ธุรกิจกับสิ่งแวดล้อมเตรียม “แบงก์ไทย” ประเมินเงื่อนไขใช้ปล่อยกู้
PwC ประเทศไทย เปิดบทวิเคราะห์ ธนาคาร และภาคการเงินของไทย ตื่นตัวเรื่องบริหารความเสี่ยงจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศต่อการทำธุรกิจ หลังแนวโน้มชี้จะมีการนำ Climate Risk Stress Test มาใช้ในอนาคตอันใกล้
นางสาว สุ อารีวงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก รวมทั้งกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตื่นตัวในการประเมินการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม หรือสภาพภูมิอากาศ กับการดำเนินงานของธนาคารมากขึ้น
โดยธนาคารกลางของสิงคโปร์ และมาเลเซีย ออกข้อแนะนำ และแนวปฏิบัติในการนำปัจจัยความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม มาเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารความเสี่ยงของธนาคาร ซึ่งในทางทฤษฎี การนำความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม มาเป็นปัจจัยส่วนเพิ่มในการบริหารความเสี่ยงที่ธนาคารมีอยู่เดิม จะทำให้ธนาคารสามารถประเมินผลกระทบของความเสี่ยงได้อย่างมีความแม่นยำมากขึ้น
ปัจจุบันมี Climate Risk Stress Test ด้วยการนำปัจจัย และสถานการณ์ต่างๆ มาใช้ในการทำ Stress Testing เช่น ปัญหาภาวะโลกร้อน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนี้ แบงก์จะต้องตื่นตัวในการบริหารความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"กระแสของการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG ถือเป็นหนึ่งในพลวัตสำคัญของโลกที่ทุกภาคส่วนรวมทั้งหน่วยงานกำกับร่วมกันผลักดัน ทำให้เกิดเป็นแนวทางปฏิบัติ requirement และกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ภาคธุรกิจจะต้องปฏิบัติตามเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาโลกร้อน"
นอกจากนี้ พบว่าจะการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าที่มีธุรกิจที่มีความเสี่ยงด้าน ESG ต่ำ รวมไปถึง การออกสินเชื่อสีเขียว (Green loan) ซึ่งปัจจุบัน เริ่มเห็นธนาคารหลายแห่งออกผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ หรือ มีการพูดคุยกับลูกค้าถึงแนวทางบริหารความเสี่ยงด้าน ESG และมีการเก็บข้อมูลที่จำเป็นต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งฐานข้อมูล ที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์ผลกระทบของความเสี่ยงด้าน ESG ให้มีความแม่นยำมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ธนาคารต้องเชื่อมต่อตัวธุรกิจเข้ากับแผนการบริหารความเสี่ยงด้าน ESG ให้เป็นแบบ End-to-end framework ครอบคลุมไม่ใช่แค่ตัวธุรกิจ แต่รวมถึงสังคม คู่ค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ ควรนำเครื่องมือเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยง และออกผลิตภัณฑ์ หรือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เพื่อช่วยให้องค์กรจัดการกับความเสี่ยง และผลตอบแทนที่คาดหวังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์