ชวนภาคีรุ่นใหม่รวมพลัง คิกออฟใหญ่ "ปิดเทอมสร้างสรรค์" 11 มี.ค. 66
สานพลังภาคีรุ่นใหม่ เดินหน้าจัดกิจกรรม "ปิดเทอมสร้างสรรค์" ปี 2566 เปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้ค้นหาและเรียนรู้อย่างอิสระในช่วงวันว่าง ก่อนคิกออฟใหญ่ 11 มี.ค. 66 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ภายใต้โลกที่หมุนเร็ว มีความเชื่อมโยง ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องอยู่ในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก การพัฒนาเด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เป็นพลเมืองที่เข้มแข็งและมีส่วนร่วมกับสังคม จึงพึ่งพาระบบการศึกษาอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องมองไปถึงระบบที่ใหญ่กว่านั้น คือ ระบบการเรียนรู้ (Learning System) "โลกนอกห้องเรียน" จึงเป็นอีกประสบการณ์สำคัญที่นำพาก้าวสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะในช่วงเวลาว่าง หรือปิดเทอมที่กำลังมาถึงนี้
หลายคนมักคุ้นเคยดีแล้วกับ "กิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์" ที่จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ซึ่งได้สานพลังภาคีเครือข่าย ร่วมกันเปิดแพลตฟอร์ม เปิดเทอมสร้างสรรค์.com เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมกิจกรรมจากทุกหน่วยงานที่จะมาเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงกิจกรรมเรียนรู้ตามความสนใจช่วงวันว่างที่มีเฉลี่ย 150 วัน/ปี เต็มเปี่ยมไปด้วยความสร้างสรรค์
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เด็กมีวันปิดเทอมใหญ่ วันหยุด และวันว่างต่างๆ รวมกว่า 150 วัน/ปี จึงมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ ที่พร้อมหยิบยื่นโอกาสให้เด็กเข้าถึงกิจกรรมการเรียนรู้จำนวนมาก สสส. และภาคีพยายามเชื่อมต่อเครือข่ายกิจกรรมเหล่านี้ให้เด็กเข้าถึงง่าย ค้นหา และเลือกได้อย่างมีอิสระในการไปเรียนรู้ เล่นสนุก ทำกิจกรรม หางานทำ หารายได้ โดยเปิดแพลตฟอร์มปิดเทอมสร้างสรรค์ย่อยๆ ในแต่ละจังหวัด เชื่อมโยงกับระบบใหญ่ โดยเชื่อว่าจะเกิดพลังมหาศาล
"แม้กิจกรรม ปิดเทอมสร้างสรรค์ จะชะลอตัวในช่วง 3 ปี จากโควิด แต่จากการเดินหน้ากิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ปลายปีที่ผ่านมา ช่วยให้เด็กนับแสนคนเข้าถึงกิจกรรมสร้างสรรค์ สำหรับการขับเคลื่อนปีนี้ จะจัดงานสื่อสารรณรงค์ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 7 มี.ค. 2566 เพื่อสื่อสารความสำคัญของเรื่องนี้ต่อผู้นำประเทศ ผู้กำหนดนโยบาย และแถลงข่าวคิกออฟปิดเทอมสร้างสรรค์วันที่ 11 มี.ค. 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จากนั้นจะสื่อสารสาธารณะเกี่ยวกับแพลตฟอร์มปิดเทอมสร้างสรรค์ต่อเนื่องทุกช่องทาง รวมทั้งวิจัยถึงกิจกรรมที่เด็กและเยาวชนให้ความสนใจ ประเมินผลความพึงพอใจของกิจกรรม เพื่อพัฒนาและกำหนดทิศทางการดำเนินงานในปีถัดไป" ดร.สุปรีดา กล่าว
