แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ  ภัยเงียบสิ่งแวดล้อม(จากฝีมือมนุษย์)

ในงานประชุมประจำปีของศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และพิษวิทยา ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นักศึกษาปริญญาโท

คนหนึ่งได้นำเสนอผลงานที่น่าสนใจ เธอแสดงให้เห็นว่าแบคทีเรียดื้อยาในโรงพยาบาลนั้น วิวัฒนาการได้เร็วแค่ไหนถ้าเพาะเลี้ยงในอาหารที่มียาปฏิชีวนะในปริมาณที่น้อยเกินกว่าจะคร่าชีวิตมันได้ คำตอบคือ ไม่กี่วัน และที่น่าตื่นเต้นระคนตกใจก็คือ การดื้อต่อยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่งนั้นอาจจะส่งผลให้มันสามารถดื้อต่อยาปฏิชีวนะตัวอื่นๆ ตามไปด้วยได้เช่นกัน เป็นไปได้ว่ากลไกบางอย่างที่วิวัฒนาการขึ้นมานั้นอาจจะจัดการกับยาได้หลายชนิด (หรือที่น่ากลัวกว่าคือ หลายกลุ่ม)

“อะไรที่ไม่ฆ่าคุณ จะทำให้คุณแข็งแกร่งขึ้น” คำพูดนี้เป็นจริงเสมอ สำหรับแบคทีเรียดื้อยาอัตราการเกิดวิวัฒนาการนั้นขึ้นกับความไวในการสร้างความหลากหลาย วิวัฒนาการของแบคทีเรียนั้นเกิดขึ้นได้รวดเร็วมาก เพราะสามารถแบ่งจากหนึ่งเป็นสองได้ในเวลาเพียงแค่สั้นๆ แค่ราวๆ ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น จากหนึ่งก็กลายเป็นสองแล้ว

โอกาสความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ในทุกการแบ่งเซลล์คือ การกลายพันธุ์ ยิ่งขยายมากรุ่น การสะสมการกลายพันธุ์ก็เกิดขึ้นได้สารพัดแบบกลายเป็นความหลากหลายในกลุ่มประชากรแบคทีเรีย ความหลากหลายนี้เป็นเหมือนดาบสองคม เราใช้ประโยชน์มากมายจากความหลากหลายในธรรมชาติ แต่ในมุมของการรักษาโรค ความหลากหลายคือ โอกาสในการดื้อต่อยาของแบคทีเรีย

จินตนาการว่าแบคทีเรียเดิมที่ไม่ดื้อยา พอเจอยาก็จะค่อยๆ ล้มหายตายจากไป แต่พวกที่สะสมการกลายพันธุ์ไปจนดื้อต่อยาได้ก็จะทนอยู่ได้ และสร้างปัญหาเกิดเป็นสายพันธ์ุดื้อยาขึ้นมาสร้างปัญหาไม่รู้จบ ถ้ามองในมุมวิวัฒนาการ การดาร์วิน ยาก็คือ แรงคัดเลือกทางธรรมชาติ

จินตนาการว่าแบคทีเรียเดิมที่ไม่ดื้อยา พอเจอยาก็จะค่อยๆ ล้มหายตายจากไป แต่พวกที่สะสมการกลายพันธุ์ไปจนดื้อต่อยาได้ก็จะทนอยู่ได้ และสร้างปัญหาเกิดเป็นสายพันธ์ุดื้อยาขึ้นมาสร้างปัญหาไม่รู้จบ ถ้ามองในมุมวิวัฒนาการ การดาร์วิน ยาก็คือ แรงคัดเลือกทางธรรมชาติ

งานวิจัยจากคณะทำงานความร่วมมือแบคทีเรียดื้อยา (antimicrobial resistance collaborators) ที่เพิ่งเผยแพร่ลงในวารสาร the lancet เมื่อตอนต้นปี 2022 เผยว่าอัตราการเสียชีวิตจากแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะในปี 2019 นั้นสูงมากถึงเกือบ 5 ล้านคนมากยิ่งกว่าอัตราผู้เสียชีวิตจากมัจจุราชตัวท็อปอย่างเอดส์ หรือมาลาเรียเสียอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากในวงการสาธารณสุข

ปัญหานี้เป็นปัญหาระดับโลก ที่ทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน ในหลายประเทศอย่างสหรัฐ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักรและอีกหลายประเทศในแถบยุโรป เริ่มที่จะมองภาพต่างไปจากเดิม อดีต เราอาจจะมองว่าปัญหานี้เป็นประเด็นทางการแพทย์ แต่ถ้ามองในองค์รวม ปัญหานี้ใหญ่กว่าแค่วงการสาธารณสุข ที่จริง นี่เป็นประเด็นในเชิงสิ่งแวดล้อม และอาหาร

“ปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะทั้งหมดในการเลี้ยงไก่เนื้อในปี 2016 นั้นอาจมีสูงถึงราวๆ 161 ตัน” งานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 2018 ในวารสาร Bulletin of World Health Organization โดยทีมวิจัยจากหน่วยวิจัยเวชศาสตร์เขตร้อนมหิดล-ออกซ์ฟอร์ด (Mahidol-Oxford Research Unit, MORU)

เผยทีมนักวิจัยจาก MORU ได้ออกสำรวจฟาร์มไก่จำนวน 8 ฟาร์ม และพบว่ามีถึง 3 ฟาร์มที่ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อการป้องกันโรคในระหว่างเพาะเลี้ยง ซึ่งจากการประเมินพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ไก่ 1 กิโลกรัมจะได้รับยาปฏิชีวนะมากกว่า 100 มิลลิกรัมในการเพาะเลี้ยง ซึ่งยาที่ใช้ก็ไม่ได้มีแค่ชนิดเดียว แต่รวมเอายาหลักเกือบทุกตัวที่พบได้ในโรงพยาบาล เช่น อะม๊อกซีซิลิน (amoxicillin) โคลิสติน (colistin) ออกซีเตตราไซคลิน (oxytetracycline) ดอกซีไซคลิน (doxycycline) และทิลมิโคซิน (tilmicosin)

แน่นอนว่าในทางบิซิเนส นี่อาจจะเป็นหนึ่งวิธีที่น่าสนใจในการช่วยป้องกันโรคร้ายที่อาจสร้างความเสียหายในฟาร์ม แต่นี่เป็นเรื่องที่น่าตกใจในวงการแพทย์ อย่าลืมว่าเมื่อใดที่ใช้ยา ก็ต้องมียาตกค้างทั้งในสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญในเนื้อไก่

“อะไรที่ไม่ฆ่าคุณ จะทำให้คุณแข็งแกร่งขึ้น” ยาที่ตกค้างปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมนี้เองที่เป็นประเด็น เพราะมันคือ แรงคัดเลือกที่อาจจะช่วยให้พวกแบคทีเรียกลายพันธุ์ดื้อยาโดดเด่นขึ้นมาได้ในสิ่งแวดล้อม และถ้าพวกกลายพันธุ์พวกนั้นก่อโรคได้ในคน นี่คือ ปัญหาที่วงการแพทย์ต้องกุมขมับ และต้องรีบหาทางจัดการ แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ  ภัยเงียบสิ่งแวดล้อม(จากฝีมือมนุษย์)

ในหลายประเทศ กระแสต่อต้านการใช้ยาปฏิชีวนะในวงการอาหาร และเกษตรเริ่มมีให้เห็นได้ ในรูปแบบของกำแพงทางการค้า หากมีตรวจเจอยา (หรือแบคทีเรียดื้อยา) ในผลิตภัณฑ์ ล็อตนั้นคือ ตีกลับ แค่นั้นเลย ไม่ยืดเยื้อ

แต่คำถามคือ แล้วในประเทศของเราเองล่ะ ตระหนักกับเรื่องนี้แล้วเพียงใด และเริ่มมีใครที่คิดค้นวิธีแก้ที่ชัดเจนแล้วหรือยัง เพราะสุขภาพที่ดี ต้องมาจากอาหารที่ดี และสภาพแวดล้อมที่ดี…

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์