'สูงวัยต้องไปต่อ' ส่งต่อแนวคิด สว. แบบมีศักดิ์ศรี
ใครๆ อาจคิดว่า "ผู้สูงอายุ" คือ วัยหมดเรี่ยวแรง จนสุดท้ายอาจถูกตีตราว่าคือ "ภาระ" เพื่อเสริมกำลังให้ "ผู้สูงวัย" จึงเกิดกิจกรรม "สูงวัยต้องไปต่อ" ส่งต่อแนวคิด สว. แบบมีศักดิ์ศรี เพื่อสานพลังสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้สุขภาวะของผู้สูงอายุ
ทุกปีในวันเด็ก ผู้ใหญ่ใจดีมักไถ่ถามถึงความฝัน ความหวังในอนาคตเด็กๆ หรือลูกหลานว่าอยากได้หรือเป็นอะไร เช่นกัน ใน วันผู้สูงอายุสากล ที่เพิ่งผ่านพ้น หากจะลองถามถึงความฝัน ความหวังของเหล่า สว. รอบตัวทั้งหลายบ้าง นี่อาจคือความในใจเล็กๆ ของคน สูงวัย ที่ปรารถนา
"อยากมีงานทำ มีรายได้มั่นคง มีเงินทองพอใช้จ่ายเลี้ยงดูชีวิต เพราะตนไม่มีลูกหลาน" ยายแหวว กล่าว
"อยากมีสวัสดิการรักษาพยาบาลฟรี หาหมอได้ตลอดเวลาในยามป่วยไข้" ตาสุวรรณ กล่าว
"ยายเหงา อยากมีเพื่อนไม่ยากถูกทิ้ง อยากให้ลูกหลานมาหาบ้าง" ย่าวารุณี กล่าว
แม้ใครอาจมองว่า "วัยสูงอายุ" คือวัยหมดเรี่ยวแรง ไม่มีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคม และสุดท้ายอาจถูกตีตราว่า สูงวัยคือ "ภาระ" สังคมที่ต้องแบกรับ หากในเบื้องลึกของจิตใจคงไม่มีใครไม่อยากอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และได้รับการยอมรับ ถ้าในเมื่อพลังใจและไฟยังไม่หมด แม้เลยหลัก 6 หรือ 7 ไปแล้ว วันนี้สูงวัยก็ต้องลุกขึ้นมา "ไปต่อ" ไม่รอพึ่งพิง
สูงวัยยังไปต่อได้
นับจากปี 2534 ที่องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้ทุกวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุสากล เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผู้สูงอายุว่าเป็นบุคคลที่เคยได้สร้างคุณประโยชน์และคุณงามความดีให้แก่โลกใบนี้ พร้อมให้นิยามคำว่า "ผู้สูงอายุ" คือบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป
1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. จึงเกิดกิจกรรมเนื่องในวันผู้สูงอายุสากล 2567 "สูงวัย ยังไปต่อ (Older not Over)" ภายใต้แนวคิด "Ageing With Dignity สูงวัยอย่างมีศักดิ์ศรี" โดยมีภาคีเครือข่ายผู้สูงอายุเข้าร่วมกว่า 500 คน กรมกิจการผู้สูงอายุ สมาคมผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันสานพลังสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้สุขภาวะของผู้สูงอายุและครอบครัวในการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขทุกช่วงวัย
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ไทยเริ่มก้าวเข้าสู่สังคม ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ ปี 2548 และมีแนวโน้มประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดการณ์ว่าในปี 2578 จะมีผู้สูงอายุ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด
ดร. ณปภัช สัจนวกุล ผู้แทนคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า ประชากรไทยกำลังเผชิญหน้ากับการ สูงวัย อย่างรวดเร็ว ข้อมูลจากการคาดประมาณประชากรโลกของสหประชาชาติ ประจำปี 2567 แสดงให้เห็นว่า สัดส่วนของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 22% ของประชากรทั้งหมดในปี 2567 เป็น 36.1% ในปี 2593 นอกจากนี้สัดส่วนของผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป จะเพิ่มจาก 3.3% ในปี 2567 เป็น 10.6% ภายในปี 2593
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนถึงความจำเป็นและความเร่งด่วนในการพัฒนาระบบการดูแลและสนับสนุนผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลอย่างเข้มข้น จำเป็นต้องสร้างและพัฒนาระบบการดูแลเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยได้รับการสนับสนุนจากระบบการดูแลที่ครอบคลุม สามารถเข้าถึงได้และสอดคล้องต่อความจำเป็นในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ
