คุยกับ 'ศุภอรรถ ตปนียากร' มองมุมต่างเรื่อง 'ภาษีหุ้นนอก'
ชวนคุยกับ "ศุภอรรถ ตปนียากร" ที่จะพาเปิดมุมมอง ชวนคิดต่าง ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากประเด็น "ภาษีหุ้นนอก" ที่รัฐเตรียมลุยเก็บต้นปี 2567
ประเด็น Talk of The Town ในตอนนี้ คงหนีไม่พ้น "ภาษีหุ้นนอก" หรือภาษีจากรายได้ที่ได้จากต่างประเทศ ที่ภาครัฐโยนหินถามทางมาตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะดีเดย์เริ่มเก็บจริงในวันที่ 1 มกราคม 2567
"กรุงเทพธุรกิจ" มีโอกาสพูดคุยกับ "ศุภอรรถ ตปนียากร" รายใหญ่หุ้นนอก ผู้ลงทุนในประเทศนอกกระแสอย่าง สวีเดน นอร์เวย์ คาซัคสถาน กรีซ ฯลฯ ถึงมุมมองและเสียงของผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง
ทำไมเราต้องไปลงทุนหุ้นต่างประเทศ ไม่ลงทุนเฉพาะหุ้นไทย
ศุภอรรถ อธิบายว่า มี 3 ประเด็นด้วยกัน ดังนี้
- ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสน้อย เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทยประมาณ 1,430 จุด วันนี้ประมาณ 1,450 จุด 10 ปีหุ้นไทยไม่ไปไหนเลย ซึ่งสวนทางกับข่าว เหมือนรายใหญ่รวยจากหุ้นไทยเยอะ แต่อย่าลืมว่านักลงทุนมีเกินสองล้านบัญชี ตลาดไม่ได้ดีสำหรับทุกคน การที่ตลาดไม่ไปไหนมันกระทบรายย่อยนับล้าน กระทบกองทุนออมหุ้น หมายถึงเงินออมของพนักงานบริษัทเป็นสิบล้านคน และเมื่อมองไปข้างหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยโต โอกาสหุ้นไทยก็ไม่มาก
- เราต้องกระจายความเสี่ยง เศรษฐกิจและการเมืองยุคนี้เปลี่ยนเร็ว แต่ละปีอย่างน้อย 5-10 ประเทศจาก 200 ประเทศ ประสบวิกฤติในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง มีทรัพย์สินไว้ประเทศเดียวสกุลเดียว ซึ่งเสี่ยงมาก ขนาดไทยเสี่ยงน้อยตอนปี 40 เรายังเคยตื่นมาพร้อมกับหนี้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ในข้ามคืน
- โอกาสดีมีทั่วโลก ตัวอย่างตลาดหุ้นสหรัฐ หากเราลงทุนด้วยเงิน 1 ล้านบาท เมื่อ 10 ปีที่แล้ว วันนี้จะโตเป็น 3 ล้าน นี่คือผลตอบแทนระดับค่าเฉลี่ยของคนธรรมดา นักลงทุนฝีมือดีอาจกำไร 5-10 เท่า การไปลงทุนในตลาดที่มีกิจการเติบโตเปลี่ยนชีวิตเราได้
ทำไมการเก็บ "ภาษีหุ้นนอก" จึงกลายเป็น Talk of The Town
ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา การลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเยอะ โบรกเกอร์ชวน สื่อโน้มน้าว รัฐสนับสนุน อย่าง 2 ปีก่อนบาทแข็ง ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ออกนโยบายสนับสนุนให้ไปลงทุนตรงในต่างประเทศ เดิมรายได้บุคคลจากต่างประเทศจะรับจ้างหรือกำไรหุ้น หากเข้ามาข้ามปีจะไม่เสียภาษี ทำให้กำไรหุ้นนอกเหมือนหุ้นไทยที่ไม่เสียภาษี แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน เกิดส่วนต่างภาษีระหว่างหุ้นไทยและหุ้นนอกมาก
"ผู้เล่นในตลาดก็ตั้งคำถามสะท้อนกลับไปยังสื่อ โบรกเกอร์ ภาครัฐ หากเก็บในอัตราที่สูงขนาดนี้ จะสนับสนุนออกไปลงทุนข้างนอกทำไมตั้งแต่ต้น"
เห็นด้วยหรือไม่กับการเปลี่ยนนโยบายภาษี
ในภาพรวม "ศุภอรรถ" บอกว่า เห็นด้วย เพราะภาษีที่มาจากแหล่งเงินต่างประเทศ เคยมีช่องจากการนำรายได้เข้ามาข้ามปี รัฐมาปิดช่องถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องออกรายละเอียดเพิ่มเรื่องที่มาของรายได้ และอัตราการเก็บที่เหมาะสมกับประเภทภาษีแต่ละประเภท
"สมมติเราไปรับจ้าง ซึ่งในประเทศเรา หากเป็นพนักงานเงินเดือนก็ต้องเสียภาษีอัตราก้าวหน้า ถ้าเราไปรับจ้างนอกประเทศแล้วให้มารวม มันก็แฟร์ คุณจะรับรายได้จากการจ้างงานจากที่ไหนก็เก็บรวมกัน แต่ภาษีกำไรขายหุ้น โดยหุ้นในประเทศไม่เสีย พอไปลงหุ้นนอกเสียที่อัตราก้าวหน้า เสมือนลงหุ้นนอกภาษี 35% หุ้นไทย 0% ส่วนต่างสูงไป"
เราควรเก็บภาษีการขายหุ้นหรือไม่
ศุภอรรถ มองว่า "ทำได้" แต่จะมีคำถามที่ตามมา 2 ข้อ ดังนี้
1. เราควรเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้นหรือไม่ ไม่ว่าจากหุ้นไทย หรือ หุ้นนอก ทฤษฎีแรก บอกว่าไม่ควรเก็บ หุ้นคือการเป็นเจ้าของกิจการซึ่งเสียภาษีนิติบุคคลอยู่แล้ว การเก็บเพิ่มจึงซ้ำซ้อน ผลกระทบที่ตามมา เช่น หุ้นลงกระทบเงินออม ระบบเศรษฐกิจมีต้นทุนการระดมทุนสูงขึ้น อาจไม่คุ้มกับภาษีที่ได้ อีกทฤษฎีมองว่า ควรเก็บภาษีจากกำไรในการขายหุ้น เพราะเป็นภาษีที่เกิดจากการขายทรัพย์สิน เหมือนเวลาเราไปขายนาฬิกา งานศิลปะ และคนที่มีเงินลงทุนน่าจะมีฐานะ หากเก็บก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ
"เรื่องนี้ไม่มีถูกผิด ขึ้นอยู่กับผู้กำหนดนโยบายหุ้นไทย รัฐเชื่อว่าควรยกเว้น และยกเว้นมาตลอด"
2. หากบอกว่าจะไม่เก็บภาษีหุ้นไทย แล้วจะเก็บของหุ้นนอกไหม คนจะได้เลิกลงหุ้นนอกแล้วมาลงแต่หุ้นไทย หุ้นไทยจะได้ขึ้นเสียที คงได้ไม่คุ้มเสีย ถ้าขึ้นมาเกินพื้นฐาน นักลงทุนต่างประเทศที่ถือหุ้นไทยก็ขายใส่เราอยู่ดี ถ้าเลือกจะเก็บภาษีจากหุ้นนอก แม้ไม่เก็บหุ้นไทย ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ส่วนต่างระหว่างสองตลาด ตลาดที่ 35% ก็ยังคิดว่าสูงไป อาจลองพิจารณาอย่าง 5-15% ซึ่งเป็นอัตราที่ทั่วโลกนิยม
