'ทีทีบี' ผสานธุรกิจ ยึดหลัก B+ESG เมื่อธุรกิจและความยั่งยืนแยกจากกันไม่ได้
"ทีเอ็มบีธนชาต" หรือ "ทีทีบี" เดินหน้าผสานธุรกิจ ตามกรอบ B+ESG หนุนลูกค้า คู่ค้า พันธมิตร และสังคม สู่การเติบโตที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน
บทบาทของ "ธนาคาร" ต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจประเทศ นอกจากเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินแล้ว การสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถดำเนินชีวิตหรือธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ควบคู่ไปกับการดูแลบรรษัทภิบาลที่ดี เป็นอีกหนึ่งภารกิจของธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่นับวันจะส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้น ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้ทั่วโลกผนึกกำลังร่วมกันหาสมดุล เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน โดยมี ESG คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment Social Governance) เป็นตัวขับเคลื่อน นำมาสู่กติกาใหม่ของโลกในหลายด้าน
สำหรับ "ทีทีบี" เอง ได้วางเส้นทางสู่ "การธนาคารเพื่อความยั่งยืน" (Sustainable Banking) ตามกรอบ B+ESG ที่ผสานธุรกิจและความยั่งยืนเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ทุกกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินธุรกิจของธนาคารฯ จึงอยู่บนพื้นฐานของการสร้างการเติบโตและความยั่งยืนให้กับทุก Stakeholders ซึ่งนอกจากทีทีบีแล้ว ยัง empower ให้ลูกค้า คู่ค้า พันธมิตร ของทีทีบี มาผนึกกำลังร่วมกันเพื่อให้ประเทศไทยยั่งยืนขึ้น พร้อมยกกรณีตัวอย่างลูกค้าธุรกิจ "บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป" ซึ่งมีวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และการปรับตัวเพื่อก้าวสู่ความเป็น Blue Finance
ศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ESG คือวิธีการบริหารธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีมานานแล้ว โดยในอดีตอยู่ในรูปแบบของการขอความร่วมมือ แต่ปัจจุบันเริ่มมีไม้แข็งจากกฎเกณฑ์ต่างๆ มาบังคับใช้ เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ซึ่งคาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2567 ขณะที่ประเทศไทยก็มีการออกมาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย (Thailand Taxonomy) โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ทำให้กระแส ESG ปรับตัวเร็วขึ้น
"วันนี้เรื่องของ ESG ได้ขยายวงกว้างออกไป ลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจ และพนักงานก็ได้ให้ความสำคัญอย่างสูงเช่นกัน ตัวอย่างในสหรัฐ ได้ทำการสำรวจพบว่า มีลูกค้ามากถึง 60% ยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพนักงานมากกว่า 80% รู้สึกภูมิใจและอยากทำงานกับบริษัทที่มีจุดยืนด้าน ESG สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า คนในสังคมเริ่มตื่นรู้และตระหนักว่าถ้าไม่เริ่มเปลี่ยนแปลง ไม่เปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงสังคมจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายจะวกกลับมากระทบกับธุรกิจ"
ศรัณย์ กล่าวต่อว่า แม้ธุรกิจธนาคารจะเป็นธุรกิจที่สร้างก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างน้อย แต่ในฐานะผู้ปล่อยกู้ให้กับทุกอุตสาหกรรม หน้าที่ของ "ทีทีบี" คือ การสนับสนุน (Empower) ให้ผู้ประกอบการเติบโตได้อย่างยั่งยืน ผ่าน 2 เรื่องหลัก ได้แก่
- สร้างความตื่นรู้ โดยการให้คำปรึกษาและเพิ่มองค์ความรู้เชิงลึกต่อการทำธุรกิจในวิถีนี้ อาทิ โครงการ finbiz by ttb ศูนย์กลางความรู้ในทุกแพลตฟอร์ม หลักสูตร LEAN for Sustainable Growth by ttb ให้องค์ความรู้ผ่านการจัดอบรมมาตลอดกว่า 10 ปี
- สร้างแรงจูงใจและสนับสนุนโครงการที่มุ่งเน้นในเรื่อง ESG เช่น การปล่อยสินเชื่ออาคารสีเขียวที่ได้รับการรับรองว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง โครงการสนับสนุนให้ลูกค้าเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น โดยทีทีบีเชื่อว่าการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบผ่านโครงการดีๆ จะสร้างผลกระทบที่ดีให้กับสังคมได้ สุดท้ายก็จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเติบโตอย่างยั่งยืน
จากมุมมองผู้ให้บริการภาคการเงินแล้ว ในมุมมองผู้ประกอบธุรกิจ ได้เล่าถึงความเห็นต่อเรื่องการขับเคลื่อนธุรกิจในโหมดความยั่งยืนไว้อย่างน่าสนใจ
ยงยุทธ เสฎฐวิวรรธน์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการบริหารการเงินกลุ่มและศูนย์บริการร่วมทางการเงิน บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป เล่าว่า ภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน หรือ SeaChange® โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ ความยั่งยืนของท้องทะเล เพราะถ้าไม่มีทะเลก็ไม่มีธุรกิจ ดังนั้น การดูแลทะเลเท่ากับการดูแลธุรกิจและดูแลผู้คน เพราะอาหารทะเลเป็นแหล่งโปรตีนที่ถูก มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย จากกลยุทธ์นี้ ช่วงปี 2559-2563 บริษัทฯ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 28%
"ภายใต้กลยุทธ์ SeaChange® ที่ประกาศเมื่อปี 2559 ครอบคลุมการดูแลแรงงาน รวมไปถึง Responsibility Sourcing การจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงกฎเกณฑ์การทำประมงให้ถูกหลักเกณฑ์ของเวทีโลก และ Responsibility Operation การดำเนินงานต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม"
ยงยุทธ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังดูแลในเรื่อง People and Communities การตอบแทนสังคม ซึ่งปัจจุบัน ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กำลังจะประกาศกลยุทธ์และเป้าหมายไปจนถึงปี 2573 หรือ SeaChange®2030 เพิ่มความกว้างและลึกขึ้นในทุกมิติครอบคลุมทั้งซัพพลายเชน ซึ่งไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ต้องการสร้างมาตรฐานให้อุตสาหกรรม เพื่อกำหนดเป็นเป้าหมายเดียวกัน จนสามารถก้าวสู่ความเป็น Blue Finance หรือการเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืน
"ESG ไม่ใช่กระแส แต่เป็นของจริงที่ทุกคนต้องเจอแน่ๆ ผมขอแนะนำว่าควรเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกัน และนับเป็นเรื่องดีที่ ทีทีบี มีโปรแกรมสนับสนุนเรื่องความยั่งยืน ซึ่งการ Empower เป็นสิ่งสำคัญที่สุด"
การมีหลักยึดที่ชัดเจนอย่าง "ESG" จะทำให้ธุรกิจไม่เพียงบรรลุเป้าหมาย แต่ยังเข้าถึงความยั่งยืนได้อีกด้วย ซึ่งธนาคารที่มีสายตาและวิสัยทัศน์เดียวกันจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะส่งให้ทุกคนในสังคม ธุรกิจ รวมถึงสิ่งแวดล้อมเติบโตได้อย่างยั่งยืนร่วมกัน