ส่งต่อธุรกิจครอบครัว เดินหน้าเติบโตจากรุ่นสู่ภูมิภาค
ธุรกิจครอบครัวมีบทบาทสำคัญกับเศรษฐกิจไทยอย่างไร แล้วอะไรที่จะช่วยสร้างความต่อเนื่องในการส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นให้มีความราบรื่น หาคำตอบได้จากบทความนี้
ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โจทย์ทางธุรกิจก็ไม่เคยมีวันเหมือนเดิม แม้จะเป็นธุรกิจที่อยู่มายาวนาน สืบต่อรุ่นสู่รุ่นอย่าง ธุรกิจครอบครัว ก็ถูกท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา ส่งผลต่อมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างคนรุ่นใหม่และคนรุ่นก่อนๆ ในประเทศไทยทุกวันนี้ธุรกิจครอบครัวที่เห็นกันส่วนใหญ่ส่งต่อมาสู่เจนเนอเรชันที่ 3 แล้ว ทายาททางธุรกิจล้วนเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 30-40 ปี มีความมุ่งมั่นที่ต้องการผลักดันให้ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดและเติบโตไปข้างหน้าได้ แต่แรงกดดันหนึ่งที่ทายาทรุ่น 3 ต้องเผชิญคือ การพิสูจน์ความสามารถให้คนรุ่นก่อนยอมรับว่าจะนำพาธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้จริง ขณะเดียวกันยังถูกจับจ้องจากรอบด้านว่าฝีมือจะถึงหรือเก่งสู้รุ่นปู่รุ่นพ่อได้หรือไม่
รุ่นใหม่มองหาโอกาสในการขยายตลาด
ทายาทรุ่นใหม่ไฟแรงมักจะสนใจแนวทางการบริหารงานใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพ พยายามปฏิวัติองค์กรและทีมงานที่ส่วนใหญ่เป็นคนเก่าคนแก่ให้สามารถทำงานร่วมกันไปสู่เป้าหมายสร้างความเป็นเลิศให้ธุรกิจ ทางด้านของการเติบโตทายาทรุ่นใหม่ยังมีมุมมองการขยายธุรกิจที่กว้างมากขึ้น นอกจากการขยายการเติบโตในประเทศแล้วยังมีความมุ่งมั่นที่จะนำพาธุรกิจออกไปต่างประเทศด้วย
ในรายงาน UOB Business Outlook Study 2023 ของ ธนาคารยูโอบี พบว่า ธุรกิจไทยมีความสนใจในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศเพื่อต่อยอดการเติบโต โดยพบ 9 ใน 10 ของธุรกิจให้มองหาโอกาสขยายธุรกิจไปต่างประเทศ เพื่อออกไปเพิ่มรายได้ แสวงหากำไร และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร ซึ่งเป้าหมายปลายทางที่ธุรกิจไทยต้องการขยายตลาดไปมากที่สุด ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย รวมถึงจีน และนอกจากนี้ยังพบว่ากว่า 1 ใน 3 สนใจจะขยายธุรกิจไปนอกภูมิภาคเอเชีย
โดยเฉพาะ "อาเซียน" ภูมิภาคที่มีศักยภาพในการเติบโตและน่าลงทุนสูง ด้วยปริมาณธุรกรรมการค้าขายระหว่างกันสูงถึง 6.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 23.2 ล้านล้านบาท มีการค้าขายระหว่างจีนอีกราว 6.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงมีจำนวนประชากรที่สูง 650 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานรุ่นใหม่ ที่ค่าแรงยังไม่สูงนักเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ธุรกิจกว่า 90% ในอาเซียนเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งโครงสร้างพื้นฐาน ตลาดแรงงานที่ยังเติบโต จึงเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ
การออกไปลงทุนต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย
อย่างไรก็ดี การพาธุรกิจไปต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย และมีอุปสรรคที่ต้องเผชิญ ธุรกิจที่ต้องการขยายการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องมีพันธมิตรทางธุรกิจที่ดี มีผู้ชำนาญการคอยให้คำปรึกษาในการลงทุน การขยายตลาด หรือปัญหาอุปสรรคทางด้านกรอบกติกาหรือกฎหมายแตกต่างกันในแต่ละประเทศที่ต้องการไปลงทุน
