Sustain พื้นฐานธุรกิจต้องทำ “คน-เทคโนโลยี” ร่วมผลักดัน
ประเทศไทยกำหนดนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 โดยการผลักดันเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นปัญหาใหญ่ ที่ทุกภาคส่วนต้องผนึกกำลังกัน ร่วมมือกันทำทุกวิถีทางเพื่อลดผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศ และมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ที่สอดรับเป้าหมายของไทยและทั่วโลก โดยในส่วนของประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในหรือก่อนปี ค.ศ. 2065 หากได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ที่เหมาะสม
โดยประเทศไทยจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดภายหลังปี ค.ศ. 2020 หรือ NDC (Nationally Determined Contribution) 40% ภายในปี ค.ศ. 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2050 ทว่าการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญที่หลากหลายทุกภาคอย่างส่วน ทั้งจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาชน ผนึกกำลังร่วมกันเป็นอีโคซิสเต็ม มีส่วนร่วมและมีเป้าหมายเดียวกัน ร่วมกันช่วยกันทำให้ ระบบนิเวศภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่นำไปสู่เป้าหมาย
บริษัทขนาดใหญ่จะต้องให้ความช่วยเหลือรายเล็ก เชื่อมโยงไปถึงชุมชน และผู้บริโภค ที่มองเห็นภาพเดียวกัน เมื่อทุกคนเห็นเป้าหมายเดียวกัน ก็จะช่วยทำให้ลดโลกร้อนเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งการเดินไปสู่เป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน จำเป็นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ชัดเจน ทั้งการส่งเสริมการลงทุน ระเบียบกติกา โดยเฉพาะการมุ่งไปสู่พลังงานสะอาด ส่งเสริมการนำกรีนเทคโนโลยีมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นต้นทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้มีการกำหนดนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ในเรื่องของเป้าหมายความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการผลักดันเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น
เนื่องจากมีแรงกดดันจากกติกาภายนอกประเทศมากำหนดมากขึ้นทั้งในเรื่องการส่งออกและการลงทุน โดยเฉพาะกติกาเรื่องของมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ที่ผู้ประกอบการไทยที่จะขายสินค้าเข้าไปยังสหภาพยุโรปต้องเจอกับมาตรฐานที่สูงขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้พลังงานสะอาดที่ใช้ในกระบวนการผลิตหรือในบางอุตสาหกรรมที่จะมีความต้องการเพิ่มขึ้น ดังนั้นในอนาคตจะมีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อสร้างความยั่งยืนในขบวนการผลิตซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของภาคธุรกิจ และสังคมไทยนั่นเอง