สรุป ปาฐกถาพิเศษ “เหลียวหลังแลหน้าการปกครองของไทยใน 50 ปี"
สรุปปาฐกถาพิเศษ “เหลียวหลังแลหน้าการปกครองของไทยใน 50 ปี" โดย ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข และ "การปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม" โดย ศ.(พิเศษ) เข็มชัย ชุติวงศ์ จากงาน "50 ปี สิงห์ดำ 25 รัฐ-นิติสัมพันธ์" จัดโดย รัฐศาสตร์ จุฬาฯ รุ่นที่ 25 และ นิติศาสตร์ จุฬาฯ รุ่นที่ 15
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข กล่าวว่า เมื่อมองกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เราจะเห็นความผันผวนต่างๆ ทั้งในเวทีโลกและเวทีไทย โดยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมายในการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การผ่อนคลายความตึงเครียดของสงครามเย็น การเยือนจีนและรัสเซียของประธานาธิบดีนิกสัน สหรัฐส่งมอบเกาะโอกินาวากลับคืนสู่ญี่ปุ่น บังคลาเทศเกิดเป็นประเทศ “ซีลอน” เปลี่ยนเป็นศรีลังกาในปัจจุบัน การถอนทหารออกจากเวียดนามใต้ของสหรัฐอเมริกา และยังเป็นปีที่รัสเซียมีการกวาดล้างสายชาตินิยมในยูเครน เป็นต้น สำหรับเมืองไทย ปี 2515 เราเห็นรัฐประหาร เห็นการกำเนิดของรัฐธรรมนูญ ปี 2515 โดยยังมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 299 ที่มีนัยยะว่าการเมืองสามารถก้าวก่ายอำนาจตุลาการ ก่อให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2515 และนำไปสู่การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ การกำเนิดของขบวนการนิสิตนักศึกษาไทย หรือเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งจากนั้นเราได้เห็น Disruption ชุดใหญ่ของมิติการเมืองและสังคมไทย
มองโลกในกรอบ 10 ปี …. เราจะเห็น การกลับมาของสงครามเย็น วิกฤติสงครามที่ยังคงอยู่กับเราใน 5-10 ปี ที่ไม่ใช่แค่สงครามยูเครน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของแบบแผนสงคราม สงครามนิวเคลียร์อาจกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง รวมไปถึงวิกฤติด้านต่างๆ ทั้ง วิกฤติเศรษฐกิจโลก วิกฤติพลังงาน อาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเปลี่ยนโลกไปมากแค่ไหน
มองไทยในระยะ 1-3 ปี … เราจะเห็นปัญหาที่เป็นโจทย์ใหญ่ ทั้งการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในไทยที่จะยุ่งยากและซับซ้อน ทำอย่างไรที่จะฟื้นฟูระบบรัฐสภาให้น่าเชื่อถือ ปัญหาการปฏิรูปกองทัพ การปฏิรูปรัฐธรรมนูญไทยให้เป็นสากล ยุทธศาสตร์ชาติที่ไม่ใช่ยุทธศาสร์แต่เป็นข้อกำหนด เศรษฐกิจไทยที่ยังไม่มีคำตอบ การสร้างรัฐไทยที่มีประสิทธิภาพจากรัฐราชการรวมศูนย์ไปสู่การกระจายอำนาจ รวมถึง ความขัดแย้งที่มีอยู่ในสังคมไทยจะจบอย่างไร จะฟื้นฟูสังคมไทยอย่างไรหลังวิกฤติโควิด19 ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม จะจัดการปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้อย่างไร และคำถามใหญ่ที่สุด จะฟื้นฟูสถานะของไทยในเวทีสากล ทั้งในเวทีโลกและเวทีภูมิภาคอย่างไร ไทยควรเป็นอย่างไรในการเมืองระหว่างประเทศ
ศ.(พิเศษ) เข็มชัย ชุติวงศ์ ได้กล่าวในหัวข้อ "การปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม" มองว่า สภาพกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้คนต้องการเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดกระแสปฏิรูป เป็นผลมาจากการที่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมีทัศนคติเชิงอำนาจ ห่วงแหนรักษาอำนาจ และมีการแยกส่วนการใช้อำนาจแทนการร่วมมือกัน เน้นการนำคดีไปชำระในศาล และยังเน้นการลงโทษซึ่งสวนทางกับการแก้ไขฟื้นฟูให้คนผิดกลับสู่สังคม นอกจากนี้ กระบวนการยุติธรรมยังมีราคาแพง ทำให้คนยากจนเข้าถึงได้ยาก ขณะที่การบริหารงานมีความล่าช้า ขาดความโปร่งใส ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถรับรู้ได้ว่ากระบวนการต่างๆ ไปถึงขั้นตอนไหน
แม้ว่าจะมีการกำหนดกลไกการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งการบริหารงานใน กระบวนการยุติธรรม ให้เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ให้คนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้สะดวก ไม่เสียค่าใช้จ่ายเกินควร คุ้มครองเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ถูกแทรกแซง ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ด้อยโอกาส แต่ในปัจจุบัน ทัศนคติของเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงานจะมองว่า กระบวนการยุติธรรมเป็นการใช้อำนาจ ซึ่งกระบวนการยุติธรรมนั้น ควรเป็นเหมือนการให้บริการในรูปแบบหนึ่ง เพื่อให้ความสะดวก หรือให้มีความเดือดร้อนน้อยลง
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ ยังกำหนดการปฏิรูปในเรื่องต่างๆ ไว้ อาทิ กำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานทุกขั้นตอน ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมี มีกลไกช่วยเหลือผู้ขาดแคลนให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สร้างกลไกบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ปรับปรุงระบบการสอบสวนให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุล เป็นต้น
ทั้งนี้ ระบบกฏหมายได้บัญญัติไว้อย่างสมบูรณ์ ในการคุ้มครองให้ทุกคนได้รับความยุติธรรม โดยกฏหมายไทยไม่น้อยหน้าใครในโลก แต่ปัญหาอยู่ที่เจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ดี สังคมมีส่วนสำคัญ ปัจจุบันโซเชียลมีเดียทำให้คนสามารถแลกเปลี่ยนข่าวสาร เกิดกระแสการกดดันในทางที่ดี มีส่วนให้เจ้าหน้าที่ไม่กล้าใช้อำนาจในทางมิชอบได้ แต่การวิพากษ์วิจารณ์ของคนก็อาจสร้างความไม่เป็นธรรมได้เช่นกัน กระบวนการยุติธรรมจึงต้องการผู้ที่มีใจเป็นธรรม