แผนหนุนส่งออกลุยGreen Economy ยึดโอกาสตลาดใหม่เติบโตได้อย่างยั่งยืน

แผนหนุนส่งออกลุยGreen Economy  ยึดโอกาสตลาดใหม่เติบโตได้อย่างยั่งยืน

สนค.เปิดแผนหนุนตลาดสินค้าสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ปูทางการค้าไทยยึดโอกาสตลาดGreen Economy ขณะ EXIM BANK จัดเต็มของขวัญปีใหม่ 2566 ด้วย "สินเชื่อพลิกฟื้นธุรกิจส่งออก"

การส่งออก ไทยช่วงท้ายปี ส่งสัญญาณติดลบ 2 เดือนต่อเนื่องกันกำลังชี้ว่าปี 2566 การส่งออกซึ่งมีส่วนสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจประเทศและรายได้ในกระเป๋าคนไทยหลายๆคน ถึง 70% นั้น กำลังอยู่ในอาการ"ไม่สดใส"
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)  เปิดเผย จากกระแสการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม การดูแลปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ทำให้ดีมานด์ผู้บริโภคจากนี้ มีแนวโน้มการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งมองด้านหนึ่งอาจเป็นความท้าทายที่ธุรกิจต้องปรับตัวทั้งที่่เพิ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และยังเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลกอันเป็นผลจากวิกฤติพลังงานจากปัญหาความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ดังนั้นหากจะให้ปรับตัวอีกคงเป็นเรื่องยาก และอาจต้องใช้เงินทุนอีกมาก

อย่างไรก็ตาม ดีมานด์ผู้บริโภคเรื่องความยั่งยืนนี้ ก็เป็นโอกาสจากส่วนหนึ่งของGreen Economy ซึ่งหากผู้ส่งออกไทยเข้าไปยึดครองตลาดไว้ได้ก่อนโอกาสการเติบโตทางการค้าจะมีความเข้มแข็งและยั่งยืน
ทั้งนี้ ภาครัฐโดยกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดแผนรับมือกับความท้าทายและช่วยเหลือผู้ประกอบการไว้ทั้งรายใหญ่และรายย่อย ในการเปลี่ยนแปลงสู่การค้าสีเขียว อาทิ ให้ความรู้ ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวและแข่งขันได้ในการค้ารูปแบบใหม่ รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์แนวโน้มและกฎระเบียบการค้ารูปแบบสีเขียวอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านเศรษฐกิจการค้า ตัวอย่างการดำเนินการ ดังนี้
 

โดยในส่วนของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)
- โครงการเศรษฐกิจแพลตฟอร์มขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ผู้นำ BCG ยุคใหม่ โครงการนำร่องในการผลักดันการพัฒนาและส่งออกสินค้า BCG มีสินค้านำร่อง ได้แก่ อาหารแห่งอนาคต (อาหารฟังก์ชัน อาหารใหม่ อาหารทางการแพทย์ อาหารออร์แกนิก เป็นต้น) สมุนไพรไทย สินค้าไลฟ์สไตล์ และสินค้าวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยพัฒนาผู้ประกอบการและส่งเสริมการใช้นวัตกรรม ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้า ตลอดจนส่งเสริมการขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และจัดกิจกรรม OBM ในปีงบประมาณ 2565 มีผลการดำเนินการเสร็จสิ้น รวม 61 กิจกรรม ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ 4,868 ราย สร้าง
มูลค่าการค้า 5,366.20 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1,036.75 ของเป้าที่ตั้งไว้ทั้งปี (เป้าหมาย 517.60 ล้านบาท) และมีการเข้าถึงสื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ BCG 20.54 ล้านครั้ง

- การลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมผู้ประกอบการในด้านการบริหารก๊าซเรือนกระจก เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2565 ระหว่าง สค. และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการไทยด้านการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้สามารถปรับตัวและเข้าถึงการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ลดการปลดปล่อยคาร์บอนในการดำเนินธุรกิจ สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืน และแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

