Support Services in LGBTQ+ : การให้บริการสุขภาพที่เท่าเทียม - ให้ความสำคัญกับผู้ใช้ทุกกลุ่ม
"BDMS ACADEMIC ANNUAL MEETING 2024" งานประชุมวิชาการประจำปี 2567 มุ่งพัฒนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการ ภายใต้แนวคิด "A ROAD TO LIFELONG WELL-BEING : EP.2 UNLOCK THE HEALTHY LONGEVITY" วันที่ 19 - 22 พ.ย. 67 ณ BDMS Connect Center
งานประชุมวิชาการประจำปี 2567 "BDMS ACADEMIC ANNUAL MEETING 2024" จัดโดย บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ที่จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้มีหัวข้อที่น่าสนใจ โดยเฉพาะด้านการให้บริการสุขภาพที่เท่าเทียม และเป็นมิตรกับทุกกลุ่ม LGBTQ+ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันการดูแลสุขภาพไม่ใช่เพียงแค่การให้บริการเท่าเทียมกับทุกคน แต่ยังต้องมีความเข้าใจและพร้อมโอบรับความหลากหลายทางเพศในสังคมอย่างเต็มที่ ซึ่งการดูแลที่ดีที่สุดคือ การมีความสามารถในการดูแลสุขภาพแบบครอบคลุม (Inclusive Healthcare) เพื่อให้บริการแก่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้อย่างเหมาะสม และมีความสุขในการเข้ารับบริการโรงพยาบาล
การให้บริการที่เข้าใจและเป็นมิตร
การบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ คือการทำให้ผู้รับบริการรู้สึกเข้าใจและเป็นที่ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ "ชื่อเรียก" หรือ "คำศัพท์" ที่เหมาะสมและให้ความเคารพต่อความรู้สึกของผู้ใช้บริการ เช่น การใช้ชื่อที่ผู้รับบริการต้องการให้เรียกแทนที่จะเป็นคำที่อาจทำให้รู้สึกไม่สะดวกใจ เช่นคำว่า "คุณผู้ชาย" หรือ "คุณผู้หญิง" ซึ่งอาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่สะดวกหรือไม่สบายใจในการเข้ารับบริการ โดยเราจะสอบถามผู้ใช้บริการว่า "คุณอยากให้เราเรียกคุณด้วยชื่ออะไร?" หรือ "คุณมีชื่อที่ต้องการให้ใช้เมื่อเข้ารับบริการหรือไม่?" หากสามารถเชื่อมต่อกับผู้รับบริการในเรื่องเล็กๆ เช่นการเรียกชื่อได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม จะทำให้เขารู้สึกพึงพอใจและสบายใจมากขึ้นในการรับบริการ
นพ.อโณทัย สุ่นสวัสดิ์ รพ.กรุงเทพ สำนักงานใหญ่ กล่าวถึงการบริการที่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQ+ ว่า หลักการดูแลทางสุขภาพในปัจจุบัน เราไม่ได้จำกัด เราต้องดูแลทุกคนให้เท่าเทียมกัน และมีประสิทธิภาพสูงสุดคือ เราต้องสามารถที่จะ include หรือที่เรียกว่า inclusive โอบรับและโอบล้อมทุกคน ทุก community ได้ ไม่ว่าจะสัญชาติใด เชื้อสายไหน หรือมีเพศสภาพใด เรามีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจเขา แล้วก็บริการเขาอย่างดีที่สุด อย่างเข้าใจมากที่สุด โดยเฉพาะ เรื่องห้องน้ำ บางครั้งเราอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ว่าเราทุกคนต้องเข้าห้องน้ำ และการที่สถานพยาบาลมีห้องน้ำสำหรับ All Gender หรือห้องน้ำที่ไม่จำกัดเพศ สิ่งนี้มันจะเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้ามารับบริการที่สถานบำบัดอย่างรู้สึกสบายใจ แล้วก็เป็นที่ยอมรับ
ต่อมาในช่วงบ่ายได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ "ความเครียดและจิตใจ สำคัญต่อการคุมเบาหวานแลน้ำหนัก" ได้รับเกียรติจาก นพ.ชัยชนะ จรูญพิพัฒน์กุล และ นพ.อโณทัย สุ่นสวัสดิ์ รพ.กรุงเทพ สำนักงานใหญ่ เป็นผู้บรรยายว่า โรคอ้วน และ โรคซึมเศร้า มีการเชื่อมโยงกันและต้องรักษาไปพร้อม ๆ กัน
