รู้จัก 'เบียร์รักษ์โลก' แนวใหม่ รีไซเคิล 'น้ำทิ้ง' ให้ดื่มได้
เปิดแนวคิดเบื้องหลัง “เบียร์น้ำทิ้ง” ปลุกจิตสำนึกรักษ์โลก จากกลุ่มผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่ได้ทุนจาก “บิล เกตส์” หวังรับมือปัญหาขาดแคลนน้ำในสหรัฐซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
ขณะที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าภาวะขาดแคลนน้ำจะเกิดขึ้นในสหรัฐอย่างเร็วที่สุดในปี 2567 ผู้ประกอบการบางส่วนก็พยายามออกผลิตภัณฑ์เบียร์แนวรักษ์โลกที่รีไซเคิลจาก “น้ำทิ้ง” ในครัวเรือน และอาจจะได้วางจำหน่ายตามร้านค้าทั่วประเทศในไม่ช้าก็เร็ว
ตัวอย่างเช่น “Epic OneWater Brew” เบียร์กระป๋องสไตล์คอลช์ (Kölsch) ที่ผลิตจากน้ำฝักบัว น้ำซักผ้า และน้ำก๊อกใช้แล้ว ซึ่งผ่านการกรองให้บริสุทธิ์เพื่อให้สามารถดื่มได้
- ได้ทุนสนับสนุนจากมูลนิธิเกตส์
ผลิตภัณฑ์นี้เป็นไอเดียของ “Epic Cleantec” บริษัทเทคโนโลยีการรียูสน้ำในนครซานฟรานซิสโก ซึ่งแจ้งเกิดจากโครงการ “Reinvent the Toilet Challenge” ของมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์
- หน้าตาเบียร์กระป๋อง Epic OneWater Brew ที่ทำจากน้ำทิ้งรีไซเคิล (เครดิตภาพ: sfgate) -
อย่างไรก็ตาม บริษัทดังกล่าวเน้นสร้างระบบรียูสและบำบัดน้ำที่ใช้แล้วเป็นหลัก ไม่ใช่การผลิตเบียร์ โดยผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท 4 คน ได้แก่ ไอแลน เลวี, โอเด็ด ฮัลเพอริน และคู่พ่อลูก อิกอร์และแอรอน ทาร์ทาคอฟสกี ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิเกตส์เมื่อปี 2555 ก่อนจะเปิดบริษัทอย่างเป็นทางการในปี 2558
ทั้งนี้ Epic Cleantec ไม่สามารถจำหน่ายเบียร์ของตนที่ผลิตร่วมกับพันธมิตรอย่างบริษัท Devil’s Canyon Brewing เนื่องจากสหรัฐมีกฎหมายที่เข้มงวดทั้งระดับรัฐและรัฐบาลกลางที่บังคับใช้ทั่วประเทศ
- แอรอน ทาร์ทาคอฟสกี ผู้ร่วมก่อตั้ง Epic Cleantec (เครดิตภาพ: sfgate) -
อย่างไรก็ดี แอรอน ทาร์ทาคอฟสกี เปิดเผยว่า บริษัทสามารถแจกจ่ายเบียร์ให้ประชาชนฟรี เพื่อขยายความตระหนักรู้และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่ยังไม่ถูกใช้ประโยชน์มากนักของการรียูสน้ำทิ้ง
“น้ำอยู่ทั่วทุกหนแห่งในวงจรชีวิตของเรา ทั้งช่วยหล่อเลี้ยงอาหารที่เรากิน ใช้อาบน้ำ ทำอาหาร และทำความสะอาด แต่เรากลับรู้จักวัฏจักรของน้ำน้อยมาก ทั้งขั้นตอนกว่าจะเป็นน้ำประปาให้เราใช้ และน้ำที่ใช้แล้วไปไหนต่อ” ทาร์ทาคอฟสกีกล่าว
ทาร์ทาคอฟสกีเสริมว่า บริษัทของเขาพยายามที่จะขยายความเรื่องราวของน้ำด้วยวิธีที่แตกต่าง และในกรณีนี้ บริษัทใช้ “เบียร์” เป็นสื่อกลางในการบอกเล่าเรื่องน้ำ
- จากน้ำฝักบัวสู่เบียร์กระป๋องดื่มได้
“การดื่มเครื่องดื่มที่ทำจากน้ำฝักบัวรีไซเคิลอาจฟังดูไม่น่าอภิรมย์นัก แต่ปลอดภัยแน่นอน แค่ทำให้มั่นใจด้วยวิทยาศาสตร์” ทาร์ทาคอฟสกีระบุ
- โรงผลิตเบียร์ของ Devil’s Canyon Brewing ซึ่งเป็นพันธมิตรกับ Epic Cleantec (เครดิตภาพ: Epic Cleantec) -
ในขั้นตอนกักเก็บน้ำ Epic Cleantec จะใช้น้ำทิ้งจากอพาร์ตเมนต์ 40 ชั้นแห่งหนึ่งในซานฟรานซิสโก ผ่านระบบกรองโดยใช้เยื่อบางแบบอัลตราฟิลเตรชัน (UF) ซึ่งแต่ละชั้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 0.001% ของเส้นผมมนุษย์
นอกจากนี้ เยื่อแต่ละชั้นยังทำหน้าที่กรองสิ่งเจือปนออกจากน้ำ ซึ่งจากนั้นจะถูกนำไปฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตราไวโอเลต
“เราเลียนแบบระบบชีววิทยาที่เกิดขึ้นในท้องมนุษย์” ทาร์ทาคอฟสกีกล่าว และว่า ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย (end product) จะถูกนำไปทดสอบในห้องแล็บของบริษัทอีกแห่งหนึ่ง เพื่อให้ตรงตามมาตรฐานหรือบางครั้งก็เกินมาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มที่รัฐบาลกลางกำหนด
- มั่นใจมีกฎหมายรับรองในไม่ช้า
ปัจจุบัน เครื่องดื่มจากน้ำทิ้งที่ผ่านการรีไซเคิล ยังไม่สามารถจำหน่ายต่อสาธารณชนในสหรัฐได้ แต่ทาร์ทาคอฟสกีบอกว่า ข้อจำกัดดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงในอีกไม่นานนี้
- ผลิตภัณฑ์เบียร์กระป๋อง Epic OneWater Brew (เครดิตภาพ: Epic Cleantec) -
ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โคโลราโด และฟลอริดา ต่างกำลังร่างกฎเกณฑ์เพื่อทำให้น้ำทิ้งที่ผ่านการรีไซเคิลเข้าสู่ระบบน้ำที่สามารถดื่มได้ ขณะที่ในรัฐเทกซัสและแอริโซนา ได้ออกกฎหมายรับรองให้ใช้น้ำทิ้งรีไซเคิลเป็นน้ำก๊อกที่ดื่มได้ในที่สาธารณะแล้ว
อย่างไรก็ตาม การสร้างความมั่นใจให้กับบรรดาผู้ออกกฎหมายว่า “น้ำทิ้งรีไซเคิล” ปลอดภัยเพียงพอที่จะจำหน่ายเชิงพาณิชย์นั้น อาจต้องใช้เวลาอีกพอสมควร
“ประเด็นการใช้น้ำทิ้งรีไซเคิลเพื่อดื่มนั้น ประสบความสำเร็จในระดับท้องถิ่นแล้ว เราเชื่อว่ามีการเตรียมออกกฎหมายที่จะรับรองให้น้ำทิ้งรีไซเคิลกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้า” ทาร์ทาคอฟสกีกล่าวอย่างมั่นใจ
-------------
อ้างอิง: CNBC