Photo & Story “ท่าบกท่านาเเล้ง”จากแลนด์ล็อกสู่แลนด์ลิงค์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หารือกับผู้บริหารโครงการท่าบก (Dry Port) ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทร์ สปป.ลาวเรื่องแนวทางการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟสปป.ลาว-จีน พร้อมทั้งลงพื้นที่สำรวจท่าบกท่านาแล้ง
และสถานีรถไฟเวียงจันทน์ใต้ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ส่งออกจากไทยผ่านด่านหนองคายไปยังสปป.ลาว เพื่อขึ้นรถไฟไปจีน
โดยนับตั้งแต่เส้นทางรถไฟจีน-ลาวเปิดให้บริการ เมื่อธ.ค. 2564 พบว่า ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกผลไม้ไปจีนได้เพิ่มขึ้นมาก จากที่มูลค่าส่งออกจากไทยทางด่านหนองคายผ่านแดน สปป.ลาวไปจีน อยู่ที่ 90.41 ล้านบาท ในปี 2564 แต่เมื่อเส้นทางรถไฟจีน-ลาว เริ่มเปิดใช้บริการ เมื่อธ.ค. 2564 พบว่า มูลค่าส่งออกจากไทยทางด่านหนองคายผ่านแดนสปป.ลาวไปจีน เพิ่มเป็น 1,964.89 ล้านบาท ในปี 2565 และเป็น 2,848.41 ล้านบาท ในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปี 2566 ซึ่ง 72% ของมูลค่าส่งออกดังกล่าว หรือ 2,073.18 ล้านบาท เป็นการส่งออกทุเรียนสดจากไทยไปจีน ขยายตัว 364.69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สำหรับสินค้าอื่นที่ส่งออกจากไทยทางด่านหนองคาย เพื่อขึ้นรถไฟจีน-ลาว ไปจีน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลายข้าวเหนียว ยางพารา แร่เฮมาไทต์และหัวแร่ เม็ดพลาสติก และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
สำหรับท่าบกท่านาแล้ง ตั้งอยู่ภายในเวียงจันทน์โลจิสติกพาร์ค เป็นหนึ่งในโครงการที่สปป.ลาวพัฒนาขึ้น เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล (landlocked) สู่ประเทศที่เชื่อมต่อทางพรมแดน (land-linked) ได้