“ความยั่งยืน” ในเอฟทีเอไทย - อียู บทเจรจายุคใหม่ไทยคงพื้นที่การค้าสำคัญ
ข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เป็นเครื่องมือทางการค้าที่สำคัญที่จะทำให้สามารถรักษา และเปิดพื้นที่การค้าในเวทีโลก ดังนั้นหลายประเทศรวมถึงไทยจึงเร่งเปิดเอฟทีเอในจำนวนที่มากให้เพียงพอกับความจำเป็นทางการค้า และการลงทุน
สำหรับประเทศไทย มีเอฟทีเอ ที่มีผลใช้บังคับแล้ว 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ คิดเป็น 63.6%ของการค้าโดยรวม ขณะที่หลายประเทศในอาเซียน พบว่ามีสัดส่วนเอฟทีเอที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับไทย เช่น เวียดนามมีจำนวน 15 ฉบับ กับ 54 ประเทศ มาเลเซีย 14 ฉบับ กับ 19 ประเทศ อินโดนีเซีย 11 ฉบับ 18 ประเทศ
ดังนั้น การเปิดเจรจาเอฟทีเอเพิ่มจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับประเทศไทยซึ่งเอฟทีเอฉบับสำคัญที่กำลังจะเปิดเจรจาในรอบแรก ก.ย.นี้ คือ เอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป (อียู)
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต กล่าวว่า ปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศกับอียู มีความท้าทายสำคัญได้แก่ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM) ที่ต้องแจ้งปริมาณสินค้าที่นำเข้ามาในอียู และปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้านั้นมีผลกระทบกับการส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะเหล็ก และเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม ซึ่งCBAM เป็นเรื่องกฎการค้าที่อียูปฏิบัติกับคู่ค้าทั้งหมด
ขณะที่การเจรจาเอฟทีเอ เป็นลักษณะของการเจรจาระหว่างอียู และไทย โดยเป็นรูปแบบแลกเปลี่ยนระหว่างกัน เพื่อการลดภาษีตามที่ตกลงกันสองฝ่าย แต่เงื่อนไขการค้าปัจจุบัน จะกำหนดเงื่อนไขการผลิตที่ต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติที่ถูกต้อง มีการรับรองมาตรฐานที่ถูกต้องรวมถึงรายละเอียดการปฏิบัติอื่นร่วมด้วย ซึ่งก็จะเป็นคนละเรื่องกับการลดภาษีนำเข้า แต่มองว่าการเจรจาเอฟทีเอจะช่วยสร้างแต้มต่อทางการค้าของไทยได้ เนื่องจาก ประเทศไทยพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านการค้าในหลายๆ รูปแบบเพื่อ แข่งขันกับประเทศอื่นๆ
“จะทำให้การค้าระหว่างไทยกับยุโรปดีขึ้นจากเมื่อก่อนที่เกิดปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และโดนตัดข้อยกเว้นภาษีความช่วยเหลือต่างๆ ไป ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาบางแห่งยังคงได้สิทธิพิเศษทางภาษี ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการส่งออกสินค้า ซึ่งต่างจากไทยที่คิดภาษีโดยตรงแบบไม่มีลดหย่อนใดๆ”
ทั้งนี้ อียูได้ออกกฎเกณฑ์ทางการค้าใหม่ๆ ที่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมหลายข้อ เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ออกกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free products Regulation : EUDR) หรือ Regulation (EU) 2023/1115 ที่กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าเกษตร 7 กลุ่ม เช่น น้ำมันปาล์ม ยางพารา ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 30 ธ.ค.2567
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอฝ่ายไทย ได้พบหารือกับคริสตอฟ คีแนร์ ผู้อำนวยการสำนักภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ของคณะกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า (Head of Unit for South and South East Asia, Australia and New Zealand, European Commission, Directorate-General for Trade) หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมการประชุมเจรจา เอฟทีเอ ไทย-อียู รอบแรก ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนก.ย.นี้ และวางแนวทางการเจรจาเอฟทีเอโดยจะกำหนดให้มีการประชุมเอฟทีเอปีละ 3 รอบ ซึ่งจะสลับกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และหากมีความจำเป็นสามารถเพิ่มรอบการเจรจาหรือจัดหารือระหว่างรอบได้
ที่ประชุมได้ตั้งคณะเจรจากลุ่มย่อย 19 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.การค้าสินค้า 2.กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 3.พิธีการด้านศุลกากร และการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4.มาตรการเยียวยาทางการค้า 5.อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 6.มาตรการสุขอนามัย และสุขอนามัยพืช 7.การค้าบริการและการลงทุน 8.การค้าดิจิทัล 9.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 10.ทรัพย์สินทางปัญญา 11.การแข่งขัน 12. รัฐวิสาหกิจ 13.SMEs 14. พลังงานและวัตถุดิบ 15.การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 16.ระบบอาหารที่ยั่งยืน 17.ความโปร่งใส และหลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ 18.กลไกระงับข้อพิพาท และ 19.อารัมภบท ข้อบททั่วไป ข้อบทสุดท้าย ข้อบทเชิงสถาบัน และข้อยกเว้น
ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการเจรจาเอฟทีเอหลายฉบับในหลายมุมทั่วโลก ส่วนใหญ่มุ่งไปที่การลดภาษี และการสกัดมาตรการอื่นที่ไม่ใช่ภาษี เช่น สุขอนามัย หรือแม้แต่ยุติข้อพิพาทต่างๆ แต่เมื่อบริบทการค้ายุคใหม่เริ่มเปลี่ยนไปหัวข้อ “ความยั่งยืน”ก็อยู่บนโต๊ะเจรจาเพื่อยกระดับการค้า และการร่วมกัน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์