มองเรื่อง 'เล่น' มุมใหม่ ทำไมเล่นมีพลังเปลี่ยนโลก ฝ่าวิกฤติ
การเล่นคือ พลังเยียวยา สร้างโอกาสให้กับเด็กทุกคน งาน Let’s play festival เทศกาลเล่นอิสระ จะช่วยให้เด็กได้สนุกสนาน และได้ความคิดสร้างสรรค์ที่กว้างมากขึ้น พบกันได้ในวันที่ 22-24 พ.ย. 67 ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทุกวันนี้ทั่วโลกต่างยอมรับแล้วว่า ในชีวิตหนึ่งของเด็ก ควรได้ "เล่น" เพราะสำคัญ และจำเป็นไม่ต่างกับการศึกษาเล่าเรียน การเล่นอาจไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่ หาก "สำคัญ" ต่อชีวิตในทุกๆ คนอย่างแน่นอน แต่สำหรับประเทศไทย ยังคงมีภาพจำว่า การเล่น = ความเพลิดเพลิน ไร้ประโยชน์ หรือเป็นแค่การส่งเสริมพัฒนาการเท่านั้น แท้จริงแล้วการเล่นไม่ได้ช่วยเสริมแค่เรื่องเสริมสติปัญญาอย่างเดียวอีกต่อไป ทว่าอานุภาพของการเล่นยังสร้างคนคนหนึ่งให้เป็นคนคุณภาพของสังคมได้ ทั้งเป็นเครื่องมือเยียวยาในยามวิกฤติได้อย่างคาดไม่ถึง
เล่นฝ่าวิกฤติ
เกือบทุกครั้งที่เกิดวิกฤติรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติ ภัยสังคม หรือแม้แต่โรคภัย แทบทุกสถานการณ์ล้วนส่งผลกระทบต่อการเล่น รวมถึงกรณีช่วงที่มีโรคระบาด เกือบทุกประเทศทั่วโลกที่ใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ก็ทำให้เด็กเองถูกปิดกั้นและมีโอกาสน้อยมากที่จะได้ออกไปเล่นกลางแจ้ง หรือเล่นกับเพื่อน
เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า อย่างประเทศไทยเวลานี้หลายพื้นที่กำลังเผชิญปัญหาน้ำท่วม และอีกไม่นานก็ต้องเข้าสู่วิกฤติเรื่องอากาศ หรือ PM2.5 อีกครั้ง ซึ่งเด็กไม่เพียงได้รับผลกระทบรุนแรงมากทั้งในเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิต แต่อีกสิ่งที่สําคัญคือ เด็กๆ ขาดโอกาสในการที่จะได้ออกไปเล่นอย่างมีอิสระตามธรรมชาติ
ยิ่งวิกฤติเด็กยิ่งต้องได้เล่น
เข็มพร กล่าวเพิ่มอีกว่า เห็นเลยว่าเรื่อง เล่น ช่วยผสานทุกสิ่งทุกอย่างเข้าด้วยกัน คลี่คลายอะไรหลายอย่างให้หายไปจากใจของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มันยิ่งตอกยํ้าความสําคัญว่าเรื่องเล่นมันช่วยเชื่อมได้จริง วิกฤติมันทําให้ต้องคิดมากขึ้น ต้องสร้างสรรค์มากขึ้นว่าทํายังไงให้การเล่นไปถึงเด็กให้ได้ ไม่ว่าเด็กจะออกมาได้หรือไม่ได้ ก็ต้องคิดออกแบบกิจกรรมการเล่นที่สามารถทำให้เด็กได้เล่น จะเห็นว่ารูปแบบการเล่นนั้นไม่ได้จําเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นแบบไหน รวมทั้งส่งแนวคิดไปยังพ่อแม่ในการจัดการอำนวยความสะดวกให้เด็กได้เล่น กิจกรรมครั้งนี้ยิ่งสะท้อนว่า ยิ่งวิกฤติเด็กยิ่งต้องได้เล่น
"เล่น" พลังเยียวยา
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. เกริ่นถึงที่มา เมื่อถูกถามถึงเหตุผลในการที่สสส. เข้ามาหนุนพลังภาคีเครือข่ายด้านการเล่นอย่างต่อเนื่อง ตนกล่าวว่า ด้วยพฤติกรรมสังคมที่เปลี่ยนแปลง มีค่านิยมคนไม่ต้องการแต่งงานสร้างครอบครัว หรือไม่อยากมีลูก ยิ่งทำให้จำนวนประชากรลดน้อยลงเรื่อยๆ เห็นแล้วว่าสังคมกำลังกลายเป็นสังคมสูงวัย เด็กเกิดใหม่คือประชากรส่วนน้อย และกำลังมีแนวโน้มลดลงครึ่งหนึ่งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า พร้อมกันนั้นยังมีหลายเสียงที่ยังคงตั้งคำถามต่อว่าแล้วเด็กที่เกิดในวันนี้มีคุณภาพมากน้อยเพียงไร เพราะจากสถิติที่สำรวจพบว่า เด็กไทยเกิดในครอบครัวยากจน ที่มีระดับรายได้ต่อครัวเรือนไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อปี ถึงกว่า 67-70 %
