รถเมลล์ร่วมฯในกทม.โอนคาร์บอนเครดิตไปสวิสฯได้หลังเปลี่ยนเป็นอีวี

รถเมลล์ร่วมฯในกทม.โอนคาร์บอนเครดิตไปสวิสฯได้หลังเปลี่ยนเป็นอีวี

รถร่วมบริการ หรือ รถเมลล์ร่วมในกรุงเทพมหานครมีภาพลักษณ์ที่ติดตามคนไทยในหลายๆด้าน แต่อีกด้านหนึ่งที่รถร่วมบริการเหล่านี้กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ด้านการดูแลสิิ่งแวดล้อม นั่นคือการผลิตคาร์บอนเครดิต

การเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นรถโดยสารสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า หรือ อีวี ซึ่งไม่เพียงดีในแง่การรักษาสิ่งแวดล้อม ลดฝุ่น ลดควันรำคาญจมูกเท่านั้นแต่การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ สร้างกลไกคาร์บอนเครดิตที่สามารถนำไปแลกกับการเข้าถึงแห่งทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย 

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบหนังสือการอนุญาต (Letter of Authorization: LoA) ให้ดำเนินโครงการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางสาธารณะของภาคเอกชนเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (รถร่วมบริการ) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิตก่อนเข้าสู่กระบวนการถ่ายโอนให้กับสมาพันธรัฐสวิส 

รถเมลล์ร่วมฯในกทม.โอนคาร์บอนเครดิตไปสวิสฯได้หลังเปลี่ยนเป็นอีวี

โดยการเห็นชอบดังกล่าวเป็นไปตามข้อเสนอกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)  ซึ่งระบุว่าการดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงฯ จะส่งเสริมให้ประเทศไทยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเรียนรู้แนวทางการดำเนินงานเพื่อนำมาต่อยอดในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุ NDC ของไทย หรือ การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally determined contributions)และสามารถเข้าถึงเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

ทั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้บริษัท South Pole ได้รับเงินสนับสนุนจากสมาพันธรัฐสวิสให้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนผ่านการใช้รถโดยสารประจำทางสาธารณะเป็นรถโดยสารประจำทางสาธารณะไฟฟ้าสำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศและผลประโยชน์ร่วมต่าง ๆ เช่น การลดฝุ่น PM 2.5 

โดยบริษัท South Pole ได้ร่วมกับบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) พัฒนารายละเอียดการดำเนินงาน (Mitigation Activity Design Document: MADD) โครงการฯ ซึ่ง สผ. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) กรมการขนส่งทางบก บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท South Pole มีการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณารายละเอียดการดำเนินงานโครงการฯ รวม 2 ครั้ง และเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความสอดคล้องตามแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย

"การเริ่มการเปลี่ยนผ่านจากรถโดยสารสาธารณะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นรถโดยสารสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้าครอบคลุมเส้นทางเดินรถโดยสารไฟฟ้าที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางจากกรมการขนส่งทางบก คาดว่าจะส่งผลให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก 100 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) ต่อคันต่อปี หรือ 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 - 2573(ค.ศ. 2021 - 2030)"

ทั้งนี้ ความสำเร็จจากโครงการ สามารถยื่นขอการรับรองภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากโครงการT-VER สามารถถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรื่อนกระจกระหว่างประเทศ(Internationally Transferred Mitigation Outcomes: ITMOs)หลังจากได้รับการรับรองว่าสอดคล้องกับข้อตกลงฯและข้อ 6.2 ของความตกลงปารีส

 เมื่อการดำเนินโครงการเป็นไปตามเป้าหมายคือได้คาร์บอนเครดิตอย่างถูกต้องเป็นที่ยอมรับแล้ว บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) จะถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการฯ ให้แก่มูลนิธิKLiK (The Foundation for Climate Protection and Carbon Offset) ของสมาพันธรัฐสวิส

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) โดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมายมีหนังสือแจ้งไม่ขัดข้องต่อ (ร่าง) หนังสือการอนุญาต และเพื่อให้สอดคล้องกับข้อ 9 และข้อ 12.3 ของแนวทางฯ สผ. ควรพิจารณาเสนอร่างหนังสือการอนุญาตฯ พร้อมกับโครงการที่จะอนุญาตให้มีการถ่ายโอนระหว่างประเทศและการใช้ผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น จากการดำเนินโครงการดังกล่าวตามข้อตกลงฯ เพื่อให้ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