รัฐบาลใหม่รับไม้ต่อพัฒนา“นวัตกรรม” โซลูชั่นธุรกิจและการผลิตที่ยั่งยืน
ความไม่แน่นอนในการค้าโลก การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวรับมือความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งนี้ แนวทางการรับมือย่างหนึ่งคือการสร้าง“นวัตกรรม”
ในงาน “บทบาทสำคัญของนวัตกรรมต่ออัตราการเจริญเติบโตของผลิตภาพในประเทศไทย” และ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ธนาคารโลก(World bank) เมื่อเร็วๆนี้ ได้ชี้ถึงสถานะและแนวทางการนำนวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือการพัฒนาสู่ความยั่งยืน
พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการสภานโยบาย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องโฟกัสการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรม การวางกฎหมายให้นวัตกรรมประสบความสำเร็จได้ แม้แต่เปลี่ยนรัฐบาลก็ตามแนวทางดังกล่าวก็ยังต้องดำเนินไปอย่างแน่วแน่
นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญกับSME เพราผู้ประกอบการ 90 % ส่วนใหญ่คือ SME ต้องสร้างโอกาสการเติบโตและต้องทำอย่างต่อเนื่องจึงจะประสบความสำเร็จในอนาคต
“สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ การปรับโครงสร้างทางอุดมศึกษาเพื่อรองรับประชากรรุ่นใหม่ ที่จะขับเคลื่อนประเทศได้อย่างยั่งยืนรวมไปถึงเพิ่มศักยภาพเรื่องทางวิิทยศาสตร์ของไทยให้ดีขึ้น ซึ่งนวัตกรรมจะดีอย่างเดียวไม่ได้ เศรษฐกิจและสังคมไทยต้องดีขึ้นตามไปด้วย”
จากมุมมองนักพัฒนาที่มองว่า การกำหนดนโยบายเป็นเรื่องสำคัญเป็นเหมือนกระดุมเม็ดแรกที่จะส่งต่อการทำงานไปยังจุดต่อๆไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งในมุมมองของภาคธุรกิจมีความเห็นเรื่องแนวทางการพัฒนาและการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆไว้อย่างน่าสนใจ
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)กล่าวว่า ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัวเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม การผันผวนของค่าเงินทำให้ค่าแรงของประเทศไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในมุมมองภาคเอกชน คือ การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ยกระดับประสิทธิภาพในหลากหลายมิติ และ ด้านการสร้างการเติบโต บนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อมอย่าง Sustainable Development and Growth หรือเติบโตสมดุล ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต
สำหรับการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน อย่าง 1.ปรับปรุง ประสิทธิภาพการผลิต ลดค่าใช้จ่าย (LEAN) 2. บริหารความเสี่ยงทางการเงิน 3.นำเทคโนโลยีและดิจิทัล มาช่วยในการดำเนิน ธุรกิจ สร้างการผลิต ที่มาพร้อมกับบริการ 4.ยกระดับมาตรฐาน ฝีมือแรงงาน Upskill/Reskill 5.ให้ความสําคัญ สิ่งแวดล้อม/ ใช้พลังงานทดแทน 6.รักษาห่วงโซ่อุปทานใน การผลิต (Supply Chain Security)
ด้านซาเวียร์ ซิเรรา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส แนวปฏิบัติระดับโลกด้านการค้าและความสามารถในการแข่งขันธนาคารโลก กล่าวว่า ความท้าทายที่ไม่เคยมีมาก่อนกำลังคุกคามรูปแบบการเติบโตของภูมิภาคเช่นเดียวกับดีมานด์ต่างๆที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว สวนทางผลผลิตที่ลดลงประกอบกับความไม่แน่นอนในการค้าโลก การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ประเทศไทยและภูมิภาคส่วนใหญ่ดําเนินการเรื่องการใช้นวัตกรรมเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงต่างๆได้ในระดับต่ำกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้ซึ่งวัดจากการประดิษฐ์คิดค้นต่างๆเช่น การใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา สิทธิบัตร มีบริษัทเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาขณะที่โดยคุณภาพการจัดการก็ไม่เพียงพอและอยุ่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์โลก ส่วนทักษะแรงงานก็ยังพบว่าขาดความหลากหลายและสนองความต้องการใช้งานจริง
“ภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางนโยบายนวัตกรรมสําหรับประเทศส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้ต่ำและปานกลาง ความล้มเหลวทางการตลาดความหลากหลายของปัจจัยเสริมในระดับสถาบันที่ขาดหายได้เพิ่มความซับซ้อนเชิวนโยบายด้านนวัตกรรม”
โดยความสามารถของรัฐบาลในการออกแบบ ดําเนินการ และประสานงานว่าด้วยการผสมผสานนโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อจัดการด้านการพัฒนานวัตกรรมนั้นก็พบว่า มีความล้มเหลวและยังช่องว่างมากมากทำให้ทิศทางการพัฒนานวัตกรรมยังมีความอ่อนแอ
ดังนั้น แนวทางแก้ปัญหาและต่อยอดไปสู่การพัฒนาด้านนวัตกรรมอย่างยั่งยืน คือการผสมผสานนโยบายด้านนวัตกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากนั้นก็ใช้การออกแบบเชิงนโยบายให้นำไปปฎิบัติได้ง่าย และที่สำคัญคือต้องไม่ลืมจูงใจให้ธุรกิจ หรือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของนวัตกรรมที่จะเป็นช่องทางการพัฒนาที่ยั่งยืน