การฝึกอบรมนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม | วิจารย์ สิมาฉายา
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goalsหรือ SDG) เป็นเป้าหมายของโลกที่สู่การพัฒนาอย่างสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
ในปี พ.ศ. 2573 ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมได้สอดแทรกในเป้าหมายต่างๆมากกว่าครึ่งจากทั้ง 17 เป้าหมาย เหลืออีกประมาณ 8 เป้าหมาย ก็ต้องยอมกันว่าปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ยังปรากฏอยู่ ได้แก่ ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า ปัญหาขยะมูลฝอย ปัญหาน้ำเสีย ปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เป็นต้น
นอกจากนี้เราก็ยังประสบกับปัญหาใหม่จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ ปัญหาน้ำท่วม ภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยและมีผลกระทบรุนแรงขึ้น
การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจำเป็นจะต้องอาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากงานวิจัยไปขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งการกำหนดนโยบายให้เหมาะสมและทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
การพัฒนาหลักสูตรการอบรมนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศและของโลก ทิศทางการพัฒนาและสร้างเครือข่ายนักวิจัย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการวิจัยที่จะมุ่งไปสู่การแก้ไขปัญหาในประเด็นสิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ (Agenda-Based) หรือในเชิงพื้นที่ (Area-based)
ให้สามารถเกิดการวิจัยแบบบูรณาการและต่อยอดจากการวิจัยเดิมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สามารถประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs: Sustainable Development Goals)
ในช่วงปี พ.ศ. 2558-2573 ซึ่งประเทศไทยได้นำ SDGs มาบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (ปี 2566-2570)
ที่เน้นความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนแม่บทด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง และวาระแห่งชาติ ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model, BCG) รวมทั้งการดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศ
ได้แก่ ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ตามอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (UNFCCC) และการแสดงเจตนารมณ์ของประเทศไทยต่อเวทีโลก ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26)
ที่ประเทศไทยมีเป้าหมายเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608)
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) โดย ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
และในปี 2565 จัดให้มีการฝึกอบรมแบบออนไลน์ จำนวน 6 หลักสูตร ครอบคลุมประเด็นสำคัญๆ ประกอบด้วย 1) หลักสูตรการวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2) หลักสูตรการวิจัยด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม 3) หลักสูตรการวิจัยด้านสังคมเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4) หลักสูตรการวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ 5) หลักสูตรการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ และ 6) หลักสูตรการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม
แต่ละหลักสูตรได้รับการพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิประจำหลักสูตร ทั้งในด้านเนื้อหา กิจกรรม รูปแบบการฝึกอบรม ฯลฯ มีระยะเวลาในการฝึกอบรม แต่ละหลักสูตรไม่น้อยกว่า 18 ชั่วโมง มีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวนกว่า 600 คน ประเมินจากเวลาการเข้าร่วมกิจกรรมและผ่านการทดสอบตามเกณฑ์ที่กำหนด
จากผู้สมัครเข้าร่วมการฝึกอบรมกว่า 2,000 คน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างนักวิจัยเชิงระบบแบบบูรณาการ เพื่อให้งานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ และสร้างเครือข่ายนักวิจัยที่จะดำเนินโครงการวิจัยร่วมกันลักษณะสหสาขาวิชาเชิงบูรณาการและมุ่งสู่การแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่
จากการฝึกอบรมทั้ง 6 หลักสูตร สรุปได้ว่า นักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมทั้งจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคเอกชน ให้ความสนใจต่องานวิจัยที่รองรับปัญหามลพิษทางอากาศจาก PM2.5 ปัญหาขยะมูลฝอยชุมชน ปัญหาน้ำเสียในแหล่งน้ำธรรมชาติและพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ
ตลอดจนการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นฐานทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาประเทศ รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมใหม่ที่จะส่งผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ได้แก่ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
วช. และ TEI คาดหวังว่า จากการฝึกอบรมในครั้งนี้นักวิจัยสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับ ไปพัฒนาข้อเสนอโครงการให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับความต้องการใช้ประโยชน์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ.