‘ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค’ หมุนเวียนไม่รู้จบ นำร่อง rPET ปิดวงจรขยะพลาสติก

‘ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค’ หมุนเวียนไม่รู้จบ นำร่อง rPET ปิดวงจรขยะพลาสติก

หลังจากที่ อย. ปลดล็อก ให้ประเทศไทยสามารถนำขวดเครื่องดื่มใช้แล้วมารีไซเคิลเป็นขวดใหม่ หรือ Bottle-to-Bottle Recycling ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ร่วมกับ เอ็นวิคโค นำร่องใช้ขวด rPET 100% กับผลิตภัณฑ์เป๊ปซี่ 550 มล. ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน

Key Point :

  • เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือ การหมุนเวียนทรัพยากรอย่างไม่รู้จบ โดยเฉพาะการรีไซเคิลพลาสติกอย่างขวด PET ที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้หลากหลาย
  • ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการนำขวดพลาสติก มารีไซเคิลในอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นส่วนใหญ่ และล่าสุดในปีนี้ อย. ได้ปลดล็อกให้สามารถนำขวดเครื่องดื่มใช้แล้วมารีไซเคิลเป็นขวดใหม่ หรือ Bottle-to-Bottle Recycling ได้
  • ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ร่วมกับ เอ็นวิคโค นำร่องใช้ขวด rPET 100% กับผลิตภัณฑ์เป๊ปซี่ 550 มล. สูตรมีน้ำตาลและไม่มีน้ำตาล เตรียมขยายสู่ผลิตภัณฑ์อื่นต่อไปในอนาคต

 

ข้อมูลจาก สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย - TEI เผยว่า ในแต่ละปีทั่วโลกมีการผลิตพลาสติกมากกว่า 400 ล้านตัน โดยครึ่งหนึ่งออกแบบมาให้ใช้เพียงครั้งเดียว ในจำนวนนั้นน้อยกว่าร้อยละ 10 ถูกรีไซเคิล ส่วนอีกประมาณ 19-23 ล้านตันไปสิ้นสุดในทะเลสาบ แม่น้ำ และทะเล

 

ขณะเดียวกันคนไทยใช้พลาสติกมากถึง 5,300 ตันต่อวัน เฉลี่ยมีขยะพลาสติก 2 ล้านตันต่อปี แต่ละปีนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 5 แสนตัน การรีไซเคิลขวดพลาสติกส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ (Textile) เป็นหลัก และที่ผ่านมา ยังไม่มีการอนุญาตให้นำขวดเครื่องดื่มใช้แล้วมารีไซเคิลเป็นขวดใหม่ หรือ Bottle-to-Bottle Recycling กระทั่ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ทำการปลดล็อกในปีนี้

 

‘ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค’ หมุนเวียนไม่รู้จบ นำร่อง rPET ปิดวงจรขยะพลาสติก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

การปลดล็อกดังกล่าว นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในประเทศไทย ที่จะช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกโดยเฉพาะขวดพลาสติกที่มีการใช้จำนวนมาก ให้กลับคืนสู่ระบบรีไซเคิลเป็นขวดใหม่ที่ได้รับมาตรฐานและความปลอดภัย ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลเกรดอาหารคุณภาพสูง นับเป็นรายแรกที่ได้รับการอนุญาตจาก อย. ในเดือนมีนาคม 2566 โดยร่วมมือกับ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ผลักดันใช้ขวด PET รีไซเคิลเป็นขวดใหม่ (Bottle-to-Bottle Recycling) หรือที่เรียกว่า rPET กับผลิตภัณฑ์เป๊ปซี่ 550 มล. เมื่อเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา

 

รีไซเคิลขวดใช้แล้วในประเทศ

 

ณัฐนันท์ ศิริรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด เผยว่า เอ็นวิคโค ก่อตั้งโรงงานมาเพื่อตอบโจทย์ Bottle-to-Bottle Recycling โดยโฟกัสที่พลาสติกเกรดอาหาร รวมถึงมุ่งเน้นนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาตรฐานสากลเข้ามาใช้ และการร่วมผลักดันในส่วนของ อย. ปัจจุบันเอ็นวิคโคสามารถนำขวด PET ใช้แล้ว จำนวนมากถึง 45,000 ตันต่อปี เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ซึ่งวัตถุดิบทั้งหมดมาจากขวดพลาสติกใส่อาหารและเครื่องดื่มที่ใช้แล้วภายในประเทศเท่านั้น

 

“กระบวนการและเทคโนโลยีการรีไซเคิลประสิทธิภาพสูงครบวงจรภายในโรงงานเอ็นวิคโค เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการคัดแยกวัตถุดิบ บด ล้างทำความสะอาด ผ่านความร้อนอุณหภูมิที่สูงกว่า 300 องศา และอบลมร้อน 190 องศากว่า 16 ชั่วโมง กำจัดสารเจือปน ปรับปรุงคุณภาพ รวมถึงการตรวจสอบ ทุกขั้นตอนได้มาตรฐานระดับสากล มั่นใจว่าเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสามารถผลิตเป็นขวด rPET 100% ที่ได้ตามมาตรฐานของ อย. ทุกประการ สะอาดและปลอดภัย โดยมุ่งหวังให้การใช้ขวด rPET ในประเทศไทยเป็นที่นิยมมากขึ้น ใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น”

