การเงิน - กฎการค้า - ผลร้ายจากไคลเมทเชนจ์ ปัจจัยเร่งธุรกิจปรับรับ “Net Zero”
การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวัน เช่นเดียวกับปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงหรือ Climate Change ที่ภาคธุรกิจต้องตระหนัก และปรับตัวสู่เป้าหมาย “Net Zero” ให้ทันก่อนที่การเปลี่ยนแปลงจะป่วนโลก และธุรกิจ
กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในงาน National Director Conference 2023
DELIVERING NET ZERO TOGETHER จัดโดย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ว่า Net zero นั้นเป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน เริ่มจากการประชุมในบริษัท ที่เริ่มให้ความสำคัญกับการรับมือความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ ขณะเดียวกันก็ต้องรักษากำไรไว้เหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยาก แต่ต้องทำให้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใหญ่หรือบริษัทเล็กๆ ก็ตามอย่างธุรกิจขนาดกลางและย่อม( SMEs) ก็ต้องมีการปรับตัว แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ความพร้อมด้านการเงินซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับตัวอย่างมีนัยสำคัญ
ในการดําเนินงานของธนาคารกสิกรไทยนั้นมีเป้าหมาย ภายในปี 2573 ให้พอร์ตโฟลิโอทางการเงิน สอดคล้องกับปณิธานของไทย และมุ่งสู่เป้าหมายNet Zero โดยเร็วที่สุด จึงจัดหาเงินทุน และการลงทุนที่ยั่งยืนภายในปี 2573 ไว้ 1-2 แสนล้านบาท เพื่อการสนับสนุนลูกค้าในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจ Net Zero ได้อย่างยั่งยืน
นอกเหนือจากนั้นธนาคารได้มีส่วนร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อการศึกษาร่วมกัน และพัฒนาธุรกิจการค้าคาร์บอนเครดิตเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืนทําให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตสามารถเข้าถึงได้จริง
ทั้งนี้ การดูแล และรับรองการปฏิบัติตามนโยบายและกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงแบบรวม และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ การประเมินนโยบาย และกลยุทธ์รวมถึงสามารถรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ได้
ตัวอย่าง บริษัทในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ใช้การลดก๊าซเรือนกระจก (GHG) เอาคาร์บอนเข้าผสมในซีเมนต์ และลดขยะในภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย และมีการร่วมมือกับเทคโนโลยีอื่นๆ ในการเปลี่ยนปัญหาไปสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน
โดย Net zero นั้นสามารถเปลี่ยนให้เป็นโอกาสได้ ด้วยการแยกวัสดุ ปลูกต้นไม้ ปลูกป่า หรือแม้แต่นำสิ่งที่เหลือจากอุตสาหกรรมต่างๆ มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แทนที่จะทิ้งไป และนำทรัพยากรใหม่มาใช้ โดยพบว่า มีบริษัทสตาร์ตอัปที่จะมาจัดการเรื่องเหล่านี้ แบบ One stop service
“การรับความรู้ และทำความเข้าใจมากเพียงพอ จะทำให้การฟอกเขียวไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนแต่ต้องอยู่บนพื้นฐานการเรียนรู้ และร่วมมือกัน และเดินหน้าไปพร้อมกันเพราะเรื่องนี้ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียวแต่ทำเพื่อลูกหลานในอนาคต”
วิล ไซมอนส์ ผู้อำนวยการ ดับเบิลยูเอช ไซมอน คอนซัลแทนท์ จำกัด (W. H. Symons Consulting Pty Ltd )กล่าวว่า การมุ่งหน้าไปสู่ Net zero นั้นอาจจะใช้วิธีการต่างๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มี
ผลกระทบทุกวัน และอาจจะสร้างความเสียหายกับมนุษย์ ดังนั้น การผลักดันในองค์กรเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ต้องทำอย่างรวดเร็ว "เพราะเวลาไม่เคยรอใคร" แต่ต้องร่วมมือ และทำด้วยกันหลายๆ บริษัทเพื่อเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ อย่างบริษัทผลิตเหล็ก ของเกาหลีใต้ ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในบางประเทศ อย่างออสเตรเลียเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้ลดคาร์บอนลงด้วยต้นทุนที่ราคาไม่แพง ทำให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงหลักการลดคาร์บอนได้ง่ายและจับต้องได้
อย่างไรก็ตาม ในแง่ผลลัพธ์ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักรู้ และเข้าใจผลที่จะเกิดขึ้น ที่ว่าถ้าไม่ลงมือทำจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นมาเป็นการเพิ่มอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทั่วโลก รวมถึงอุตสาหกรรมด้วย
นอกจากนี้ในแง่ผลต่อธุรกิจจากกฎระเบียบต่างๆ นั้นล่าสุด Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) ซึ่งเป็น กฎหมายใหม่ของ สหภาพยุโรป (EU) ที่กำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่ทั้งหลายเผยแพร่รายงานการดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม ถือเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ประเทศต่างๆ เข้าสู่ Net zero ได้เร็วขึ้น
ระหว่างทางแห่งความสำเร็จย่อมมีองค์ประกอบหลายอย่างซึ่งเป้าหมายNet Zero ก็มีนัยแห่งการสนับสนุนทางการเงิน กฎระเบียบที่บีบบังคับ และการตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์