จับตาสิ่งแวดล้อมโลก และสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2566 | วิจารย์ สิมาฉายา

จับตาสิ่งแวดล้อมโลก และสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2566 | วิจารย์ สิมาฉายา

สถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก World Economic Forum (2022) ได้ประเมินความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดของโลก ในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม 3 อันดับแรก

ประกอบด้วย ความล้มเหลวของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความแปรปรวนสภาพอากาศแบบสุดขั้ว และความสูญเสียของความหลากหลายทางชีวภาพ 

โดยเห็นได้ชัดในรอบปี 2564-2565 สถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกและสิ่งแวดล้อมไทยแปรปรวนค่อนข้างสูง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกก็ได้สรุปว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ทั้งในยุโรป อเมริกา เอเชีย และออสเตรเลีย ได้แก่ อุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปี เสียชีวิตมากกว่า 100 คนที่ประเทศเบลเยียม 

อุทกภัยในแคนาดาในรอบ 100 ปี อุทกภัยที่เมืองเจิ้งโจวในประเทศจีน และกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ อุทกภัยในรอบ 100 ปีที่มีปริมาณน้ำฝนกว่า 600 มิลลิเมตร รวมทั้งอุทกภัยในรอบ 100 ปี ที่เมืองเนลสัน ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นต้น 

จับตาสิ่งแวดล้อมโลก และสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2566 | วิจารย์ สิมาฉายา

ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกันที่เกิดอุทกภัยต่อเนื่องกันกว่า 3 ปี โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน

ความท้าทายสู่เป้าหมาย Net Zero กระแสโลกได้ให้ความสำคัญของการประกาศเจตนารมณ์ของผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร 

เป้าหมายที่จะควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส โดยกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ได้กำหนดจะไปถึงเป้าหมาย ในปี 2050 (พ.ศ.2593) โดยประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายไว้สามระยะ คือ 

ระยะที่หนึ่ง ปี 2030 (พ.ศ.2573) ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% หากได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน และเทคโนโลยี ระยะที่สอง เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ในปี 2050 (พ.ศ.2593) และระยะที่สาม เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065 (พ.ศ.2608)

ประเด็นสำคัญเราจะไปถึงจุดหมายนั้นอย่างไร? โดยเฉพาะการเปลี่ยนรูปแบบพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่เป็นสัดส่วนสูงในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้ประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในสัดส่วนไม่ถึง 1% ของโลก แต่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบอันดับที่ 9 ของโลก

จับตาสิ่งแวดล้อมโลก และสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2566 | วิจารย์ สิมาฉายา

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จากการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในปี 2566 จะมีความแห้งแล้ง เข้าสู่เอลนีโญ (El Nino) ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะปัญหามลพิษทางอากาศ จากการแพร่กระจายของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพฯ จากการจราจร การเผาในพื้นที่โล่งพื้นที่ชานเมือง และสภาพอากาศปิด 

รวมทั้งพื้นที่ภาคเหนือ จากการเผาในพื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตร ที่เกิดปัญหาเกือบทุกปีแม้ในช่วงปีที่ผ่านมา ปัญหานี้ไม่ค่อยรุนแรงเนื่องจากมีฝนตกเป็นระยะๆ 

สิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ การปรับค่ามาตรฐาน PM 2.5 ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดให้ค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกินกว่า 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (จากเดิม 25)

และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงมีค่าไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (จากเดิม 50) ซึ่งค่ามาตรฐานเดิมก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ จึงจำเป็นจะต้องมีมาตรการพิเศษและดำเนินการอย่างเข้มข้นในปีนี้ และปีต่อๆ ไป

จับตาสิ่งแวดล้อมโลก และสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2566 | วิจารย์ สิมาฉายา

ขยะพลาสติกและขยะทะเล ก็ยังเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ การระบาดโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ขยะมูลฝอยในภาพรวมลดลง เหลือประมาณ 24-25 ล้านตันต่อปี เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง จากสภาพปกติประมาณ 27-28 ล้านตันต่อปี

แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวพบว่ามีปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มกว่า 50% ในเขตกรุงเทพฯ และมากกว่า 20% ในเมืองอื่นๆ 

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การต้อนรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวในปี 2566 การจัดการขยะ การวางแผน การสร้างระบบที่เหมาะสมก็จะต้องรีบดำเนินการ โดยปัญหานี้กำลังถูกหยิบยกเป็นปัญหาสำคัญของโลก ที่จะหยุดยั้งการปนเปื้อนขยะพลาสติกในทะเล 

โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายจะมีข้อตกลงฉบับใหม่เกี่ยวกับขยะพลาสติกภายในปี 2567 บนพื้นฐานการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืน และตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยได้เริ่มการเจรจาครั้งแรกของประเทศสมาชิกแล้วในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

จับตาสิ่งแวดล้อมโลก และสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2566 | วิจารย์ สิมาฉายา

รัฐ เอกชน ประชาชน ต้องร่วมมือกันมากขึ้น ประเทศไทยเองได้ให้ความสำคัญของการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ที่มุ่งพัฒนาบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม

การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า นำของเสียไปใช้ประโยชน์ ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ 

ในขณะที่ผู้ประกอบการได้ให้ความสำคัญของการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม เพื่อสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคแนวใหม่ และการดำเนินธุรกิจการตามกรอบ ESG (Environment, Social, Governance) โดยการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดูแลสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล สู่ธุรกิจที่ยั่งยืน 

ประกอบกับการออกกฎระเบียบด้านการค้าระหว่างประเทศที่ได้ให้ความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และหลายบริษัทก็ได้ตั้งเป้า Net Zero ตามหรือก่อนเป้าหมายของประเทศ โดยเพิ่มบทบาทของกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้วย

จับตาสิ่งแวดล้อมโลก และสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2566 | วิจารย์ สิมาฉายา

การสร้างพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็ยังต้องดำเนินการให้เกิดผล ให้ความสำคัญของการลดและแยกขยะที่ต้นทาง เหตุการณ์ที่น่าเป็นห่วง จากการสำรวจการทิ้งขยะลงทะเลในปีที่ผ่านมา จะพบหน้ากากอนามัยถูกทิ้งในทะเล และชายฝั่งเป็นจำนวนมากขึ้น

หรือการจัดกิจกรรมมหกรรมดนตรี หรือการเคานต์ดาวน์ฉลองปีใหม่ที่ผ่านมา หลังกิจกรรมจะมีเศษขยะเต็มไปหมด ซึ่งแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสาธารณะของสังคมไทย

ในขณะที่อีกซีกหนึ่งของโลกแฟนฟุตบอลจากประเทศญี่ปุ่น ร่วมเก็บขยะที่ถูกทิ้งในสนามฟุตบอลหลังการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์

สุดท้าย ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมจากเหตุการณ์การทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานภาครัฐด้านป่าไม้ ที่กระเทือนวงการสิ่งแวดล้อม และการบริหารราชการของประเทศในปลายปีที่ผ่านมา ก็น่าจะนำมาเป็นบทเรียน ขยายผลในการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการใช้งบประมาณของรัฐ 

การดำเนินการอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ ตามหลักธรรมาภิบาล ทั้งด้านการประเมินความโปร่งใส การตรวจสอบ และการแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ให้มีความเหมาะสม สร้างขวัญ และกำลังใจให้ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต เพื่อปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติส่งต่อลูกหลานรุ่นต่อไป โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์