"ไม่เพียงเกิดมาพร้อมความยากจน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กเหล่านี้อาจต้องแถมพ่วงการขาดโอกาสในหลายเรื่อง ชีวิตที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ทำให้ผู้ปกครองอาจไม่มีเวลาให้กับลูกน้อย ลิดรอนโอกาสที่จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ การได้รับอาหารถูกตามหลักโภชนาการ และยังยึดโยงไปถึงความเสี่ยงในการต้องเป็นเหยื่อความรุนแรง หรือการรับแรงกดดันจากปัญหาความเครียดด้านรายได้ของผู้ปกครอง แน่นอนว่าปัจจัยเหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อพัฒนาการเรียนรู้ และสุขภาพจิตของเด็กโดยตรง" ณัฐยา กล่าว
ณัฐยา กล่าวเพิ่มอีกว่า การ เล่น อย่างอิสระตามช่วงวัยเป็นวิธีที่ง่ายแต่ได้ผลในการสร้างความเข้มแข็งของตัวตนและพื้นที่จิตใจเด็ก เสริมสร้างสุขภาวะ ช่วยส่งเสริมสุขภาวะทั้งกายใจเป็นเกราะป้องกันเสริมสร้างความเข้มแข็งในตัวตนเด็ก มีทักษะในการรับมือความผิดหวังสูญเสียกับวิกฤติต่างๆ ในชีวิตเมื่อโตขึ้น โดยเฉพาะนิ้วมือคือสมองที่สองของเด็กเพราะเด็กพัฒนาตนเองด้วยการเล่นได้
"เล่น" ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
การเล่น "เยียวยา" ได้จริงหรือไม่ ? พญ. ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต เคยถูกพยาบาลในหอพัฒนาการเด็กถามว่า ทําไมต้องเล่น การเล่นช่วยจริง หรือเพราะมองว่าเล่นมันดูเหมือนเรื่องเล่นๆ ตนจึงกล่าวว่า จริงๆ แล้ว การเล่นเป็นเครื่องมือสร้างเสริมสุขภาวะของเด็ก เช่นเดียวกับการส่งเสริมสุขภาพแบบอื่น อย่างกับ การวิ่ง การออกกําลังกาย ในทางจิตบำบัด องค์การอนามัยโลกเรียกว่าการเล่นคือจิตบําบัดประเภทหนึ่งที่สามารถเยียวยาในเวลาที่เด็กมีบาดแผลทางใจ ดังนั้น คิดว่าต้องพูดตั้งแต่ Mindset เลย ที่ต้องทำให้ทุกคนในสังคมโดยเฉพาะคนรอบตัวพ่อแม่ผู้ปกครองให้เห็นว่าการเล่นคือเรื่องสำคัญ
พญ. ดุษฎี กล่าวเพิ่มอีกว่า จากการลงพื้นที่ที่หนองบัวลำภูนับเป็นครั้งแรกที่มีการเยียวยาจิตใจตามหลัก Psycho Traumatology โดยใช้การเล่นเป็นสื่อกลางช่วยเยียวยาบาดแผลทางใจ นอกจากนี้ ยังถูกพิสูจน์ผลลัพธ์มาแล้ว โดยกรมสุขภาพจิตเคยมีการนำกระบวนการเล่นเข้าไปเสริมพัฒนาการฟื้นฟูเด็ก ซึ่งสามารถเปลี่ยนเด็กล่าช้าไปเป็นเด็กที่มีพัฒนาการสมวัยได้ถึง 20% สิ่งที่เด็กมีพิเศษคือ เด็กสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นเล่นเป็นเครื่องมือในการทำงานส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิตแบบหนึ่ง เป็นการปฐมพยาบาลทางใจ ด้วยเวลาเล่นเด็กรู้สึกปลอดภัย สงบสุข และยังเชื่อมใจสร้างสัมพันธ์กับพ่อแม่ ช่วยให้สงบเย็น ผ่อนคลาย สร้างพลังการมีชีวิตอยู่อย่างมีหวังที่เด็กสามารถเติมพลังด้วยตนเอง
แล้วจำเป็นต้องเล่นแค่ไหนถึงจะเรียกว่าพอดีหรือเพียงพอ ณัฐยา ให้คำตอบเรื่องนี้ว่าการเล่นสามารถเล่นได้ทุกวัน ยิ่งเล่นเยอะยิ่งดี และยิ่งเล่นอิสระยิ่งดี ที่สำคัญไม่ใช่แค่เล่นในสนามเด็กเล่น แต่การเล่นสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา
"ตนมองย้อนกลับไปในพื้นที่ที่เคยทำงาน ยืนยันเลยไม่ยาก ทำได้ง่ายๆ ทุกอย่างได้โดยธรรมชาติ มันเป็นวิถี ดังนั้นทุกคนนึกออกว่าต้องทำอย่างไร ไม่ใช่เรื่องที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญได้ ใครก็สามารถเป็นนักอำนวยการเล่น หรือ play work ได้" ณัฐยา กล่าว
จากอดีตที่ขับเคลื่อนงานภาคีเองก็ประสบปัญหาท้องถิ่นมองไม่เห็นความสำคัญในช่วงแรก มองว่า ต้องลงทุนมากมาย ซึ่งไม่มีพื้นที่ไม่มีงบประมาณ แต่แท้จริง ทุกคน ทุกที่ ทุกชุมชน และทุกบ้านสามารถสร้างระบบนิเวศการเล่นรอบตัวเด็กได้
