“CCS”เทคโนโลยีจับ-ใช้คาร์บอน ป้องโลกปลอดจากภัย“ไคลเมทเชนจ์”
กิจกรรมต่างๆของมนุษย์ได้สร้างก๊าซที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกและเป็นสาเหตุของปัญหาโลกร้อนซึ่งนำไปสู่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change
มีทางเลือก 2 อย่างเพื่อหยุดห่วงโซ่แห่งปัญหานี้ 1. คือ หยุดกิจกรรมทุกอย่างไม่ให้เกิดคาร์บอน ซึ่งคำตอบคือ ทำไม่ได้ เหลืออีกหนึ่งทางเลือก นั่นคือ “ดักจับและกักเก็บคาร์บอน”เอาไว้ในที่ที่ปลอดภัย
ทางออกที่ว่านี้คือเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ข้อมูลจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า CCUS เป็นเทคโนโลยีการดักจับ CO2 แล้วนำมากักเก็บไว้ในชั้นหินใต้ดินแบบถาวร (Carbon Capture and Storage: CCS) หรือใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น (Carbon Capture and Utilization: CCU) ซึ่งแนวคิด CCUS กำลังได้รับแรงขับเคลื่อนและสามารถประยุกต์ใช้ได้ในกระบวนการอุตสาหกรรมหลากหลายที่กำลังปล่อย CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ
นุชนารถ ศิริง้วน, นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีกระบวนการและพลังงานประยุกต์, สถาบันนวัตกรรม ปตท. กล่าวในงานPTT Group Tech & Innovation Day จัด โดย บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ว่า สามารถจัดการคาร์บอนได้ด้วย CCU โดย 1.แปลงเป็นผลิตภัณฑ์ อย่างเชื้อเพลิง เคมิคอล โพลิเมอร์ วัสดุแปลกใหม่ และสารแต่งเติมอาหาร
2.การแปลงคาร์บอนโดยตรง คือน้ำมันและก๊าซ อาหารเครื่องดื่ม วัสดุในอุตสาหกรรม สารทำความเย็น วัสดุดับเพลิง โดย 80% ของ คาร์บอน ความต้องการตอบสนองโดยการดักจับต้นทุนต่ำจากแหล่งที่มีความเข้มข้นสูงของคาร์บอน
"ความต้องการใช้คาร์บอนสูงขึ้น 270 ล้านตันต่อปี ในปี 2568 และเติบโตอย่างต่อเนื่องถึง 1,000 ล้านตันต่อปี ในปี 2583
ซึ่งสอดคล้องกับกระบวนการในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิด CCSการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรม และนำมากักเก็บไว้ในชั้นหินใต้ดินอย่างถาวร โดยไม่มีการปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ"
โดยเป็นเทคโนโลยีที่หลาย ๆ ประเทศวางแผนให้เป็นเทคโนโลยีหลักในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ในปริมาณมากกว่าเทคโนโลยีแบบอื่น โดย ปตท.ได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียม ด้วยการพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
จิรัฏฐ์ อุดมศรี, Business Lead, CCS, PTTEP กล่าวว่า ตัวเลือกในการจัดเก็บคาร์บอนนั้นมีอยู่ 3 แบบ 1.ชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดิน 2.ชั้นหินกักเก็บปิโตเลี้ยมที่ผลิตไว้แล้ว 3.เพิ่มอัตราการผลิตด้วยการอัดกลับของคาร์บอน
การประเมิน CCS แบ่งเป็น 1. ความสามารถ ทางหลักการธรณีวิทยาและแบบจำลองไดดามิก 2.การบรรจุ การกักเก็บคาร์บอนใต้พื้นผิวและการสุ่มแบบจำลองในการเก็บคาร์บอนในน้ำ 3.การวิเคราะห์ผลกระทบการเก็บกักคาร์บอนในดินและน้ำ
โดยมีโมเดล CCS Hubโดยจะเริ่มศึกษาในพื้นที่ปฏิบัติการกลุ่ม ปตท. จังหวัดระยองและชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง (Nearshore) เพื่อรองรับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเขตอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกมีวัตถุประสงค์
“ลดการปล่อยมลพิษจากคลัสเตอร์อุตสาหกรรมตะวันออก เป็นกระดูกสันหลังที่สําคัญสําหรับ CCS ระดับชาติและอื่น ๆปูทางสําหรับโอกาสระดับโลกในโครงการ CCS และการเปลี่ยนผ่านพลังงานได้อย่างยั่งยื่นทั้งในปัจจุบันและอนาคต”
สอดคล้องกับข้อมูลจาก องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่าถึงการใช้งาน CCU คือ โดยตรง เช่น ไม่เปลี่ยนแปลงทางเคมี หรือโดยอ้อม เช่น เปลี่ยนรูป เกิดเป็นเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ปัจจุบันมีการใช้คาร์บอนประมาณ 230 เมตริกตัน ในแต่ละปี
“ส่วนใหญ่ใช้ในวิถีทางโดยตรงในอุตสาหกรรมปุ๋ยสำหรับการผลิตยูเรีย และสำหรับการนำน้ำมันกลับมาใช้ใหม่ การใช้ประโยชน์ใหม่ในการผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่ใช้คาร์บอน สารเคมีและมวลรวมของอาคารกำลังได้รับแรงผลักดัน”
ล่าสุดมีการจัดตั้ง Thailand CCUS Consortium ขึ้นโดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงาน รวบรวมข้อมูลตลอดจนร่วมวางแผนและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน CCUS ให้กับประเทศไทย โดยมีหน่วยงานเอกชนระดับแนวหน้าของประเทศเข้าเป็นสมาชิกร่วม Consortium ดังต่อไปนี้
กลุ่มอุตสาหกรรม Oil&Gas : บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน : บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กลุ่มอุตสาหกรรมซีเมนต์ : บริษัท เอส ซี จี ซีเมนต์ จำกัด (มหาชน)กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด
กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก : บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) และมีหน่วยงานภาครัฐและองค์กรสาธารณะเป็นที่ปรึกษาของ Consortium ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
เทคโนโลยีเพื่อการดูแลโลกในยุคใหม่ จะต้องตอบโจทย์ได้ทั้งการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมขณะเดียวกันกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ต้องเดินหน้าต่อไปได้เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจหมายถึงความสะดวกและสบายการใช้ชีวิตอยู่ของมวลมนุษยชาติโดยรวมด้วย