รายได้ 4 บริษัทเทคโนโลยีจีนฟื้นตัว หลังจีนเปิดประเทศ
หลังจีนประกาศเปิดประเทศ ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจีนในภาพรวม แต่หลายบริษัทของจีน เริ่มมีการฟื้นตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว เห็นได้จากผลการดำเนินงาน 4 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น และคาดว่าจะเติบโตได้ดีในอนาคต
เศรษฐกิจจีน เริ่มมีแนวโน้มการฟื้นตัวขึ้นหลังจากการผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID และประกาศปลดล็อกประเทศอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2023 ที่ผ่านมา โดยจีนรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัว 4.5% (YoY) ในไตรมาส 1 ปี 2023 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดที่ 4% ซึ่งมีแรงหนุนจากภาคบริการและการบริโภคที่ฟื้นตัวได้ดี สะท้อนจากตัวเลข PMI ภาคบริการที่ออกมาอยู่ที่ระดับ 56.4 จุด เกินระดับ 50 จุด ด้านข้อมูลการออมภาคครัวเรือน (Household Saving) ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2023 ประชาชนจีนเริ่มทยอยนำเงินเก็บออมในช่วงการแพร่ระบาดโควิดออกมาใช้จ่ายมากขึ้น ดังนั้น ในไตรมาส 2 มีโอกาสที่การจับจ่ายภาคครัวเรือนจะยังมีโมเมนตัมดีต่อเนื่อง และเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจจีนให้ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง
สำหรับรายงานผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนจีนที่ทยอยประกาศออกมา รายได้มีแนวโน้มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป หากเทียบข้อมูล 4 บริษัทใหญ่รายได้เพิ่ม 4% (YoY) โดยพบว่า รายได้ที่เกี่ยวข้องในภาคบริการ เช่น JD.com ซึ่งมีรายได้จากธุรกิจขนส่งที่เติบโตขึ้นอย่างมากในไตรมาส 1 ปี 2023 นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจเกมเริ่มฟื้นตัวได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะบริษัท Tencent ที่มีรายได้ธุรกิจเกมกลับมาปรับตัวดีขึ้นจากการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และหลังจากที่รัฐบาลจีนอนุมัติเกมใหม่ๆ นับตั้งแต่ต้นปี 2023 และท้ายสุดเช่นเดียวกับบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนหลายบริษัทได้เร่งพัฒนา AI Chatbot ของตัวเอง หลังจาก Microsoft เปิดตัว AI อย่าง ChatGPT ออกมา โดยมองว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถที่จะเติบโตได้ดีในอนาคต
สรุปผลการดำเนินงาน 4 บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Billion Yuan)
ภาพแสดงผลการดำเนินงานของบริษัท Tencent, JD.com, Baidu และ Alibaba
JD.com รายได้ E-Commerce และธุรกิจขนส่งฟื้นตัวดี
JD.com หนึ่งในบริษัท E-commerce รายใหญ่ของจีน รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ที่ 243,000 ล้านหยวน เติบโต +1.4% (YoY) สูงกว่าที่คาดการณ์ หนุนจากรายได้ภาคบริการที่เติบโต +34.5% (YoY) โดยรายได้จากธุรกิจขนส่งคิดเป็น 60% ของธุรกิจภาคบริการ ซึ่งรายได้จากธุรกิจดังกล่าวเพิ่มขึ้นราว 60% ขณะที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ รายงานตัวเลขรายได้เฉลี่ยของผู้ให้บริการต่อลูกค้า (ARPU) และจำนวนลูกค้าที่เข้าใช้บริการต่อวัน (DAU) ยังคงเติบโต โดยตัวเลขสมาชิกของ JD PLUS เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 35 ล้านคน บริษัทฯ ประเมินธุรกิจ JD Retail จะขยายตัวดีขึ้นในไตรมาส 3 จากการขยายธุรกิจในเขตเมืองห่างไกล รวมถึงจะมุ่งเน้นไปยังสินค้าประเภทเครื่องใช้ในบ้านและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในร้านที่เป็น Flagship ของบริษัทเพิ่มเติม และเตรียมจับมือเป็นพันธมิตรกับแบรนด์หรูอย่าง Tiffany & Co.