"ESCAP ส่งเสริมภาคส่วนต่างๆ โดยสนับสนุนความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล มีภาคประชาสังคม และ ผู้สูงอายุ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบการดูแลผู้สูงอายุอย่างครอบคลุม ตอบสนองความจำเป็น และปรับตัวให้ทันกับความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต โดยแนวคิดสูงวัยอย่างมีศักดิ์ศรี ถือเป็นการเชื่อมโยงกับแนวทางการส่งเสริมการสูงวัยในที่อยู่อาศัยเดิม โดยให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่อาศัยในบ้านและชุมชนของตนเองได้อย่างอิสระ และเชื่อมโยงผู้สูงอายุกับเครือข่ายทางสังคมเดิม พร้อมทั้งเสริมสร้างระบบการดูแลในชุมชน เพื่อลดความจำเป็นในการดูแลแบบสถานพยาบาล และยังส่งเสริมความสัมพันธ์คนหลายรุ่นให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างสังคมที่ให้เห็นความสำคัญกับศักดิ์ศรีและสิทธิของผู้สูงอายุ" ดร. ณปภัช กล่าว
ทวาย คงคา ตัวแทนภาคีเครือข่ายผู้สูงอายุ กล่าวว่า ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยมักคิดว่าตนเองเป็นภาระให้กับผู้อื่น อาจจะรู้สึกว่าชีวิตของตนเองนั้นด้อยค่า ส่งผลให้เผชิญกับความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและแยกตัวจากสังคม รวมถึงปัญหาสุขภาพตามมาด้วย ดังนั้นการมีวันผู้สูงอายุสากล ถือเป็นวันสำคัญของผู้สูงอายุทั่วโลก และผู้สูงอายุทุกกลุ่มของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการตระหนักรู้เกี่ยวกับประชากรสูงอายุ การส่งเสริมสังคมในการพัฒนาระบบที่สนับสนุนผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตที่สมบูรณ์และมีความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพ
ชู 4 มิติคุณภาพชีวิตสูงวัย
สำหรับในงานยังมีการจัดโซนกิจกรรมต่างๆ ที่ สสส. และภาคีร่วมกันจัดเต็ม เพื่อผู้สูงอายุที่มาร่วมงาน อาทิ เพลินกาย-ใจ เป็นพื้นที่ความรู้เรื่องการป้องกัน/ดูแลรักษาโรคฟันโรคไตตรวจคัดกรองสุขภาพ กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพเชิงป้องกัน PLC-Preventive Long-Care (การทรงตัว พลัดตก หกล้ม แรงบีบมือ) การส่งเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุ "สุข 5 มิต" การแนะนําการดูแลสุขภาพรายบุคคล การเข้าถึงนวัตกรรม หรือบริการใหม่ๆ ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับสุขภาพของผู้สูงอายุและฮีลใจผู้ดูแลผู้สูงอายุ
เพลินชีวาพื้นที่ประชาสัมพันธ์ แนะนําสิทธิสวัสดิการการให้บริการต่างๆ สําหรับผู้สูงอายุ
"เพลินทำ" พื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้แสดงผลงานหรือจําหน่ายงานฝีมือ
เพลินอารมณ์ พื้นที่ให้บริการทั่วไปแก่ผู้สูงอายุ เช่น ด้านกฎหมาย การ ปรับปรุงที่อยู่อาศัย การศึกษา-การเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงวัย อาทิ ด้านกฎหมาย การปรับปรุงที่อยู่อาศัย การศึกษา-การเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงอายุ แหล่งทุน/กองทุนผู้สูงอายุ การแนะนําสาธิต หรือจําหน่ายเครื่องอุปโภคและบริโภคสําหรับผู้สูงอายุ และตัดผมฟรี ฯลฯ
ไปต่ออย่างไรให้มั่นคง
นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยใน พระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินฯ ว่าเริ่มจากการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุทั่วประเทศทุกจังหวัด มาร่วมเป็นสมาคมผู้สูงอายุหนึ่งเดียวเพื่อผลักดันนโยบายเพื่อผู้สูงอายุในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านสวัสดิการ
