมีค่าบริการที่ $3.99 ต่อเดือน
นักวิเคราะห์คาด "Meta Verified" มีผู้ใช้งานในช่วงแรก 12 ล้านราย เพิ่มรายได้ $1700 ล้าน
เชื่อว่าผู้ใช้งานบริการของ Meta จะเป็นกลุ่ม Influencers หรือ เพจ officials ดังนั้นในแง่ของผู้ใช้งานทั่วไปคงไม่ได้รับผลกระทบ ในขณะที่คาดการณ์รายได้ที่จะเพิ่มขึ้น Bank of America คาดว่าจะมีผู้ใช้งานสมัครบริการดังกล่าว 12 ล้านราย ภายในช่วงสิ้นปี 2023 - ต้นปี 2024 (Meta มีจำนวนผู้ใช้งาน Monthly Active Users ประมาณ 2,963 ล้านราย) คาดว่าจะเพิ่มรายได้ให้กับ Meta $1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มรายได้ต่อหุ้น (EPS) $0.32 คิดเป็น 3.7% ของ EPS ในปี 2022
รายได้ส่วนใหญ่ของ Meta มาจากการโฆษณาเป็นหลัก
รายได้ Meta ในช่วง 2021-2022 สูงสุดในไตรมาสที่ 4 ปี 2021
ที่มา : TradingView
สำหรับรายได้ของ Meta ส่วนใหญ่ มาจากรายได้จากการโฆษณา อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่มีรายได้ส่วนใหญ่ที่อิงกับโฆษณาก็อาจจะไม่ได้ดีสม่ำเสมอ เนื่องจากรายได้ในส่วนนี้จะอิงกับเศรษฐกิจในวงกว้าง ช่วงที่ผ่านมาธุรกิจ Meta ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ปริมาณการเข้าใช้งานลดลง หลังจากมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น และ เงินเฟ้อ ที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้นหากเพิ่มรายได้ที่มาจาก Subscription ได้มากขึ้นจะสามารถสร้างรายได้ที่สม่ำเสมออีกด้วย
จำนวนผู้ใช้งาน Social Media ในแต่ละ Platform
ที่มา : SeekingAlpha
การแข่งขันในธุรกิจ Social Media ยังคงสูง โดยจำนวนผู้ใช้งาน TikTok ในช่วงปี 2020 ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก แต่ในปี 2022 เริ่มทรงตัว และอาจมีความเสี่ยงการถูกแบนในสหรัฐ และในหลายประเทศจากประเด็นการเมือง ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อ Meta ที่เปิดให้บริการ Reels ที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน ในขณะที่ Snapchat มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นแต่ก็เริ่มชะลอตัวลง เชื่อว่าหลังจากนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของกลุ่ม Social Media โดยเฉพาะ Innovation ใหม่ๆ (โดย Meta ยังคงลงทุนในธุรกิจ Reality Labs) เพื่อนำไปสู่การใช้งานของผู้ใช้เพิ่มขึ้น (User engagement) ดังนั้นการเคลื่อนไหวของกลุ่ม Social Media ในปีนี้จะยังเป็นที่น่าจับตา โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญดอกเบี้ยในระดับสูง การใช้จ่ายมีโอกาสชะลอตัว และคงหลีกไม่ได้ที่จะกระทบกับรายได้จากค่าโฆษณา
ที่มา : Reuters, Bloomberg, investor.fb.com, Seeking Alpha, Times
ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และเว็บไซต์ tiscoasset หรือ แอปพลิเคชัน TISCO My Funds