ศิริพร พรมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายปิดเทอมสร้างสรรค์ กล่าวว่า ช่วงเปิดเทอม เด็กมีโรงเรียนคอยดูแลด้านวิชาการ ช่วงปิดเทอมเป็นช่วงโอกาสพัฒนาศักยภาพตัวเองตามความสนใจ แต่เด็กหลายคนไม่มีพื้นที่ให้เรียนรู้พัฒนาตนเอง หรือหลายคนอยู่ในกลุ่มครอบครัวเหลื่อมล้ำ เข้าไม่ถึงการศึกษา ยิ่งช่วงโควิดที่ผ่านมามีการเรียนออนไลน์ที่บ้าน ติดมือถือ ทำให้เกิดปัญหาการเรียนรู้ถดถอย ต้องเร่งแก้ปัญหานี้ เป้าหมายคือ รวมภาคีเครือข่ายทั่วประเทศมาเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้เด็ก กระจายแหล่งเรียนรู้ทั้งเล็ก ใหญ่ ไปอยู่ใกล้เด็กให้เดินทางเข้าถึงง่ายที่สุด โดยที่ผ่านมามีการประชุมเครือข่ายเพื่อมาร่วมทุนว่าแหล่งเรียนรู้ใดมีต้นทุนพื้นที่ ต้นทุนกิจกรรม หรืองบประมาณก็มาร่วมทำกิจกรรมให้เด็กผ่านแพลตฟอร์ม ปิดเทอมสร้างสรรค์ เพราะแหล่งเรียนรู้มีเยอะ และมีเด็กจำนวนมากที่อยากเข้าร่วม แต่ยังไม่มีโอกาสเจอกันก็จะมาเชื่อมแพลตฟอร์มให้เจอกันง่ายขึ้น โดยเน้นสื่อสารให้รู้จักเว็บไซต์ปิดเทอมสร้างสรรค์ไปยังโรงเรียน ผ่านโรดโชว์ โซเชียลมีเดีย อย่าง Tiktok เพจ อินฟลูเอนเซอร์ สื่อออนไลน์ และสื่อท้องถิ่น
อดุลยชาติ ขันธมะ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาผู้ตัดสินกีฬา สถาบันพัฒนาบุคลากรการพลศึกษาและการกีฬา กรมพลศึกษา กล่าวว่า กรมพลศึกษา เน้นส่งเสริมการออกกำลังกาย เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีสุขภาวะที่ดี ที่ผ่านมามีโครงการให้เด็กและเยาวชนทุกปี โดยเฉพาะช่วงปิดเทอมจะมีโครงการ "กีฬาร้อนนี้เพื่อลูกรัก" สนับสนุนงบประมาณให้ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดดำเนินการ มีเจ้าหน้าที่พลศึกษาไปจัดกิจกรรมตามความชอบในแต่ละพื้นที่ เช่น เปตอง ฟุตบอล ฟุตซอล วอลเลย์บอล เป็นต้น
อดุลยชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักนันทนาการจะมีกิจกรรมร้องเล่นเต้นรำ ทำอาหารทุกวันตอนเย็น ซึ่งเด็กสามารถสมัครผ่านเว็บไซต์กรมพลศึกษา หรือเข้ามาที่หน่วยงาน ทำให้เป็นข้อจำกัด แต่เมื่อเข้าร่วมกับเว็บไซต์ปิดเทอมสร้างสรรค์ ทำให้เด็กสามารถสมัครและเข้าถึงกิจกรรมต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
ศศิวมล เสียงแจ้ง ผู้ก่อตั้ง Daywork เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาการหางานพาร์ทไทม์ของเด็กและเยาวชน ต้องไปตามห้าง ร้านต่างๆ กรอกใบสมัคร ผ่านกระบวนการสัมภาษณ์ทีละร้าน เป็นอุปสรรคสำคัญที่ยุ่งยากของเด็ก Day Work จึงพัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยสรรหาและจับคู่ให้เด็กที่ต้องการหางานพาร์ทไทม์ หลังเลิกเรียนและวันหยุด รองรับการจ้างงานแบบออนดีมานคือ หางานทำเมื่อมีความต้องการ หรือเมื่อนายจ้างต้องการจ้างระยะสั้นหลักชั่วโมง - สัปดาห์ ตอบโจทย์เด็กยุคปัจจุบันที่ใช้สมาร์ทโฟน สามารถสร้างโปรไฟล์ กรอกประวัติ และสมัครงานที่ไหนก็ได้ จุดเด่นคือ ระบบจะแนะนำงานผ่านโลเคชันใกล้บ้าน ใกล้โรงเรียน เนื่องจากงานพาร์ทไทม์รายได้ไม่มาก จึงไม่ควรเสียเวลา หรือค่าใช้จ่ายในการเดินทาง นอกจากนี้ ระบบจะเก็บประวัติการทำงานที่เคยทำบนแพลตฟอร์มแบบอัตโนมัติ ไม่สามารถแก้ไขได้ ทำให้นายจ้างเชื่อถือได้ว่าประวัติงานไม่ได้ปลอมขึ้นมา ปิดเทอมสร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กมีกิจกรรม มีรายได้ช่วงวันหยุดหรือวันว่าง
"จากการเปิดดำเนินการมา 4 - 5 ปี มีผู้ใช้งาน 300,000 คน บริษัทเข้าร่วมกว่า 550 บริษัท สร้างงานกว่า 270,000 วันทำงาน เกิดรายได้กว่า 135 ล้านบาท" ศศิวมล กล่าวทิ้งท้าย