นายตัน ชุน ฮิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวในตอนหนึ่งของงานเปิดตัวโครงการ Business Circle อย่างเป็นทางการในไทยว่า แค่เริ่มต้นธุรกิจก็ยากแล้ว การทำให้ธุรกิจเติบโตนั้นยากกว่า เพราะ ธนาคารยูโอบี ก็เติบโตมาจาก ธุรกิจครอบครัว ปัจจุบันบริหารด้วยผู้บริหารรุ่นที่ 3 จึงเข้าใจถึงความมุ่งมั่นของทายาทรุ่นใหม่ที่เข้ามารับช่วงต่อทางธุรกิจ ขณะเดียวกันการเป็นแบงก์ใหญ่ในระดับภูมิภาค มี FDI Advisory กว่า 500 แห่งทั่วโลก ทำให้มีความรู้มากพอที่จะช่วยผู้ประกอบการ ดูแลทั้งเรื่องกฎหมาย ภาษีของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันได้
สำหรับโครงการ Business Circle เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2562 ที่สิงคโปร์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการขับเคลื่อนองค์กรให้แก่ทายาทธุรกิจครอบครัว เชื่อมต่อทายาทธุรกิจรุ่นใหม่ภายในภูมิภาคอาเซียนไปสู่การสร้างเครือข่ายและขยายโอกาสทางธุรกิจ ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยความชำนาญการของธนาคารในฐานะธนาคารระดับภูมิภาคที่มีรากฐานที่หยั่งลึกในไทยมาสนับสนุนธุรกิจครอบครัวที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 57% เป็นธุรกิจครอบครัว และกลุ่มนี้ยังมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมถึง 43% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมทั้งหมด
"เราเชื่อว่าโครงการ Business Circle จะเข้ามาช่วยทายาทธุรกิจรุ่นที่ 3 ในการเชื่อมโยงธุรกิจสู่โอกาสใหม่ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ผ่านเครือข่ายสาขากว่า 500 แห่งทั่วโลก ด้วย 3 ธีมหลัก ได้แก่ การเชื่อมโยง (Connectivity) การปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digitalisation) และความยั่งยืน (Sustainability)"
ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ Business Circle จะได้รับโอกาสร่วมงานสัมมนาแบบเอกซ์คลูซิฟเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการบริหารธุรกิจ และกิจกรรมเวิร์กช็อปที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ปัญหาและอุปสรรคที่ธุรกิจต้องเผชิญ ได้เรียนรู้ข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรม ทักษะในการบริหารองค์กร กลยุทธ์ในการพัฒนาองค์กรการปรับใช้เทคโนโลยีกับธุรกิจ และแนวคิดในการดำเนินธุรกิจจากผู้บริหารและผู้ประกอบการชั้นนำที่ประสบความสำเร็จ รวมถึงการเดินทางไปดูงานทั้งในไทยและต่างประเทศเพื่อเปิดโอกาสในการขยายธุรกิจและสร้างความสัมพันธ์กับผู้นำองค์กรที่หลากหลายสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจในอนาคต
ปัจจุบัน Business Circle มีสมาชิกที่เป็นนักธุรกิจและทายาทธุรกิจรุ่นใหม่เข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 คน ในทุกประเทศที่ธนาคารยูโอบี ดำเนินธุรกิจ ส่วนไทยในขณะนี้ มีสมาชิกอยู่แล้ว 65 ราย และตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนเป็น 200 ราย ภายใน 3 ปี ซึ่งที่ผ่านมาโครงการ Business Circle ในไทยมีกิจกรรมเครือข่ายบ้างแล้ว เช่น ได้นำสมาชิกไปดูงานในต่างประเทศ ทำให้เกิดการลงทุนในกิจการสตาร์ทอัพใหม่ๆ รวมถึงการจับคู่ธุรกิจสิงคโปร์กับธุรกิจการเกษตรของไทยไปตั้งโรงงานในอินโดนีเซีย จะเห็นว่าเกิดโอกาสใหม่ๆ มาจากโครงการสร้างเครือข่ายธุรกิจนี้ ซึ่งเห็นผลได้อย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างเน็ตเวิร์กทางธุรกิจที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ ธุรกิจครอบครัว ต่อยอดความสำเร็จได้ ธนาคารยูโอบี พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นอย่างมั่นคง