คิดเห็นอย่างไร เมื่อหลายคนมองว่า นี่คือ "อวสานของการลงทุนหุ้นนอก"
การเก็บ ภาษีหุ้นนอก ส่งผลต่อรายใหญ่น้อย เมื่อมีการเก็บภาษีนักลงทุนกลุ่มนี้จะลงทุนต่อไปเรื่อยๆ ไม่นำกำไรกลับมาเสียภาษี ไม่นำกำไรกลับมาจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ส่วนรายย่อย หากต้องการลงทุนก็ยังทำได้ผ่านกองทุนรวม แต่เจอค่าธรรมเนียม ทำให้ผลตอบแทนอาจจะน้อยกว่าตลาดที่กองไปลง
"นโยบายนี้มันเป็นอวสานของอะไร มันเป็นอวสานของคนไทยที่ลงทุนเก่งๆ แต่พอร์ตอาจจะยังไม่ใหญ่พอที่จะเอาเงินออกไปลงยาว กลุ่มนี้แทนที่จะมีโอกาสไปหากินทั่วโลก ถ้ามีนโยบายนี้ก็คงต้องเลิก กลับมาลงหุ้นไทยอย่างเดียว"
ในฐานะผู้ที่ได้รับผลกระทบ มีอะไรที่คิดว่าภาครัฐอาจมองข้ามไป
เรื่องที่ต้องคำนึงคือ เรากำลัง "ดับฝัน" คนหนุ่มสาวจำนวนมากที่หวังจะเปลี่ยนชีวิตจากการลงทุนหรือไม่ การลงทุนเป็นหนึ่งในไม่กี่อาชีพที่สามารถเปลี่ยนฐานะของคนจำนวนมาก รายใหญ่วันนี้เกินครึ่งมาจากคนที่ไม่ได้ร่ำรวย
"นักลงทุนที่ลงทุนเอง เพราะเชื่อว่าลงทุนชนะกองทุนรวม ชนะตลาด การปิดการลงทุนหุ้นนอกโดยตรงก็คือการดับฝันคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ให้เลือกแค่ลงกองทุนหรือลงทุนได้แค่ตลาดไทยที่ไม่ค่อยโต โอกาสจะมีรายใหญ่ใหม่ๆ จะลดลงมาก อาชีพที่สามารถเปลี่ยนฐานะคนจำนวนมากจะหายไปอีกหนึ่งอาชีพ หลายคนบอกว่านโยบายนี้ดับฝันเขา รัฐอาจจะต้องคิดเหมือนกันถึงต้นทุนการดับฝันของคน ภายใต้การเมืองและเศรษฐกิจปัจจุบัน"
ศุภอรรถ บอกต่อไปว่า แทนที่จะปิดกั้น รัฐควรให้การสนับสนุนให้คนไทยไปลงนอกประเทศเยอะๆ ให้เอาองค์ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจทั่วโลกมาปรับใช้ในประเทศ ให้ได้มีธุรกิจใหม่ๆ ตลาดทุนไปได้ง่าย สามารถไปได้ก่อน สถานทูตสามารถช่วยนัดให้นักลงทุน นักธุรกิจได้เจอบริษัทจดทะเบียนดีๆ ในแต่ละประเทศ บริษัทเหล่านี้มีแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ ไปกันกลุ่มใหญ่นัดง่าย และโดยมากมักได้คุยกับผู้บริหารระดับสูง ทำให้ได้คอนเนกชันทางธุรกิจด้วย
"อย่างผมไปลงทุนหุ้น ไป Visit เขาหลายครั้งจนสนิทกัน บางทีได้ธุรกิจมาต่อยอด เรื่อง หุ้นนอก ควรทำตรงกันข้าม ควรสนับสนุนให้คนออกไปลงทุนทั่วโลกเยอะๆ ไปเรียนรู้ธุรกิจใหม่ๆ หาคอนเนกชัน ไปในนามนักลงทุนใครๆ ก็อยากคุย"
