“ESG เรตติ้ง”เครื่องมือวัดใจนักลงทุน ส่งต่อ “ความยั่งยืน” สู่การปฏิบัติ
“ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ และการรักษาสิ่งแวดล้อม” สองสิ่งที่มาคู่กันแต่ดูไม่ค่อยจะเข้ากัน กำลังสร้างความท้าทายใหม่ให้กับภาคธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องมีแหล่งเงินทุนเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนให้ทั้งเป้าหมายของธุรกิจเอง และเป้าหมายร่วมกันในทุกสังคม
ที่ว่าเรื่องของ ESG ซึ่งประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance)ให้ประสบความสำเร็จ
เนก้า ชิเค-โอบี หัวหน้าฝ่ายการจัดอันดับและการวิจัยด้าน ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของ Sustainable Fitch กล่าวในงาน งานสัมมนา “Thailand Corporate Credit Outlook & ASEAN ESG Conference” ว่า ผลต่ออันดับเครดิตความน่าเชื่อถือในส่วนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจมากขึ้น ซึ่งESG นี้รวมถึง สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางเพศ และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management)
“การจัดหาแหล่งเงินทุน [Sustainable Finance]โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน [Sustainable Bond Market] เป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมช่องว่างของการจัดหาเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Finance) ที่นักลงทุนให้ความสำคัญดังนั้น การจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางธุรกิจจึงมีประเด็นของESGโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสภาพภูมิอากาศมาเป็นหนึ่งในสัดส่วนคะแนนที่จะให้กับอันดับของภาคธุรกิจต่างๆ”
ทั้งนี้ การวิเคราะห์ที่เน้นไปที่ผู้ประกอบการเพื่อตรวจสอบหลักการที่ประกาศออกมากับการปฏิบัติจริง โดยใช้หลักการของ
สมาคมตลาดเงินทุนนานาชาติ(ICMA)ที่สามารถให้บริการในเรื่องของพันธบัตร และสินเชื่อ พันธบัตร และสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม, สังคม, การอยู่อย่างยั่งยืน และการเชื่อมโยงกับความยั่งยืน
การจัดอันดับ ESG มาจากการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านกิจกรรมทางธุรกิจ ที่ยังขาดการพึ่งพาหลักวิทยาศาสตร์แบบองค์รวมทั้งผลกระทบ และการมีส่วนร่วมของกิจกรรมต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมการปล่อยมลพิษ การใช้น้ำ และการประเมินความหลากหลายทางชีวภาพ และกิจกรรมภายในของบริษัทซึ่งอาจได้รับการพิจารณานำมารวมในการจัดอันดับด้วย
“การมีส่วนลดคาร์บอนของภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลต่อคะแนนของบริษัทให้ปรับในเกณฑ์ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจากมาตรการที่ดำเนินการอยู่เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาเพราะการทำลายสิ่งแวดล้อมแบบซ้ำ”
สำหรับสถานการณ์การออกพันธบัตรที่ยั่งยืนของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APAC (ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก)นั้น พบว่ามีส่วนแบ่งการออกพันธบัตรเทียบกับทั่วโลกแล้ว กลุ่มAPAC มีสัดส่วนสูงสุดที่ 23% ในปี 2022 โดยอาเซียนก็จะมีสัดส่วนที่ 8-10% ของตลาด APAC ตั้งแต่ปี 2019 ที่ผ่านมา โดยหน่วยงานที่ออกพันธบัตรต่างๆ ก็คือ 5 สมาชิกอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย และยังพบว่า อาเซียนมีสัดส่วนการออกพันธบัตรยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
วัลลภา โสภีเขตขันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเงินและการบัญชีองค์กร บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความยั่งยืนของธุรกิจ และสร้างความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ ด้วยการลด GHG (Greenhouse Gases)นั้นต้องขับเคลื่อนด้วยการปรับปรุงสินทรัพย์ และประสิทธิภาพกระบวนการทางธุรกิจ การดัดแปลงอุปกรณ์ การใช้เทคโนโลยีใหม่ และการหาแหล่งพลังงาน และความร้อนทางเลือกหรือพลังงานหมุนเวียนเพื่อความยั่งยืนในอนาคต
เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายจัดอันดับเครดิตภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า สิ่งบ่งชี้ถึงการจัดอันดับของฟิทช์ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงด้านความยั่งยืนยึดหลักของสหประชาชาติ(ยูเอ็น)ว่าด้วย ความรับผิดชอบด้านนโยบายการลงทุนเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกอุ่นขึ้น 2 องศาเซลเซียส
“แม้ตอนนี้เรื่องดังกล่าวจะยังไม่ใช่ผลกระทบโดยตรงต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางธุรกิจแต่ก็เป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากขึ้น และได้มีการกำหนดสัดส่วนการให้คะแนนเรื่องความยั่งยืนในสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน”
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนมีมากมาย และหลากหลายหยิบเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมก็พบว่ามีความท้าทายอยู่มากมายในทางปฏิบัติจริงแต่เมื่อเรื่องเหล่านี้สำคัญและจำเป็นกับทุกคน จึงนำไปสู่การมองหาหลักการที่จับต้องได้เพื่อเป็นเครื่องมือตัดสินใจในการลงทุนซึ่งในที่นี้คือ“การจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางธุรกิจ”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์