"สมาคมฯ มีเป้าหมายใหญ่ๆ 2 ข้อ ตนจะคิดเรื่องผู้สูงอายุและเสนอนโยบายต่อรัฐบาล เพื่อให้เป็นข้อเสนอหนึ่งเดียวทั้งประเทศ สองสมาคมมีบทบาททำอย่างไรให้ผู้สูงอายุเป็นพลังสังคมยาวนาน แต่เป็นภาระให้สั้นที่สุด ตัวอย่างที่ดีที่สุด" นายแพทย์วิชัย กล่าว
สมาคมฯ ยื่นข้อเสนอรัฐบาลเป็นนโยบาย 7 ข้อ แจกเงินผู้สุงอายุยากไร้ นำมาสู่สวัสดิการเบี้ยยังชีพของระบบสวัสดิการถ้วนหน้า รวมถึงการมีส่วนในการผลักดันพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 เป็นกฎหมายที่ดี ให้เริ่มออมเงินสำหรับวัยเกษียณ โดยส่งเสริมให้คนไทยฝากเงินออมก็จะมีความมั่นคงในชีวิตในบั้นปลาย รวมถึงการส่งเสริมตั้งชมรมผู้สูงอายุที่จะมีกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีเพื่อนมีสังคมไม่โดดเดี่ยว นำไปสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ
สูงวัยต้องเข้าถึงสิทธิสุขภาพ
รศ.ภญ.ดร. ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมสวัสดิการและโอกาสการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพในผู้สูงอายุ ซึ่งตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายขับเคลื่อนสถานชีวาภิบาล เพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง และผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น สปสช. ได้เชิญชวนให้สถานชีวาภิบาลที่จัดตั้งขึ้นนี้มาร่วมขึ้นทะเบียนหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านสถานชีวาภิบาล เพื่อที่จะได้รับค่าบริการในการดูแลผู้ป่วยในอัตราตามประกาศหลักเกณฑ์ของสปสช. ขณะนี้มีสถานชีวาภิบาลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการฯ ตามมาตรา 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 8 แห่ง โดยเป็นมูลนิธิจำนวน 3 แห่ง และวัดจำนวน 5 แห่ง
"ชีวาภิบาลในวัดจะมีพระสงฆ์รับดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง โดยสปสช. จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายกลุ่มที่เปราะบางที่สุด"
ล่าสุดยังดำเนินโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ผู้ใช้บริการสามารถเข้าใช้บริการได้ใน 7 หน่วยบริการนวัตกรรม เพียงใช้ "บัตรประชาชนใบเดียว" ก็สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ทันที ได้แก่ คลินิกเวชกรรม คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ คลินิกทันตกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกพยาบาล คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกแพทย์แผนไทย และร้านยาชุมชน
"นโยบายของสปสช. อยากทำให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล และทำงานคนเดียวไม่ได้ต้องพึ่งพิงนโยบาย หน่วยบริการและพี่น้องประชาชนสปสช. ไม่ใช่แค่ผู้ให้โครงการ การทำให้ทุกคนมาเป็นเจ้าของระบบสามารถร่วมกันช่วยพัฒนาระบบการบริการสุขภาพให้มีคุณภาพได้ ซึ่งก็คือประชาชน"
Young Happy ทางเลือกใหม่ของสูงวัยที่ไปต่อ
วริศรา กลีบบัว กรรมการผู้จัดการยังเเฮปปี้ พลัส จํากัด กล่าวว่า 7 ปีที่ผ่านมา ยังแฮปปี้ฯ เป็นบริษัทสนับสนุน ผู้สูงอายุ สร้างงาน สร้างอาชีพใหม่หลัง วัยเกษียณ ยังแฮปปี้จึงเปิดประตูสู่โลกอาชีพและการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อาทิ ผู้สูงวัย สามารถเป็น Influencer ทำการตลาดออนไลน์ นอกจากนี้ทางบริษัทฯ ยังหาผู้ประกอบการมา matching ผู้สนใจ
"ผู้สูงอายุปัจจุบันไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะเรื่องกายภาพอย่างเดียว แต่ยังถูกจำกัดจากการต้องเข้าถึงเทคโนโลยีนวัตกรรม ยังแฮปปี้ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีการเข้าถึงความรู้ใหม่ๆ ข่าวสาร นวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน" วริศรา กล่าว