ดังนั้น ควรสนับสนุนให้คนไทยไปหากินทั่วโลก ไปเก่งในตลาดโลก คนไทยค้าขายเก่ง ส่งออกสินค้า รับนักท่องเที่ยวทำได้ดี ส่วนการลงทุนหุ้นไปทั่วโลกยังน้อย รัฐควรสนับสนุน อย่าไปปิดกั้น จะเสียโอกาส
การเปลี่ยนนโยบายแบบกะทันหัน ทำให้หลายภาคส่วนมีปัญหา
มองจากมุมรัฐ การเปลี่ยนแปลงเหมือนไม่กะทันหันคือ เกณฑ์การเก็บ ภาษีหุ้นนอก แต่เดิมก็มี แต่มีช่องให้นำเงินข้ามปีภาษีได้ ตอนนี้แค่ปรับรายละเอียดให้รัดกุมขึ้น แต่ในมุมประชาชนที่เดือดร้อนก็ไม่ได้ผิด เพราะเดิมตั้งใจนำเงินข้ามปีภาษีตามเกณฑ์ ทำให้หุ้นไทยและหุ้นนอกไม่มีภาษีเหมือนกัน ประชาชนรู้สึกว่าแบบนี้ยุติธรรม แต่เมื่อปรับเกณฑ์ใหม่เป็นการปรับนโยบายที่ในทางปฎิบัติจะมีผลเสียย้อนหลังกับเขาด้วย ซึ่งปกติไม่ทำกัน สำหรับเขามันคือการเปลี่ยนที่กะทันหัน ถือว่ามองจากคนละมุม
หลายคนบอกเหมือน "ความเสี่ยงด้านนโยบาย" (Regulatory Risk) ในประเทศสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงจากไม่มีภาษี กลายเป็นเก็บภาษีหนักหน่วงและฉับพลัน ไม่ค่อยเห็นในเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีที่นโยบายรัฐจะนิ่งหรือคาดเดาได้ ทำให้คนกล้าค้า กล้าลงทุน อย่างภาษีที่ดินหรือภาษีมรดกก็มีการสื่อสารก่อนพอสมควร มีขั้นมีตอนของการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้ทำปุบปับทันที
เพื่อให้เห็นภาพ สมมติกองทุนส่วนบุคคลรายหนึ่งมีหุ้นนอก 1,000 ล้านบาท ลงทุนยาวมานาน แบ่งเป็นทุน 500 ล้านบาท กำไร 500 ล้านบาท เมื่อนโยบายดังกล่าวออกมาผ่านข้ามวันภาษี จากมีภาษี 0 บาท จะมีภาษี 175 ล้านบาททันที
"พอคนฟังอาจรู้สึกดี คนรวยโดนซะบ้าง แต่ผมกำลังจะบอกว่า แบบนี้แสดงถึงเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงเรื่องนโยบายสูง ในเศรษฐกิจแบบตลาด รัฐจะไม่ดึงทรัพยากรจากเอกชนที่ทำมาหากินอย่างสุจริตในข้ามคืน เมื่อนโยบายรัฐเปลี่ยนได้ข้ามคืน คำถามคือ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันในอุตสาหกรรมอื่นอีก เศรษฐกิจเสรีจะไม่มีว่า วันนี้รัฐบอกจะไม่สนับสนุนอุตสาหกรรมใดแล้ว รุ่งขึ้นไปยึดทรัพยากรเอกชนมาเป็นของรัฐ ทำแบบนี้ระยะยาวจะทำให้คนไม่อยากลงทุน ทั้งในตลาดทุน และในภาคเศรษฐกิจจริง"
หากรัฐไม่สนับสนุนให้ลงทุนตรงในหุ้นนอกแล้ว อาจให้เวลาประชาชนขายหุ้นนอกและนำเงินกลับมาภายใต้เงื่อนไขเดิมก่อน เหมือนตอนที่ได้ขออนุมัติ ธปท. ออกไป หากมีนโยบายภาษีใหม่ ก็ให้ประชาชนเลือกเองภายใต้เงื่อนไขใหม่ว่า อยากจะลงทุนต่อไหม แบบนี้ก็จะตัดประเด็นเรื่องความเสี่ยงเชิงระบบเกี่ยวกับนโยบายรัฐได้