“กฎสิ่งแวดล้อม”กลืนการค้าโลก “พาณิชย์”ใช้ FTA ปรับเงื่อนไขเป็นโอกาส

“กฎสิ่งแวดล้อม”กลืนการค้าโลก  “พาณิชย์”ใช้ FTA ปรับเงื่อนไขเป็นโอกาส

ปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีผลใช้บังคับแล้ว 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศคู่ FTA ได้แก่ อาเซียน (9) จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง โดยความตกลงการค้าเสรีที่ไทยทำกับอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA)

ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อ ปี 2536 ถือเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับแรกของไทย และ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP เป็นความตกลงฉบับล่าสุดของไทยที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเตรียมการรับมือการใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM) ของสหภาพยุโรป (อียู) ว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2566  ที่ผ่านมา กรมได้เชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ ร่วมประชุมเพื่อแจ้งความคืบหน้าพัฒนาการล่าสุดของมาตรการ CBAM ของอียู พร้อมทั้งหารือแนวทางการเตรียมความพร้อมของไทยในการรับมือมาตรการดังกล่าว ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยที่ประชุมเห็นว่า มาตรการ CBAM จะมีผลกระทบกับการส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะเหล็กและเหล็กกล้า และอลูมิเนียม จึงเห็นควรให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม หรือ กรอ. สิ่งแวดล้อม เพื่อทำหน้าที่ประสานและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งเสนอให้รัฐเร่งจัดให้มีการช่วยเหลือด้านเงินทุน (green finance) แก่ผู้ประกอบการที่ปรับกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ

  อรมน กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้ามาตรการ CBAM สหภาพยุโรปได้เผยแพร่ระเบียบ CBAM (Regulation (EU) 2023/956) เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2566 โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ต้องแจ้งปริมาณสินค้าที่นำเข้ามาในอียู และปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้านั้น ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2566 – 31 ธ.ค. 2568 โดยในช่วง 3 ปีแรก ให้แจ้งข้อมูลย้อนหลังทุกไตรมาส หลังจากนั้นให้แจ้งข้อมูลย้อนหลังทุกปี นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 อียูจะเริ่มมาตรการบังคับกำหนดให้ผู้นำเข้าต้องซื้อ “ใบรับรอง CBAM” ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้น

"อียูได้เผยแพร่ร่างกฎหมายลำดับรอง กำหนดหน้าที่การรายงานข้อมูลและรายละเอียดของข้อมูลที่ต้องรายงานโดยผู้นำเข้า ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะต่อร่างกฎหมายลำดับรองนี้ จนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 11 ก.ค.นี้ (ตามเวลาบรัสเซลส์)  ซึ่งไทยจะเน้นเรื่องการแจ้งข้อมูล และการคำนวณข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นเรื่องเทคนิคที่มีความยุ่งยาก และจะเป็นภาระต่อผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทย รวมถึงการกำหนดหน่วยงานที่จะสอบทานและตรวจรับรอง (verify/certify) ข้อมูล ทั้งนี้ หากอียูสามารถรับรองให้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ของไทย เป็นหน่วยงานสอบทานได้ จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการไทยมากขึ้น"

อรมน กล่าวอีกว่า ข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ไทยสามารถใช้เพื่อกำหนดกรอบการค้าระหว่างกันเพื่อให้เกิดความสะดวกในการทำการค้า ซึ่งFTA ยุคใหม่ก็จะมีเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หากไทยสามารถหารือกับคู่ค้าได้แล้วก็จะทำให้การค้าในอนาคตง่ายขึ้นแม้จะมีเงื่อนไขใหม่ๆเกิดขึ้นก็ตาม 

“กฎสิ่งแวดล้อม”กลืนการค้าโลก  “พาณิชย์”ใช้ FTA ปรับเงื่อนไขเป็นโอกาส

โดยล่าสุดการเจรจาFTA ไทย-อียู  มีกำหนดไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมและเชิญหัวหน้าคณะเจรจา FTA ของฝ่ายอียูมาหารือที่ไทยในวันที่ 18 ก.ค.นี้ ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการการเจรจา FTA ในภาพรวม ก่อนที่ฝ่ายอียูจะเป็นเจ้าภาพการเจรจารอบแรกแบบเต็มคณะในช่วงเดือนก.ย. ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยี่ยมต่อไป

“ได้เชิญนายคริสตอฟ คีแนร์ หัวหน้าคณะเจรจาของฝ่ายอียูในการเจรจา FTA ไทย-อียู มาร่วมหารือเฉพาะในระดับหัวหน้าคณะ เพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการบริหารจัดการการเจรจา FTA ไทย-อียู เช่น แผนงานการเจรจา ระเบียบวิธีการประชุม รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มเจรจาในแต่ละประเด็น อาทิ การค้าสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช พิธีการด้านศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า การค้าบริการและการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การแข่งขัน รัฐวิสาหกิจ ทรัพย์สินทางปัญญา การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ความโปร่งใส กลไกระงับข้อพิพาท การค้าดิจิทัล พลังงานและวัตถุดิบ SMEs หลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ” 

สำหรับการเจรจาFTA ไม่เพียงการเปิดเจรจาฉบับใหม่เท่านั้น ฉบับเดิมที่ได้ทำไปแล้วก็ต้องมีการทบทวนให้ทันสมัย ซึ่งประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนก็เป็นเงื่อนไขใหม่ที่ต้องบรรจุเข้าไปเพื่อทำการเจรจาให้ข้อตกลงการค้านั้นๆทำหน้าที่ไม่เพียงลดภาษีเท่านั้นแต่ต้องอำนวยความสะดวกทางการค้าและตอบโจทย์การค้าใหม่ๆให้ได้ด้วย