บีโอไอบูมเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ ยกระดับพื้นที่ - ลดความเหลื่อมล้ำประเทศ

บีโอไอบูมเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่  ยกระดับพื้นที่ - ลดความเหลื่อมล้ำประเทศ

ตามยุทธศาสตร์ใหม่ของบีโอไอในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2566 – 2570) คือ การมุ่งส่งเสริม การลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” (New Economy) ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม และสังคม

เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างทั่วถึง และยั่งยืน  

หัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การเติบโตอย่างทั่วถึง และยั่งยืน คือ การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยนโยบาย และหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ บีโอไอได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้

1. พื้นที่เป้าหมายศักยภาพสูง ซึ่งจะมีส่วนในการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ได้แก่  เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม และบริการใหม่ๆ ,นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวของโรงงานอุตสาหกรรม และเกิดบริหารจัดการที่ดีในภาคอุตสาหกรรม ,เขตวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งรองรับการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (Space Krenovation Park: SKP) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of innovation: EECi) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) และย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี รวมถึง Digital Park & Digital Valley เพื่อขับเคลื่อนไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub)

2. พื้นที่เป้าหมายอื่นๆ ที่มีส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) ทั้งในส่วนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 จังหวัด และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค  ประกอบด้วยพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเมืองต้นแบบ และพื้นที่ 20 จังหวัด ที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ เพื่อกระจายรายได้ และลดความยากจนข้ามรุ่น รวมถึงเมืองรองด้านการท่องเที่ยว เพื่อกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ

 

 

ทั้งนี้ ในช่วง 5 - 8 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2558 - 2565) บีโอไอได้ให้การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมายรวม 4 พื้นที่ ดังนี้

EEC ตั้งแต่ปี 2560 – 2565 มีการขอรับการส่งเสริม จำนวน 150 โครงการ มีมูลค่า 205,450 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล เป็นต้น

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ตั้งแต่ปี 2558 – 2565 มีการขอรับการส่งเสริม จำนวน 105 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุน 28,900 ล้านบาท โดยการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมเบา และกิจการโลจิสติกส์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการ ที่จ้างแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน

พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2558 – 2565 มีการขอรับการส่งเสริมจำนวน 71 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุน 20,374 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า และอุตสาหกรรมการเกษตร

ส่วนพื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ ตั้งแต่ปี 2558 – 2564 มีการขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น 313 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุน 73,885 ล้านบาท โดยจังหวัดสระแก้ว มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมมากที่สุด รองลงมา คือ จังหวัดบุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ สกลนคร มุกดาหาร และอุบลราชธานี ตามลำดับ

สำหรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค  ภาคเหนือ หรือ NEC  เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative LANNA

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ NeEC นครราชสีมา  ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ฐานอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bioeconomy) ภาคกลาง - ตะวันตก หรือ CWEC พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และ กาญจนบุรี อุตสาหกรรมเกษตร การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ กทม. และพื้นที่โดยรอบ และ EEC

ภาคใต้ หรือSEC ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เชื่อมโยงการค้า และโลจิสติกส์ และภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน (BIMSTEC) ฐานอุตสาหกรรมชีวภาพ และการแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง และเพื่อยกระดับคุณภาพ และมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่นานาชาติเศรษฐกิจ 

การสร้างงาน สร้างอาชีพโดยมีพื้นที่เป็นเป้าหมายจะลดช่องว่างด้านรายได้ของคนในประเทศ รวมถึงเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจใหม่ เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างทั่วถึง และยั่งยืนในอนาคต

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์