Save สมองเด็กไทย เริ่มต้นได้ แค่ใส่ 'หมวกกันน็อก'

Save สมองเด็กไทย เริ่มต้นได้ แค่ใส่ 'หมวกกันน็อก'

ไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่ครองสถิติอุบัติเหตุบนถนนในช่วงตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ขับขี่ "รถจักรยานยนต์" จึงเกิดโครงการ "ห่วงใครให้ใส่หมวก" เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุ และไม่ให้เกิดการสูญเสียที่เพิ่มขึ้น

สังคมไทยเคยผ่านเหตุการณ์ความสูญเสียเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ดูเหมือนบทเรียนที่พบก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้หลายคนตระหนักรู้ และเปลี่ยนพฤติกรรมใช้ชีวิตบนท้องถนนแบบไม่ต้อง "เสี่ยง" เพราะยังคงสะท้อนด้วยสถิติการสูญเสียบนท้องถนนที่ยังคงพุ่งสูงตลอดกว่าทศวรรษที่ผ่านมา

สถิติที่รอวันถูกทำลาย

"อุบัติเหตุทางถนน" นั้น เป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ที่ องค์การสหประชาชาติ มุ่งแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนสถิติของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บทั่วโลกก็ยังคงอยู่ในระดับ "สูง" และเป็นอีกสาเหตุที่คร่าชีวิตผู้คนบนโลกไม่น้อย เช่นเดียวกับการเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บก่อนวัยอันควร

ไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่มักถูกหยิบยกเสมอ เมื่อพูดถึงประเทศที่ครองสถิติอุบัติเหตุบนถนนในช่วงตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ล่าสุดรายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2561 โดยองค์การอนามัยโลก พบว่าไทยติดโผผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุดเป็นลำดับที่ 9 ของโลก โดยมีประมาณการผู้เสียชีวิต 32.7 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 60 คนต่อวัน หรือปีละ 22,491 คน รวมถึงการที่ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดอันดับหนึ่งในเอเชียและภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะ "รถจักรยานยนต์" เป็นอีกพาหนะอันดับต้นๆ ที่เพิ่มสัดส่วนผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยมากที่สุดถึง 74.4% 

Save สมองเด็กไทย เริ่มต้นได้ แค่ใส่ \'หมวกกันน็อก\'

"หมวกนิรภัย" ลด เจ็บ ตาย ได้จริง?

นพ. พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวอัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้เสียชีวิตจาก อุบัติเหตุทางถนน ที่มีการสำรวจล่าสุดในปี 2566 ซึ่งยังคงพบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ถึง 82.5% อีกความน่าสนใจ ซึ่งรายงานโดยระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บกระทรวงสาธารณสุข พบว่าผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ใช้รถจักรยานยนต์มักมีอัตราการบาดเจ็บที่ศีรษะ 79% ซึ่งหากจำแนกในกลุ่มผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตที่ สวมหมวกนิรภัย พบมีอัตราการบาดเจ็บที่ศีรษะ 24% ขณะที่กลุ่มที่ไม่สวมหมวกนิรภัยบาดเจ็บที่ศีรษะ 41% ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผลวิจัยของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย AIT ปี 2551 พบว่าการสวมหมวกนิรภัยช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ โดยลดความเสี่ยงและความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ศีรษะ 72% และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต 39% สิ่งที่ชวนสะท้อนใจคือผลการสำรวจของมูลนิธิไทยโรดส์ปี 2553-2566 กลับพบอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งประเทศในภาพรวมยังคงที่ โดยในปี 2566 มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยอยู่ที่เพียง 43% โดยแบ่งเป็นผู้ขับขี่ 48% และผู้ซ้อน 21% เท่านั้น

Save สมองเด็กไทย เริ่มต้นได้ แค่ใส่ \'หมวกกันน็อก\'