เปิดพื้นที่เล่น ปั้น Play Worker
เพื่อปักหมุด สร้างจุดเปลี่ยนสำคัญของภารกิจ "เปลี่ยนโลก" โดยการ "เล่น" ในกิจกรรมเดียวภาคีเครือช่ายยังร่วมกันผลักดันการ เปิดตัวสมาคมการเล่นนานาชาติ สาขาประเทศไทย (International Play Association Thailand : IPA Thailand) ที่จะเป็นศูนย์กลางคณะทำงานเพื่อเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องการเล่นอิสระระหว่างนานาชาติและประเทศไทยที่มีจุดหมายปลายทางคือการสร้างโอกาสการเล่นให้กับเด็กทุกคน
ประสพสุข โบราณมูล และ พงศ์ปณต ดีคง ผู้แทนสมาคมการเล่นนานาชาติ สาขาประเทศไทย (IPA Thailand) กล่าวว่า การก่อตั้งมีเป้าหมายสำคัญคือ การส่งเสริมให้เด็กทุกคนเข้าถึงโอกาสในการเล่นอิสระ ผ่านยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงาน 3 ด้าน ได้แก่ 1.) สร้างศักยภาพผู้เกี่ยวข้องให้มีความสามารถในการสนับสนุนและส่งเสริมการเล่นอิสระ 2.) ปลุกพลังครอบครัว และชุมชนในการส่งเสริมการเล่นอิสระ 3.) สื่อสารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการส่งเสริมการเล่นอิสระ และสิทธิในการเข้าถึงโอกาสการเล่นตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อที่ 31 เรื่องการมีส่วนร่วมของเด็กผ่านการเล่น
ในแง่ภาคการขับเคลื่อน IPA Thailand จะเชื่อมโยง IPA นานาชาติ นอกจากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ๆ จากต่างประเทศ ที่จะนำมาขยาย ส่งต่อ และเผยแพร่สู่ภาคีเครือข่าย โดย IPA ประเทศไทยเป็นสื่อกลางในการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจแนวคิดเรื่องเล่นอิสระ ขณะเดียวกัน การสื่อสารเรื่องเล่นอิสระของไทยเองที่เป็นการเล่นพื้นถิ่นการเล่นจากภูมิปัญญา ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น "ทุนทางวัฒนธรรม" ที่มีคุณค่าไม่น้อยที่จะได้เผยแพร่ไปสู่สายตาชาวโลก
อีกหมุดหมายสำคัญของภารกิจคือ การส่งเสริมงานด้านผู้อำนวยการเล่นให้มีเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น ช่วยยกระดับและพัฒนาศักยภาพอาชีพ Play Worker หรือนักอำนวยการเล่น ไปสู่อาชีพหรือว่าเกียรติบัตรคุณวุฒิต่างๆ เพื่อผลักดันให้ครูที่เป็นเพลย์เวิร์กเกอร์ได้รับการรับรองมาตรฐาน และเป็นโอกาสด้านอาชีพให้คนรุ่นใหม่
ประสพสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ต่างประเทศก็มีอาชีพเพลย์เวิร์กเกอร์ เป็นอาชีพที่ยอมรับแล้วในยุโรป ซึ่งมันมีการเรียนตั้งแต่ certificate ปริญญาตรีจนไปถึงปริญญาเอกเลย ซึ่งการเป็นสมาคมจะทำให้เรามีมาตรฐาน มีใบรับรองได้ในระดับโลกต่างประเทศ
"เราเริ่มต้นจากเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกก่อน ซึ่งดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง ปัจจุบันมีพื้นที่เครือข่ายอยู่มากกว่า 40 พื้นที่ทั่วประเทศ ล่าสุดกำลังจัดงาน Let’s play festival เทศกาลเล่นอิสระ ในวันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2567 ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในงานจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้สนุกสนานและสร้างสรรค์ในแบบที่ตัวเองต้องการ เพลิดเพลินกับการเล่นแนวผจญภัยและธรรมชาติที่เน้นการเรียนรู้และการสัมผัสกับสิ่งรอบตัวในแบบใกล้ชิด จะ เล่น อะไรยังไงก็ได้ให้เป็นการเล่นแบบไม่จำกัดขอบเขต ผ่านกิจกรรมหลากหลายทั้งโซนลานเล่น ที่ให้ทุกคนได้ปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ และโซนสนุกชม ที่จะมีการแสดงและเสวนาที่น่าสนใจ ตลอดทั้ง 3 วัน" ประสพสุข กล่าว