Thailand Pavilion ขับเคลื่อนในรูปแบบ BCG ชูนิทรรศการสีเขียว

Thailand Pavilion ขับเคลื่อนในรูปแบบ  BCG ชูนิทรรศการสีเขียว

ไทยชูความสำเร็จการขับเคลื่อนวาระเศรษฐกิจในช่วงสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ และเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการขับเคลื่อนวาระ BCG ของไทย

  เป้าหมายการจัดนิทรรศการนำเสนอศักยภาพ BCG ของประเทศไทย เป็นการแปลงวาระ BCG ให้เห็นเป็นรูปธรรม ในแบบ BCG in Action คู่ขนานไปกับการหารือในกรอบการประชุมเอเปค นิทรรศการนี้จะเป็นพื้นที่สร้างการรับรู้ว่าประเทศไทย ได้ทำอะไรไปบ้างที่มีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อน ประเด็นความยั่งยืนของโลกภายใต้วาระ BCG จากผลงานด้านต่างๆ ของหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนไทย และอีกส่วนที่สำคัญคือ การฉายภาพผลสำเร็จที่จับต้องได้ว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ผู้ประกอบการ ภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจไทยอย่างไร

 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้กล่าวเปิดงานนิทรรศการว่า ยินดีกับการจัดงานซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค แสดงถึงความพร้อม และความมุ่งมั่นของไทยในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อการพัฒนาภูมิภาคและโลก เชื่อมั่นว่างานนิทรรศการครั้งนี้จะแสดงให้เห็นผลงานของไทยที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ และเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการขับเคลื่อนวาระ BCG ของไทย โดยเฉพาะประโยชน์ที่พี่น้องคนไทยได้รับ และความเกี่ยวโยงของแนวคิด BCG กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก รวมทั้งนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมชื่นชมการจัดนิทรรศการที่ถือเป็นแบบอย่างของการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนในประเทศ ที่มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ของทุกกลุ่มคนในสังคมอย่างเต็มรูปแบบ และเป็นที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง 

 

นอกจากนี้ภาพรวมนิทรรศการ พื้นที่จัดนิทรรศการหลักอยู่ในฮอลล์ 2 ชั้น G ในรูปแบบ Thailand Pavilion แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก  นำเสนอการขับเคลื่อน BCG ของภาครัฐ ส่วนเสนอผลิตภัณฑ์ BCG ภายใต้แคมเปญ “50 BCG Heroes” ของกระทรวงพาณิชย์ และงาน “Expo 2028-Phuket” ซึ่งแนวคิดการจัดงานมุ่งเรื่องความยั่งยืน และนำเสนอความโดดเด่นการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง BCG ของภาคเอกชน โดยทั้งสามส่วนจะร้อยเรียงเป็นเรื่องราวด้วยกัน

Thailand Pavilion เพื่อให้วาระ BCG มีความเป็นรูปธรรมในแบบ BCG in Action แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 

1. การขับเคลื่อน BCG ของภาครัฐผ่านโครงการสำคัญของหน่วยงานต่างๆ  ซึ่งมีทั้งหมด 4 โซน ได้แก่ 1.1 โซนมิติท่องเที่ยว -  นำเสนอแนวคิดการท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน (Regenerative Tourism) 1.2 โซนมิติอุตสาหกรรม - สร้าง BCG Ecosystem ที่เชื่อมโยงกับความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร โลจิสติกส์ การวิจัยและการพัฒนา และบุคลากร โดยมี EEC เป็นอุตสาหกรรมศักยภาพของไทย 1.3 โซนมิติการเกษตร – พัฒนาประสิทธิภาพและมาตรฐานของการเกษตร เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร สอดคล้องกับความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน 1.4 โซน Bangkok Goals on BCG

 

Economy – บทสรุปถึงพัฒนาการของการดำเนินการ BCG ที่ผ่านมาในประเทศไทย และจัดแสดงความเชื่อมโยงของ BCG กับวาระสำคัญของโลก 

2. การนำเสนอผลิตภัณฑ์ BCG ภายใต้แคมเปญ “50 BCG Heroes” ของกระทรวงพาณิชย์ และงาน “Expo 2028 – Phuket” ซึ่งมีแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาความยั่งยืนของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) กระทรวงสาธารณสุข และจังหวัดภูเก็ต

3. การนำเสนอการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ (Responsible Business Conduct: RBC) ของภาคเอกชน โดยเป็นการดำเนินการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และการเกษตรเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

โดยพื้นที่นิทรรศการส่วนไฮไลต์ จะจัดอยู่ที่ชั้น 1 บริเวณโถงใกล้ห้องประชุม Plenary ที่จะดึงไฮไลต์สำคัญ ของนิทรรศการในฮอลล์ 2 มาจัดแสดงให้ผู้นำได้มีโอกาสชม บรรยากาศของนิทรรศการจะเหมือนการเดินชม Museumใช้มัลติมีเดียหลายๆ รูปแบบเล่าเรื่องราวในแต่ละส่วน และผู้ชมสามารถมี interaction กับตัวนิทรรศการได้ทุกจุด หน่วยงานที่เข้าร่วมในนิทรรศการภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล / บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ / และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์