ห่วงใครให้ใส่หมวก

เมื่อข้อมูลสะท้อนว่าการ สวมหมวกนิรภัย ช่วยให้ห่างไกลจากอุบัติเหตุรุนแรงได้อย่างมีนัยยะสำคัญ การสนับสนุนและขับเคลื่อนชวนคนไทยหันมาสวมหมวกนิรภัย หวังสร้างโอกาส (รอด) ท่ามกลางวิกฤติ หากเพียงสามารถสร้างแรงจูงใจ ส่งเสริมคนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมใส่หมวก จึงเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ถูกขับเคลื่อนภายใต้แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนระดับประเทศ นำมาสู่ "ห่วงใครให้ใส่หมวก" เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จุดประกายขึ้น ด้วยการตั้งเป้าว่าจะเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็กปฐมวัย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย 100% ซึ่งโครงการนี้ สสส. กับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษา ได้นำร่องขยายผลการสวมหมวกนิรภัยในสถานศึกษา โดยล่าสุดโครงการยังต่อยอดสู่โครงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กต้นแบบในการจัดการความปลอดภัยทางถนน โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน

คืนข้อมูล สร้างต้นแบบ ขยายพื้นที่ปลอดภัย

ผู้จัดการ สสส. ฉายภาพถึงการขับเคลื่อนต่อ ซึ่งนอกจากการขับเคลื่อนเชิงกฎหมาย ยังต้องหนุนเสริมด้วยการขับเคลื่อนผ่านชุมชน โรงเรียน เพื่อสร้างวินัย หลังเห็นความสำเร็จจากการดำเนินงานที่ผ่านมา จึงเตรียมพร้อมเดินหน้าขยายต้นแบบ สร้างกลไกระดับชุมชนพื้นที่ครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนอุปกรณ์ หมวกนิรภัย การให้องค์ความรู้ และการจัดการ โดยมีศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนให้ความสำคัญ

"หากสร้างต้นแบบแล้วสามารถทำให้ทุกอบต. สนับสนุนหมวกนิรภัยสำหรับเด็ก แต่ที่สำคัญไม่ใช่แค่การส่งเสริมให้มีหมวกนิรภัยเท่านั้น มันจำเป็นต้องมีระบบในการจัดการ ครูในโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็กก็ต้องมีกระบวนการสอนอาจผ่านนิทานหรือกิจกรรมต่างๆ ที่สื่อสารกับเด็กได้ง่าย ทำให้เด็กอยากใส่ สสส. จึงอยากคืนข้อมูลเหล่านี้กลับไปให้อบต. ศูนย์เด็กเล็ก ชุมชน แกนนำ เพื่อให้เกิดการจัดการตรงนี้ และส่งต่อพฤติกรรมจนเป็นนิสัย ปลายทางคือการสร้างนิสัยเหล่านี้ เชื่อว่าจะทำให้อัตราการตายปีละหมื่นเจ็ดพันลดลงได้ในอนาคต"

รักใครให้ใส่หมวก  

อีกหนึ่งผู้มีบทบาทขับเคลื่อน โครงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กต้นแบบในการจัดการความปลอดภัยทางถนน โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน

พรทิพภา สุริยะ ถ่ายทอดบทเรียนการขับเคลื่อนโครงการฯ ที่เริ่มต้นในปี 2554 กล่าวว่า ตนต้องสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย ซึ่งต้องเริ่มในเด็กเล็ก เพราะเด็กโตอาจไม่ทันแล้ว ตนทำเรื่องการให้ความรู้และบังคับใช้กฎหมาย จึงเกิดการรวมกลุ่มกันปี 2559 เริ่มทำในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้ง 4 ภาค ภาคละ 2 จังหวัด โดยเข้าไปชวนครูท้องถิ่น และให้ชุมชนเป็นฐานในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ พร้อมเผยเคล็ดลับที่เป็นอาวุธสำคัญทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จว่าตนใช้พลังที่เรียกว่าความรักเป็นตัวขับเคลื่อน

"หลังทำสถิติเด็กที่สวมหมวกเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่น่าสนใจคือผู้ปกครองเพิ่มขึ้นด้วย เฟสที่สองเลยลองขยับไปนอกรั้วโรงเรียนปรากฏว่าทั้งโรงเรียนในสังกัดและเอกชนให้ความร่วมมืออย่างดีในการใส่หมวก ตนจึงขยับไปที่ตำบลเพราะเป็นต้นสังกัดในท้องถิ่น"

สร้างกระแสหมวกฟีเวอร์

หนึ่งในกลยุทธ์ที่น่าสนใจจากพลังไอเดียของครูพี่เลี้ยงคือ การสรรหากิจกรรมสอดแทรกที่กระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใส่หมวกทั้งในเด็กเล็ก พ่อแม่ ผู้ปกครอง

