CBAM: ภาษีคาร์บอนที่ผู้ส่งออกไทยต้องรู้
สวัสดีครับในปีที่แล้ว ปากีสถานเผชิญกับฝนมรสุมที่ตกสะสมเป็นเวลาหลายเดือน เมืองบางแห่งได้รับน้ำฝนมากกว่าปกติหลายร้อยเท่าจนน้ำท่วมพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของปากีสถาน ชี้ว่าวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้
เป็นผลจากการที่ประเทศร่ำรวยยังไม่สามารถปฏิบัติตามคำมั่นที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง ทำให้เรานึกเทียบเคียงกับประเทศเล็กๆ
อย่างไทย ที่แม้สัดส่วนการปล่อยคาร์บอนจะไม่มากนัก แต่ตามGlobal Climate Risk Index 2021 แล้วเราเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโลกรวนมากในอันดับสูงสุด 10 ประเทศของโลก และตัวอย่างนี้เป็นเพียงหนึ่งในภัยพิบัตินานัปการที่นับวันจะรุนแรง ยาวนาน และส่งผลเป็นวงกว้างยิ่งขึ้น
ด้วยตระหนักว่าภาวะโลกร้อนส่งผลให้ลมฟ้าอากาศแปรปรวนอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ประเทศต่างๆ ก็ได้เริ่มออกแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แน่นอนว่าหากผู้ประกอบการภายในประเทศต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนลงจากกิจกรรมทางธุรกิจ ผลิตภัณฑ์และสินค้าก็ย่อมราคาสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้นหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่เป็นเศรษฐกิจหลักของโลก จึงเริ่มทยอยใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures) เพื่อไม่ให้เสียเปรียบผู้ประกอบการในประเทศอื่นที่ยังไม่ได้ลงทุนเพิ่มเติม
เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหนึ่งในกลไกหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการไทยจึงควรทำความรู้จักมาตรการกีดกันทางการค้าดังกล่าว อาทิ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรปในการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนสำหรับสินค้านำเข้าบางประเภท เพื่อให้สะท้อนปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่แท้จริง พูดง่ายๆ ว่ายุโรปจะเก็บ “ภาษีคาร์บอน” จากประเทศที่ส่งออกสินค้าไปยังยุโรปนั่นเอง โดยสินค้าห้ากลุ่มแรกที่จะถูกเรียกเก็บค่าคาร์บอน ได้แก่ บริการไฟฟ้า ซีเมนต์ ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม
สหภาพยุโรปจะเริ่มบังคับใช้ CBAM ในช่วงแรกแบบเปลี่ยนผ่าน (Transitional Phrase) ตั้งแต่เดือนต.ค. 2566 โดยผู้นำเข้าสินค้าเพียงแค่รายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยยังไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม และในปี 2569 สหภาพยุโรปจะบังคับใช้ CBAM อย่างเป็นทางการ ผู้ประกอบการสินค้าส่งออกของไทยจึงมีหน้าที่ยื่น CBAM Declaration เพื่อรายงานว่าสินค้าได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเท่าไร ซึ่งจะถูกนำมาคิดค่าคาร์บอนในรูปแบบภาษีคาร์บอน ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังตลาดสหภาพยุโรปคิดเป็น 8.2% ของการส่งออกสินค้าไทยทั้งหมดในไตรมาสที่ 3/2565 ในขณะที่อัตราการขยายตัวของการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปอยู่ที่ 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ไม่เพียงแต่สหภาพยุโรปเท่านั้นที่ออกนโยบายลงโทษผู้ผลิตมลพิษอย่างจริงจัง ประเทศอื่นก็กำลังใช้หรือกำลังพิจารณาปรับใช้มาตรการลักษณะเดียวกับ CBAM อาทิ สหรัฐอเมริกาได้เสนอร่างแผนจัดเก็บภาษีนำเข้าผู้ก่อมลพิษ (Polluter Import Fee) ไต้หวันก็วางแผนเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนในอัตราประมาณ 10 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งแม้จะสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ยังห่างจากอัตราที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่าได้ผลในการจำกัดภาวะโลกร้อน คือประมาณ 75 ดอลลาร์ต่อตัน ส่วนในประเทศไทย กรมสรรพสามิตเตรียมศึกษาแนวทางจัดเก็บภาษีคาร์บอน โดยกำลังพิจารณาตามวิธีสากลสองวิธี คือเก็บจากกระบวนการผลิตหรือเก็บจากตัวสินค้าที่ปล่อยคาร์บอน
ดังนั้น เพื่อที่จะลดค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างราบรื่นโดยที่ยังคงรักษาความสามารถในการค้าขาย ผู้ประกอบการไทยต้องเริ่มลงทุนปรับโครงสร้างการผลิต บุคลากร หรือระบบ ให้สอดคล้องกับมาตรการดังกล่าวของประเทศคู่ค้า ซึ่งเปรียบเสมือนแรงกดดันทางอ้อมให้บรรดาผู้ผลิตสินค้าในประเทศกำลังพัฒนาหันมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ยั่งยืน และร่วมกันเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) นั่นเองครับ