โจทย์ที่ชาวโลกยังสอบตกซ้ำซาก | ไสว บุญมา
สื่อใหญ่ในกรุงวอชิงตันตีแสกหน้าชาวโลกว่าสอบตกเมื่อการประชุมเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศครั้งที่ 27 ขององค์การสหประชาชาติเริ่มขึ้นในตอนต้นสัปดาห์นี้ที่อียิปต์
สถานการณ์โลกชี้ว่า เมื่อการประชุมครั้งที่ 28 เวียนมาถึงซึ่งจะเป็นที่ดูไบในตอนปลายปีหน้า การตีแสกหน้าแบบเดียวกันจะเกิดขึ้นอีก การประชุมประจำปีว่าด้วยเรื่องนี้มีขึ้นเพราะผู้นำโลกส่วนใหญ่ยอมรับว่า โลกกำลังร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง
และพฤติกรรมของเราเป็นปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้น โลกที่ร้อนขึ้นสร้างความเสียหายร้ายแรงมาก หากเราไม่เปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อทำให้มันหยุดร้อนเพิ่มขึ้น เราจะอยู่ต่อไปได้ยาก
ในการประชุมทุกครั้ง ผู้นำประเมินสถานการณ์และตกลงกันว่าจะทำอะไรต่อไปโลกจึงจะไม่ร้อนขึ้นจนถึงกับทำให้เราสูญพันธุ์ หลังจากทำเช่นนั้น 20 ครั้ง ปรากฏว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างจริงจังดังที่ประเทศต่าง ๆ ได้สัญญาไว้ไม่เกิดขึ้น ในการประชุมครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีสเมื่อปี 2558 จึงเกิดข้อตกลงที่เป็นเสมือนการเริ่มต้นใหม่ซึ่งจะได้รับการประเมินในการประชุมครั้งที่ 26 เมื่อปีที่แล้ว
ก่อนการประชุมครั้งที่ 26 รัฐบาลอเมริกันนำโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทิ้งข้อตกลงดังกล่าว เนื่องจากชาวอเมริกันเป็นผู้นำในด้านการทำให้โลกร้อนเพราะปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด เมื่อสหรัฐทิ้งข้อตกลงนั้น การประชุมครั้งที่ 21 จึงจบด้วยการสอบตกของชาวโลก
หลังนายทรัมป์แพ้การเลือกตั้งเมื่อปี 2563 รัฐบาลสหรัฐนำโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน เก็บข้อตกลง ณ กรุงปารีสกลับมาและเข้าร่วมการให้คำมั่นสัญญากับชาวโลกใหม่เมื่อปีที่แล้ว
ในช่วงเวลา 12 เดือนที่ผ่านมาปรากฏว่า รัฐบาลต่าง ๆ แทบไม่ได้ทำอะไรอย่างมีนัยสำคัญตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ นอกจากความไม่ค่อยเต็มใจ
ปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้นรวมทั้งสงครามในยูเครน การระบาดของโลกร้าย และภัยธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ใช้ทรัพยกรจำนวนมากส่งผลให้ไม่มีเหลือพอใช้สำหรับในด้านการเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นสพ. วอชิงตันโพสต์จึงออกมาตีแสกหน้าพวกเราดังกล่าวข้างต้น
เนื่องจากการประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นที่อียิปต์ บีบีซีได้เสนอเรื่องชาวอียิปต์ครอบครัวหนึ่งซึ่งสะท้อนปัญหาพื้นฐานของการไม่เปลี่ยนพฤติกรรม กล่าวคือ ครอบครัวคนขายเนื้ออายุ 32 ปีมีลูกแล้ว 5 คน เขาเก็บความตื่นเต้นไว้ไม่อยู่จึงบอกลูกค้าทุกคนว่า ภรรยาเขาเริ่มตั้งท้องลูกคนที่ 6
เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงชาวอียิปต์เมื่อราว 40 ปีก่อนซึ่งเป็นตอนที่ผมมีส่วนในการประเมินทิศทางการพัฒนาของอียิปต์ ภาพสตรีที่ผมเห็นบนทางเท้าในกรุงไคโรทำให้ผมสะท้อนความหดหู่ใจ
ออกมาเป็นกลอนบ่งชี้ปัญหาพื้นฐานอันเป็นการเพิ่มขึ้นของประชากรแบบไม่หยุดยั้งทั้งที่เลี้ยงไม่ได้ไว้ดังนี้ (ขออภัยที่ใช้คำไม่ค่อยสุภาพ บริบททั้งหมดมีอยู่ในหนังสือเรื่อง “จดหมายจากวอชิงตัน” ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีที่ bannareader)
เธอเอาหัวนมใหญ่ใส่ปากลูก แต่นมเหี่ยวติดกระดูกไม่เต่งเต้า
ส่วนลูกน้อยก็คงหิวไม่เบา แกดูดเอ๊า...ดูดเอา...ดูดเอาลม
ซี่โครงแม่ซี่โครงลูกถูกกัน สายสัมพันธ์สดชื่นหรือขื่นขม?
อันโลกนี้มีไว้ให้ชื่นชม? หรือโศกตรมอดอยากตรากตรำ?
มันสะใจหรือยังภาพข้างหน้า? สร้างขึ้นมาแล้วทรมานมันให้หนำ?
อย่าอย่า…อย่าบอกว่าเพราะกรรม มึงใจดำสร้างคนจนไว้ล้นเมือง
ในช่วงเวลา 4 ทศวรรษ ชาวอียิปต์สะท้อนชาวโลกส่วนใหญ่ซึ่งมิได้เปลี่ยนพฤติกรรมอย่างมีนัยสำคัญ การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาอเมริกันเมื่อวันอังคารที่ผ่านมานี้ชี้ชัดว่า รัฐบาลสหรัฐนำโดยนายไบเดนจะทำอะไรได้ยากหากต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ทั้งนี้ เพราะเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรตกอยู่ในกำมือของพรรคริพับลิกันซึ่งนายทรัมป์เป็นผู้นำโดยพฤตินัย จึงคาดได้ว่าปีหน้าวอชิงตันโพสต์จะออกมาตีแสกหน้าเราอีก
คอลัมน์นี้พูดถึงสถานการณ์ด้านภูมิอากาศหลายครั้ง ทุกครั้งจบด้วยข้อสรุปว่าโลกจะยังร้อนขึ้นไปเพราะชาวโลกส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมอย่างมีนัยสำคัญ การสร้างภูมิคุ้มกันความเสียหายร้ายแรงจากภาวะโลกร้อนจึงยังเป็นทางออก