- การสร้างผู้ประกอบการนำร่อง BCG Heroes ยกระดับผู้ประกอบการไทยเตรียมพร้อมด้านการค้าสร้างการรับรู้และเข้าใจถึงความสำคัญและประโยชน์ของการดำเนินธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถนำความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผลักดันให้เกิดการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์หมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ หรือนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้ความรู้และฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการลดการปล่อยคาร์บอนในวัฏจักรผลิตภัณฑ์ เพื่อนำไปสู่การขอรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์(Carbon Footprint)
   นอกจากนี้ สนค.ได้ดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการยกระดับการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG(ปีงบประมาณ 2566) เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพ ค้นหา และคัดเลือกวิสาหกิจชุมชนต้นแบบ (Best Practice) ในภาคการผลิตสินค้าและภาคบริการ ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG นำมาบ่มเพาะพัฒนาศักยภาพให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และแข่งขันได้ในโลกการค้ายุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจะจัดท าข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และส่งมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นแนวทางในการฏิบัติต่อไป
- โครงการศึกษาแนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจไทย เพื่อเตรียมพร้อมต่อมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม: กรณีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ปีงบประมาณ 2566) ศึกษารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำรายงานการศึกษาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจนำไปใช้ประโยชน์

รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ในปี 2566 สถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกเต็มไปด้วยความเสี่ยงและโอกาสที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ โดยความเสี่ยงหลัก ๆ มาจากความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจสําคัญอย่างสหรัฐฯ และยุโรป ที่อาจรุนแรงถึงขั้นถดถอย ขณะที่สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น กระทบต่อต้นทุนการผลิตและการเงินของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะบุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจและ SMEs อาจได้รับผลกระทบมากกว่า

โอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจในตลาดโลกยังมีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในตลาดที่มีศักยภาพ อาทิ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และตะวันออกกลาง อีกทั้งสินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกอยู่อีกมาก อาทิ อาหาร และสินค้าที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว EXIM BANK ร่วมกับสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง จึงจัดทํามาตรการของขวัญเพื่อส่งมอบความสุขต้อนรับปีกระต่ายให้แก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยและ Rebate เงินคืน ดังนี้

1.สินเชื่อพลิกฟื้นธุรกิจส่งออก เพื่อบุคคลทำธุรกิจ และ SMEs

EXIM BANK ให้ “อัตราดอกเบี้ย” 4.34% ต่อปีถึงไม่เกิน 6.60% ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน สำหรับลูกค้ารายเดิมและรายใหม่ ด้วย 3 ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้คนตัวเล็กกล้ามีความกล้าและความพร้อมที่จะเริ่มต้นธุรกิจ คือ

- สินเชื่อบุคคลทำธุรกิจ (EXIM Personal biz)

ครั้งแรกของการปลดล็อกให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดาสามารถกู้ EXIM BANK ได้ โดยได้รับเงินทุนเริ่มต้นธุรกิจสูงสุด 5 แสนบาท เมื่อมียอดขายและจ่ายดี EXIM เพิ่มทุนให้อีกสูงสุดรวม 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 6.60% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน

- สินเชื่อเพื่อผู้ส่งออกป้ายแดง

ผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้ประกอบการกลุ่ม Startup และ SMEs มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับเริ่มต้นส่งออกได้ วงเงินสูงสุด 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 4.34% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน

- สินเชื่อ EXIM Shield Financing

ผลิตภัณฑ์เพื่อ SMEs ที่ต้องการเริ่มต้นหรือขยายตลาดส่งออก เป็นเงินทุนหมุนเวียนพร้อมความคุ้มครองกรณีผู้ซื้อในต่างประเทศไม่ชำระเงินค่าสินค้า วงเงินสูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 5.09% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน

2. มาตรการแก้หนี้รับปีกระต่าย ตัดต้นก่อนดอก ยืดหนี้

สำหรับลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนของ EXIM BANK ธนาคารขยายเวลาชำระหนี้ ร่วมกับการตัดเงินต้นก่อนดอกเบี้ย รวมทั้งคืนเงิน 2% ของดอกเบี้ยจ่ายสะสม หากชำระหนี้เป็นปกติ เพื่อช่วยลดภาระและต้นทุนทางการเงินให้แก่ลูกหนี้ และแก้ไขปัญหาหนี้ของลูกค้าอย่างยั่งยืน

โดย EXIM BANK ได้มีสินเชื่อพลิกฟื้นธุรกิจส่งออก อัตราดอกเบี้ยพิเศษ และพิเศษในปีนี้ ธนาคารมีสินเชื่อให้แก่บุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจให้พร้อมเริ่มต้นส่งออกได้ และมาตรการแก้หนี้ ตัดต้นก่อนดอก ยืดหนี้ พร้อมคืนเงิน 2% หากชำระเป็นปกติ เพื่อให้ภาคธุรกิจมีกำลังใจและสภาพคล่อง รับโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจในการทำให้เศรษฐกิจของประเทศในปีหน้าได้อย่างคล่องตัวได้อย่างยั่งยืนต่อไป