พรทิพภา กล่าวอีกว่า เคล็ดลับเล็กจะมีการติดรูปเด็กสวมหมวกกันน็อกกับผู้ปกครอง ซึ่งเด็กจะติดรูปนี้ได้ผู้ปกครองต้องสวมหมวกนิรภัยด้วย เป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้เด็กกดดันพ่อแม่ให้ใส่หมวกกันน็อก พราะต้องการแข่งขันกันอวดกับเพื่อน เด็กบางคนนั่งรถเก๋งมาก็ยังใส่หมวก เพราะครูประกาศจะติดดาวให้ ถ้าได้ดาวติดที่บอร์ดจะได้เชิญธงชาติทำให้เด็กกดดันพ่อแม่

ตราด ครองแชมป์สวมหมวกนิรภัย

"ตราด" เป็นอีกหนึ่งจังหวัดต้นแบบที่มีการขับเคลื่อนสวมหมวกนิรภัยที่ได้รับรางวัลจังหวัดที่มีการขับเคลื่อนการสวมหมวกนิรภัยในกลุ่มเด็กดีเด่น ประจำปี 2566 

ณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวว่า ในอดีตตราดมี อุบัติเหตุบนท้องถนน สูง ด้วยเป็นจังหวัดหนึ่งที่มี รถจักรยานยนต์ เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด และอุบัติเหตุมักจะเกิดขึ้นในเมือง ทางจังหวัดได้มีการจับตาเฝ้าระวัง ซึ่งความสำเร็จเกิดจากความร่วมมือ ผสานกับการใช้ข้อมูลวิเคราะห์จุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุสูง เราพบคือส่วนใหญ่อยู่ในเขตตัวเมืองบางแห่งอยู่ใกล้โรงพยาบาลด้วยซ้ำ จึงมีการเก็บข้อมูลวิเคราะห์พบพื้นที่เสี่ยงสูงในด้านกายภาพเสี่ยงสูง และพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุดคือมอเตอร์ไซค์เนื่องจากไม่สวมหมวกกันน็อก ใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด ไม่เคารพตามกฎจราจร และดื่มสุรา การให้ข้อมูลเหล่านี้ทำให้คนป้องกันตัวเองมากขึ้น

5 เรื่องต้อง Save เพื่อ #Save สมองเด็กไทย  

ผู้จัดการ สสส. เอ่ยต่อถึงยุทธศาสตร์สำคัญที่ สสส. และภาคีจะเดินหน้าในการขับเคลื่อนต่อไปคือ การสร้างวินัยจราจรในเด็ก รวมถึงครู ผู้ปกครอง ชุมชน เกิดความร่วมมือของท้องถิ่น ชุมชน ครู ผู้ปกครอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตนอยากเอาข้อมูลคืนให้จังหวัด ทำงานกับอบต. ด้วยข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูลระดับชุมชน ทั้งเรื่องความพิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอันเนื่องจากอุบัติเหตุบนท้องถนน

ทั้งนี้ เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุ และเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียอีกต่อไป ภายใต้การดำเนินงานของสสส. และภาคี ในทศวรรษต่อไป จึงเป็นการเดินหน้าเตรียมผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายทั้งหมด 5 ข้อ ส่งเสริมเป็นมาตรการความปลอดภัยในเด็กและเยาวชน ได้แก่ 1.) มีนโยบายขับเคลื่อนการสวมหมวกจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น 2.) เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายหมวกนิรภัยด้วยการลงทุนเทคโนโลยี 3.) สนับสนุนให้มีระบบติดตามมาตรการสวมหมวกนิรภัยด้วยการใช้ AI 4.) ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนน-วินัยจราจรในสถานศึกษา และ 5.) ส่งเสริมการเข้าถึงและจัดหาหมวกนิรภัยสำหรับเด็กที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย โดยเชื่อว่าด้วยพลังร่วมใจของทุกภาคส่วนจะทำให้คนไทยหันหน้ามาร่วมมือกันแก้ปัญหาบนท้องถนนอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เราต้องสังเวยชีวิตคนท้องถนนจนติดอันดับโลกอีกต่อไป 

Save สมองเด็กไทย เริ่มต้นได้ แค่ใส่ \'หมวกกันน็อก\'