นพ.ชัยชนะ บรรยายว่า ปัจจุบันโรคอ้วนและโรคซึมเศร้าเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อย โดยทั้งสองภาวะนี้มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก จนสามารถกล่าวได้ว่าคนไข้ที่เป็นโรคอ้วนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้ถึง 50% และในทางกลับกัน คนไข้ที่เป็นโรคซึมเศร้าก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนถึง 50% ด้วยเช่นกัน
ความสัมพันธ์ระหว่างโรคอ้วนและโรคซึมเศร้า
ตามที่ นพ.อโณทัย ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช รพ.กรุงเทพ ได้อธิบายว่า โรคซึมเศร้าและโรคอ้วนมักเกิดขึ้นร่วมกันได้ โดยในบางกรณี การที่คนไข้มีภาวะซึมเศร้าอาจทำให้เกิดการกินอาหารไม่หยุด ซึ่งส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และทำให้รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง หรือเกิดความไม่มั่นใจ ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดโรคซึมเศร้า และอีกมุมหนึ่งโรคอ้วนก็สามารถทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย ส่งผลให้วงจรการควบคุมอารมณ์ในสมองผิดปกติ และนำไปสู่โรคซึมเศร้า ฉะนั้นการเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองภาวะนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการได้รับการรักษาควบคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นพ.อโณทัย กล่าวว่า การรักษาโรคอ้วนและโรคซึมเศร้าควรทำควบคู่กันไป หากรักษาเพียงหนึ่งภาวะจะทำให้โอกาสในการหายสูงยิ่งขึ้น เช่น การให้ยาต้านซึมเศร้าร่วมกับการดูแลเรื่องน้ำหนักตัว โดยการปรับพฤติกรรมการกินและออกกำลังกายเพื่อการลดน้ำหนัก ทั้งนี้ยังย้ำถึงการให้ความสำคัญของการบูรณาการในการรักษา โดยฉพาะทั้งสองภาวะเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
ปัจจัยที่ส่งผลต่อโรคอ้วน-โรคซึมเศร้า
ปัจจัยที่ทำให้เกิดทั้งโรคอ้วนและโรคซึมเศร้ามีหลายด้าน ทั้งจากพันธุกรรมและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป เช่น เรื่องอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หรือการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้ไม่สามารถควบคุมการรับประทานอาหาร รวมถึงการควบคุมน้ำหนักได้ นอกจากนี้ยังส่งผลให้ร่างกายเกิดการอักเสบจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ซึ่งส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์ และทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด
การดูแลสุขภาพจิต-การตั้งเป้าหมายที่เหมาะสม
เป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญในการรักษาคือ การตั้งเป้าหมายที่เหมาะสม เพื่อการลดน้ำหนักและดูแลสุขภาพจิต โดยต้องมีการปรับพฤติกรรมอย่างค่อยเป็น ค่อยไป ไม่ควรกดดันตัวเองจนเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ การบำบัดทางจิตใจหรือการใช้ยาต้านซึมเศร้าจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ
สรุป
โรคอ้วน และ โรคซึมเศร้า คือสองภาวะที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและสามารถเกิดร่วมกันได้ ดังนั้นการรักษาทั้งสองภาวะควรทำไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้ผลการรักษาได้ผลดีที่สุด โดยการปรับพฤติกรรมการกินและออกกำลังกาย พร้อมกับการให้การดูแลสุขภาพจิตและยาต้านซึมเศร้า หากรักษาอย่างถูกต้องและมีการบูรณาการที่ดี โอกาสในการหายจากทั้งสองโรคก็จะสูงขึ้น