บิสซิเนสโมเดล“เช่าควาย-ขายนม” Lao Buffalo Dairy ธุรกิจอยู่ได้ชุมชนอยู่ดี
“ดื่มนมทุกวัน เพื่อการเติบโตที่แข็งแรง สมบูรณ์” คำพูดนี้คงเป็นเพียงการรณรงค์แบบหวังผลไม่ได้ หาก“นมสด”ยังเป็นสิ่งหายากในหลายพื้นที่
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมฟาร์ม Lao Buffalo Dairy พร้อมศึกษาศักยภาพตลาดสินค้านมและการผลิตใน สปป.ลาว เพื่อนำมาส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี(FTA)ของสินค้านมไทยในตลาดประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียนพร้อมทั้งการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่เกษตรกรไทยในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานนม
ราเชล โอ เชียร หัวหน้าผู้จัดการทั่วไปด้านการผลิต ฟาร์ม Lao Buffalo Dairy กล่าวว่า โมเดลธุรกิจให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันกับชมุชน รวมถึงสวัสดิภาพของสัตว์ที่เลี้ยงในที่นี้คือ“ควาย”โดยฟาร์มจะเช่าควายจากชาวบ้านบริเวณโดยรวม ในราคา 120 ดอลลาร์ หรือประมาณ 3,000-4,000 บาทเพื่อนำมาเลี้ยงและผสมพันธุ์ให้ได้ลูกซึ่งจะทำให้ควายตัวนั้นสามารถใช้น้ำนมซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของฟาร์มนำไปผลิตชีส นมสดและผลิตภัณฑ์อื่นๆที่เป็นธุรกิจหลักของฟาร์ม
จากนั้นเมื่อแม่ควายตัวนั้น อยู่ในช่วงเวลาเหมาะสมคือไม่มีน้ำนมต้องให้นมลูกควายแล้วและสามารถผสมพันธุ์ใหม่ๆได้ ฟาร์มจะดำเนินการทุกขั้นตอนก่อนแน่ใจว่าแม่ควายติดลูกแล้ว จากนั้นจะคืนควายกลับไปให้กับเจ้าของ ซึ่งช่วงเวลาจะอยู่ที่ประมาณ 3-4เดือน
“วิธีการนี้ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของควายจะได้ทั้งเงินและควายกลับไปผลิตน้ำนม มีประชากรควายเพิ่มเป็นสินทรัพย์ต่อไป และหากเป็นควายตัวผู้ก็ใช้เป็นแรงงานได้ สิ่งที่ชาวบ้านจะได้รับอีกอย่างคือองค์ความรู้ที่จะเลี้ยงควายให้สุขภาพดีและเป็นผลผลิตที่ดีได้ด้วย”
นอกจากนี้ ยังมีการจ้างชาวบ้านโดยรอบปลูกหญ้าเนเปีย ซึ่งเป็นอาหารของควายเป็นรายได้ของชุมชน ทั้งนี้การดูแลสุขอนามยให้ควายเป็นสิ่งจำเป็นเพราะควายพื้นเมืองสามารถให้น้ำนมน้อยกว่าควายพันธุ์แท้จากประเทศอินเดีย
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับการเยี่ยมชมกิจการฟาร์มควายนมของหลวงพระบาง (Lao Buffalo Dairy) ซึ่งเป็นกิจการฟาร์มนมควายแห่งแรกในสปป.ลาว ลงทุนโดยชาวออสเตรเลีย มีควายนมกว่า 200 ตัว รีดน้ำนมและทำผลิตภัณฑ์ เช่น ชีส และไอศกรีม จำหน่ายหน้าฟาร์ม โรงแรม ร้านอาหาร และร้านคาเฟ่ ในเมืองหลวงพระบาง สร้างรายได้มูลค่า 45,000 ดอลลาร์ต่อปี
ขณะที่ในประเทศไทยเองก็ยังมีผู้ประกอบการฟาร์มควายนมไม่มากนัก เช่น มูร่าห์ฟาร์ม ในจังหวัดฉะเชิงเทรา สอนศิริฟาร์มควายไทยที่ปราจีนบุรี ฟาร์มควายนมของโครงการหลวงแม่ทาเหนือ มูร่าห์เฮาส์ ในจังหวัดเชียงใหม่ และฟาร์มโคนมบ้านกุดรังจังหวัดนครนายก เป็นต้น
โดยฟาร์มเหล่านี้มีการจำหน่ายนมควายและผลิตภัณฑ์จากนมควายเช่นกัน อาทิ โยเกิร์ต ชีส และไอศกรีม โดยพบว่าผลิตภัณฑ์จากนมควายถือเป็นทางเลือกให้กับผู้แพ้นมวัว แต่ยังต้องการโภชนาการสูงจากนม โดยนมควายจะมีสารอาหาร เช่น แคลเซียม และโปรตีนสูง มีคลอเรสเตอรอลต่ำ และไม่มีกลิ่นคาว ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสของเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยเนื่องจากราคาดีและยังมีผลผลิตในปริมาณน้อย
ส่วนการเตรียมความพร้อมก่อน FTA ไทย-ออสเตรเลีย ที่ให้เวลาไทยปรับตัวสำหรับอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์ซึ่งจะสิ้นสุดปี 2568 นั้น ได้มีการเตรียมความพร้อมใน 2 แนวทางคือ การสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร การสร้างดีมานด์ตลาดในประเทศ และการบุกตลาดต่างประเทศเช่น กรณีตลาดสปป.ลาว เป็นต้น
โอกาสนี้ได้มีโอกาสสำรวจตลาดนมโคและผลิตภัณฑ์ในสปป.ลาว พบสินค้าแบรนด์ไทยวางจำหน่าย ทั้งนมสดพาสเจอร์ไรด์ และนมยูเอชที ซึ่งสปป.ลาว ถือเป็นตลาดส่งออกนมอันดับ 2 ของไทย รองจากกัมพูชา ในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์สู่ตลาดโลก มูลค่า 593.11 ล้านดอลลาห์ ขยายตัว 1.7% จากปี 2564
ส่วนไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปตลาดโลก มูลค่า 262.77 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยส่งออกไปกัมพูชาอับดับ 1 อยู่ที่ 78.10 ล้านดอลลาร์ และส่งออกไปสปป.ลาว อับดับ 2 มูลค่า 36.89 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.3 % จากปีก่อนหน้า