 

‘ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค’ หมุนเวียนไม่รู้จบ นำร่อง rPET ปิดวงจรขยะพลาสติก

 

สำหรับ ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก InnoEco PCR PET เกรดสัมผัสอาหารของเอ็นวิคโค ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration: USFDA) และในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อย. ไทย ได้ประเมินคุณภาพและความปลอดภัยของกระบวนการรีไซเคิลและอนุญาตให้เม็ดพลาสติก InnoEco PCR PET สามารถนำมาใช้ผลิตเป็นภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มได้อย่างปลอดภัยเป็นรายแรกในประเทศไทย และยังมีบริษัทอีกราว 2-3 แห่งที่รอการอนุมัติอยู่ในขณะนี้

 

ส่งเสริมคัดแยกขยะต้นทาง

 

ทั้งนี้ แม้จะสามารถรีไซเคิลได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ การคัดแยกขยะจากต้นทาง ที่ผ่านมา เอ็นวิคโค มีการทำงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชุมชน อาทิ พื้นที่จังหวัดระยอง นครปฐม และสมุทรปราการ รวมถึง โรงเรียน และมหาวิทยาลัย ในการรับซื้อขวดพลาสติกเข้าสู่ระบบ ตั้งแต่ปี 2022 ที่ผ่านมา จำนวนแล้วกว่า 290 ตัน เป็นเงินจำนวน 6 ล้านบาท

 

“ความร่วมมือที่เกิดขึ้นทำให้เกิด Closed-Loop ในประเทศ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ตอบโจทย์ปัญหาขยะพลาสติก และเกิดการกระจายรายได้ การที่มี Bottle-to-Bottle Recycling จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการค้าของเก่า ซาเล้ง ในการจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว รวมถึงการให้ความรู้เรื่องการใช้พลาสติกให้คุ้มค่า วันนี้เห็นแล้วว่า Closed-Loop เกิดขึ้นในประเทศ และหวังว่าคงจะเห็นการพัฒนาเพิ่มขึ้น ตอบโจทย์เป้าหมาย Net zero เพราะการลดการใช้พลาสติกใหม่ สามารถลดคาร์บอนได้กว่า 50%” ณัฐนันท์ กล่าว

 

‘ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค’ หมุนเวียนไม่รู้จบ นำร่อง rPET ปิดวงจรขยะพลาสติก

 

นำร่อง rPET 100%

 

สำหรับ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นรายแรกที่ได้ร่วมกับ เอ็นวิคโค ผลักดันการใช้ขวด PET รีไซเคิลเป็นขวดใหม่ (Bottle-to-Bottle Recycling) หรือ rPET 100% นำร่องกับผลิตภัณฑ์เป๊ปซี่และเป๊ปซี่ไม่มีน้ำตาลขนาด 550 มล. โดยวางจำหน่ายในร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงมีแผนขยายไปสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์และครอบคลุมช่องทางจำหน่ายอื่นๆ ต่อไป

 

วิภาวรรณ ทัศนปรีชาชัย ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย มุ่งมั่นส่งเสริมการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (Sustainable packaging management) ให้ความสำคัญและลงมือทำอย่างจริงจัง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดย 'ต้นน้ำ' คือ การเลือกใช้วัสดุและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly packaging) สามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100%

 

ส่วน 'กลางน้ำ' ให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ สื่อสารประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับการคัดแยกขยะและบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วอย่างเหมาะสม และ 'ปลายน้ำ' คือ หนึ่งหัวใจสำคัญ ในการเก็บกลับขวดเครื่องดื่มใช้แล้ว โดยที่ผ่านมา เน้นการเก็บมารีไซเคิลเป็นชุด PPE ช่วงโควิด-19 และสนับสนุนภารกิจ 'มือวิเศษกรุงเทพ แยกเพื่อให้...พี่ไม้กวาด' ของทางกรุงเทพมหานคร นำขวด PET รีไซเคิลเป็นชุดสะท้อนแสงให้กับพนักงานรักษาความสะอาดบนท้องถนนเมื่อปีที่ผ่านมา

 

‘ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค’ หมุนเวียนไม่รู้จบ นำร่อง rPET ปิดวงจรขยะพลาสติก

 

การร่วมมือกับ เอ็นวิคโค ถือเป็นผลักดันการใช้ขวด rPET ให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ทำให้เกิดการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ลดการใช้ทรัพยากรใหม่ โดยที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์เป๊ปซี่ที่ใช้ขวด rPET ในเอเชีย ได้แก่ เวียดนาม และ ญี่ปุ่น ทั้งนี้ มั่นใจว่าคุณภาพและความปลอดภัยของขวด rPET 100% ไม่แตกต่างจากขวดที่ผลิตจากพลาสติกใหม่ (Virgin PET)

 

“บริษัทฯ มีความมุ่งเน้นความยั่งยืนของบรรจุภัณฑ์ ดังนั้น ระยะเริ่มต้น rPET อาจจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น 20-30% แต่ในระยะยาว ดีมานด์และซัพพลายจะเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ต้นทุนถูกลง” วิภาวรรณ กล่าวทิ้งท้าย

 

‘ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค’ หมุนเวียนไม่รู้จบ นำร่อง rPET ปิดวงจรขยะพลาสติก