เปิดเวทีระดมผู้นำรัฐ-เอกชน ถกทางแก้ปัญหาโลกร้อน
เปิดฉาก CAL Forum รุ่นที่ 2 รวมผู้นำองค์กรภาครัฐและเอกชน ระดมสมองถกทางออกรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สู่การบรรลุเป้าหมายเน็ตซีโร่ 2065
จากเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญสูงสุดต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะยกระดับการแก้ไขอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้บรรลุเป้า(Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี 2065
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมริเริ่มโครงการ Climate Action Leaders Forum หรือ CAL Forum ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ได้แก่
1. Climate Action Literacy สร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤติสภาพภูมิอากาศ และความสำคัญของการดำเนินงานลดโลกร้อน ด้วยความรับผิดชอบร่วมในระดับที่แตกต่าง
2. Climate Action Communication สร้างเวทีสื่อสาร แลกเปลี่ยนแนวคิด และประสบการณ์เพื่อนำไปสู่บทบาทการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ด้วยการเรียนเชิญท่านผู้นำจากทุกภาคส่วน มาร่วมสร้างเวทีระดับผู้นำรูปแบบใหม่ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด ประสบการณ์ การมีส่วนร่วมลดโลกร้อน ตลอดจนสร้างเวทีสื่อสาร เพื่อนำไปสู่บทบาทการลดก๊าซเรือนกระจก สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และบรรลุตามเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Greenhouse Gas Emission ของประเทศต่อไป
โดยในปีนี้ มีการสานต่อเจตนารมณ์สู่เวทีผู้นำ CAL Forum รุ่นที่ 2 โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเปิดเวทีและปาฐกถาถึงการยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานภายในประเทศ อาทิ การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การค้าและการลงทุน การพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต การเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับ ก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เป็นต้น
นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า การพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่พูดกี่ครั้งก็ยังเหมือนเดิม หากไม่ช่วยกันลงมือทำก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นเหตุให้ต้องตั้งคำถามถามว่า เมื่อไหร่จะลงมือทำกันสักที
ปัจจุบัน มนุษย์โลกมีประชากรแตะ 8,000 ล้านคน ซึ่งยิ่งประชากรมากขึ้นเท่าไหร่ นั่นหมายถึงการใช้ทรัพยากรยิ่งมากขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งมนุษย์ทุกคนตั้งแต่ลืมตาดูโลกไปก็จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรทั้งสวมใส่เสื้อผ้า กินอาหาร ทิ้งขยะ ซึ่งถ้าเราไม่ลงมือทำเดี๋ยวนี้ โลกเราจะไปต่อไม่ได้
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ในอนาคตกิจกรรม CSR ด้านสิ่งแวดล้อมของเอกชนควรหันมาลงทุนในตลาดคาร์บอนเครดิตให้มากขึ้นซึ่งจะเป็นหนึ่งมนแรงจูงใจสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
รวมทั้ง ภาครัฐยังได้มีการเตรียมพร้อมด้านอีโคซิสเต็มของตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต และการกำหนดสิทธิประโยชน์ในด้านการส่งเสริมการลงทุน เพื่อส่งเสริมให้ภาคการผลิตนำมาใช้ในการขับเคลื่อนประเด็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่ได้กำหนดเป้าหมายในช่วง 5 ปีข้างหน้าอย่างชัดเจน ว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20%
ทั้งนี้ ท้ายที่สุดแล้วการดำเนินการทั้งหมดต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายเพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาให้เกิดความสำเร็จ ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนได้เริ่มต้นไปแล้ว และจากนี้จะต้องมีการขยายผลต่อไป