Baidu รายได้ดีกว่าตลาดคาด รอรัฐบาลจีนอนุมัติ AI เพื่อใช้ในวงกว้าง
Baidu บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีน ประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาสล่าสุดออกมาดีกว่าที่คาด โดยรายได้อยู่ที่ 31,100 ล้านหยวน เติบโตขึ้น 10% (YoY) ด้านกำไรของบริษัทฯ อยู่ที่ 5,800 ล้านหยวน ฟื้นตัวขึ้นจากการขาดทุน 885 ล้านหยวน ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้หลักจากการโฆษณาฟื้นตัวชัดเจนภายหลังภาคธุรกิจกลับมาใช้บริการโฆษณา โดยเฉพาะในกลุ่มการท่องเที่ยวและสุขภาพ ภายหลังจีนเปิดประเทศ นอกจากนี้ Baidu ยังได้ทำการเปิดตัว Ernie Bot A.I. ที่จะเป็นคู่แข่ง ChatGPT ซึ่งในปัจจุบันได้เริ่มให้ลูกค้าที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมการเงิน ซอฟต์แวร์ และการศึกษา โดยยังอยู่ระหว่างรอรัฐบาลจีนอนุมัติให้ใช้ในวงกว้างในอนาคต
Tencent ธุรกิจเกมและรายได้โฆษณาฟื้นตัว มุ่งพัฒนา AI
Tencent เปิดเผยรายได้ไตรมาสแรกเติบโต +11% (YoY) ซึ่งนับเป็นการเติบโตที่มากที่สุดในรอบ 1 ปี โดยรายได้อยู่ที่ประมาณ 149,900 ล้านหยวน มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดที่ 146,290 ล้านหยวน ขณะที่กำไรอยู่ที่ 25,800 ล้านหยวน เติบโตมากถึง +10% (YoY) โดยรายได้จากธุรกิจเกมเติบโต +9% (YoY) อยู่ที่ 35,100 ล้านหยวน ซึ่ง Tencent ระบุว่า ธุรกิจเกมของบริษัทฯ ได้รับประโยชน์จากการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง หลังจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิดในจีนที่เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว โดยเกมยอดนิยมอย่าง Honor of Kings มียอดขายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสที่ผ่านมา ด้านธุรกิจเกมในต่างประเทศก็ยังคงขยายตัวได้ โดยเกม Valorant มีรายรับรวมเพิ่มขึ้นถึง +30% ขณะที่เกม PUBG Mobile ก็มีจำนวนผู้ใช้งานรายวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ Tencent ยังเปิดเผยด้วยว่า บริษัทฯ กำลังมุ่งพัฒนาธุรกิจ AI อยู่ และมองว่าน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้บริษัทเติบโตได้ดีในอนาคต
Alibaba รายได้ E-Commerce และ Cloud น้อยกว่าตลาดคาด เตรียม IPO บริษัทลูก
Alibaba บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่จากจีน รายงานประกอบการไตรมาส 1 รายได้แตะระดับ 208,200 ล้านหยวน เติบโต +2% น้อยกว่าที่ตลาดคาดที่ 210,200 ล้านหยวน มีส่วนจากยอดขายแพลตฟอร์ม Taobao และ Tmall ที่เติบโตชะลอลง ขณะที่รายได้จากธุรกิจ Cloud อยู่ที่ 24,600 ล้านหยวน ลดลง -3% เป็นผลมาจากการส่งมอบ Hybrid Cloud Project ให้กับลูกค้ารายใหญ่ที่ล่าช้า จากสถานการณ์ Covid-19 เมื่อเดือน ม.ค. ด้านกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 1.34 หยวน เพิ่มขึ้น 35% น้อยกว่าคาดที่ 2.08 หยวน ทางบริษัทฯ ระบุว่าเริ่มเห็นสัญญาณการเติบโตของการบริโภคภายในประเทศในช่วงเดือน มี.ค. ซึ่งคาดว่า Alibaba จะได้รับประโยชน์ในไตรมาสถัดไป
ทั้งนี้ บริษัทฯ ประกาศแผนที่จะแยกธุรกิจ Cloud ออกมาจัดตั้งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงอาจระดมทุนสำหรับธุรกิจ Digital Commerce ที่อยู่นอกประเทศจีนอย่าง Lazada และ AliExpress และธุรกิจขนส่งอย่าง Cainiao Smart อีกทั้ง Alibaba กำลังเร่งพัฒนา Chat Bot ที่ใกล้เคียงกับ ChatGPT เรียกว่า Tongyi Qianwen ซึ่งขณะนี้ได้เปิดให้พนักงานกว่า 2,000 คน ทดลองใช้
แม้ผลดำเนินงานบริษัทขนาดใหญ่เริ่มเห็นการฟื้นตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว แต่หลังจากนี้ยังคงต้องจับตาโมเมนตัม ผลดำเนินงานจะยังเติบโตต่อเนื่องได้หรือไม่ ขณะที่ในช่วงที่เหลือของปีเชื่อว่ารัฐบาลจีนจะยังคงเน้นนโยบายผ่อนคลาย เพื่อบรรลุเป้าหมาย GDP ที่ 5% โดยคาดว่าจะเน้นกระตุ้นการบริโภค ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน และการผ่อนคลายการควบคุมกฎระเบียบในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และสนับสนุนกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่เงินเฟ้อจีนที่อยู่ในระดับที่ต่ำ เปิดโอกาสให้ธนาคารกลางสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลดดอกเบี้ย หรือการปรับลด Reserve Requirement Ratio (RRR) ลงได้อีก
Sources : Reuters, CNBC, Bloomberg, Financial Times
ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และ tiscoasset หรือ แอปพลิเคชัน TISCO My Funds