นวัตกรรมอิสราเอลผนึกไทยครัวโลก ร่วมสร้างอาหารแห่งอนาคต

นวัตกรรมอิสราเอลผนึกไทยครัวโลก  ร่วมสร้างอาหารแห่งอนาคต

“อาหาร” เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด แต่ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ นอกจากรับประทานอาหารเพื่อดำรงชีพแล้ว ย่อมเป็นการดีกว่าถ้าสามารถดูแลโลกไปพร้อมๆ กันด้วย “อาหารแห่งอนาคต”

สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ร่วมกับสถาบันส่งออกอิสราเอล จัดงาน “Savor the Future of Food” รสชาติอาหารแห่งอนาคต อิ่มท้องด้วยนวัตกรรมอิสราเอล มีทั้งงานเสวนา และลองลิ้มชิมรสนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตจากสตาร์ตอัปอิสราเอล พร้อมเจรจาจับคู่ธุรกิจต่อยอดความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ด้วยอิสราเอลนั้นขึ้นชื่อเรื่องนวัตกรรมเทคโนโลยีอาหาร บริษัทเปิดใหม่หลายร้อยแห่งค้นพบนวัตกรรมยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช เทคโนโลยีใหม่ที่ลดการใช้น้ำตาล เทคโนโลยีการหมักอันล้ำสมัย ฯลฯ 

 นับตั้งแต่พ.ศ.2563 เป็นต้นมา อิสราเอลเป็นประเทศใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในการลงทุนด้านโปรตีนทางเลือก คิดเป็นราว 10% ของการลงทุนทั่วโลก มูลค่าประมาณ 12,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่พัฒนา ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารไปทั่วโลก เมื่อสองประเทศสองความแกร่งมาจับมือกันย่อมนำมาซึ่งการจำกัดความใหม่ และการปฏิวัติตลาดอาหารของโลก

"ทุกวันนี้เราพูดถึงความยั่งยืน คิดถึงอนาคต เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ลูกเรา หลานเราจะมีอาหารเพียงพอรับประทาน ที่อิสราเอลเรามีสตาร์ตอัปที่น่าตื่นตาตื่นใจมากมาย พวกเขาพยายามพัฒนาโซลูชัน สร้างสินค้าหลากหลาย  มีเทคโนโลยีอาหารอนาคตก้าวหน้ามาก" เอกอัครราชทูตออร์นา ซากิฟ กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานนำสตาร์ตอัปอิสราเอลมายังประเทศไทย ด้วยความเชื่อที่ว่า ประเทศไทยเป็นครัวของโลก เห็นได้จากบริษัทอาหารรายใหญ่สุดจำนวนหนึ่งมาลงหลักปักฐานที่นี้  นวัตกรรมอิสราเอลผนึกไทยครัวโลก  ร่วมสร้างอาหารแห่งอนาคต

“นอกจากนี้ประเทศไทยยังพัฒนา และก้าวหน้ามาก ถ้านำผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เรามี อาทิ เนื้อเพาะเลี้ยง น้ำนมเพาะเลี้ยง น้ำผึ้งเทียม ผลิตภัณฑ์แพลนต์เบส และผลิตภัณฑ์อื่นๆ มาแนะนำจะเป็นการจับคู่อาหารแห่งอนาคตที่ดีในประเทศไทย แม้จะเป็นสเกลเล็กๆ ก็ตาม” ทูตอิสราเอล กล่าว

งาน “Savor the Future of Food” เมื่อวันก่อน นอกจากการเสวนา จับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างไทยกับอิสราเอล ส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การชิมอาหารแห่งอนาคตมากมายจากสตาร์ตอัปอิสราเอล ทั้งที่นำมาวางสาธิตไว้ที่บูธ และที่จัดเป็นเมนูอาหารเที่ยงอลังการ ทั้งโปรตีนแพลนต์เบส ไส้กรอก แฮม นักเก็ต นม เนย ชีส สารพัด รวมทั้งอาหารที่ไม่ค่อยพบเห็นในเมืองไทย  นวัตกรรมอิสราเอลผนึกไทยครัวโลก  ร่วมสร้างอาหารแห่งอนาคต นวัตกรรมอิสราเอลผนึกไทยครัวโลก  ร่วมสร้างอาหารแห่งอนาคต

น้ำผึ้งไม่ใช้ผึ้ง

Efrat Dvash Riesenfeld  ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (ซีทีโอ)  บริษัท Bee-io เล่าถึงผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งที่ไม่มีผึ้ง  ทำโดยกระบวนการเลียนแบบธรรมชาติ ผสมผสานระหว่างโปรตีนที่เลียนแบบกระเพาะน้ำผึ้งของผึ้ง นำมาผสมกับน้ำหวานที่ผลิตจากพืช 

“คุณสมบัติเหมือนกันแทบทุกประการกับน้ำผึ้งจริง ที่แตกต่างคือ ไม่มียาฆ่าแมลง ไม่มียาปฏิชีวนะ หรือสารทดแทนเนื้อสัตว์ เป็นน้ำผึ้งที่ไม่ต้องอาศัยผึ้ง ยิ่งสมัยนี้ดอกไม้หายาก ถือเป็นวิธีการที่ยั่งยืนมากกว่า สามารถผลิตน้ำผึ้งได้ตลอดทั้งปี เข้าถึงได้ มีความหลากหลาย และคุณภาพสูง” Riesenfeld แนะนำผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมอิสราเอลผนึกไทยครัวโลก  ร่วมสร้างอาหารแห่งอนาคต

ปัจจุบัน Bee-io ผลิตน้ำผึ้ง  6 ชนิด แต่ซีทีโอกล่าวว่า จริงๆ แล้วสามารถผลิตได้มากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับพืชที่นำมาใช้  รสชาติน้ำผึ้งที่แตกต่างกัน มาจากการใช้พืชที่แตกต่าง เช่น ดอกโรสแมรี ได้น้ำผึ้งโรสแมรี

 Riesenfeld ย้ำถึงวิธีการอันยั่งยืนของ Bee-io เนื่องจากการผลิตน้ำผึ้งในปัจจุบันเป็นอันตรายต่อผึ้งส่งผลให้ราคาสูง แต่เทคโนโลยีของบริษัทช่วยให้มนุษย์มีน้ำผึ้งบริโภคอย่างปลอดภัยไร้ยาฆ่าแมลง แล้วปล่อยให้ผึ้งไปทำหน้าที่ตามธรรมชาตินั่นคือ การผสมเกสร 

น้ำนมไม่ใช้วัว 

น้ำผึ้งไม่ได้ทำจากผึ้งก็มีมาแล้ว น้ำนมที่ไม่ได้ผลิตจากวัวย่อมเป็นไปได้ Aviv Wolff‏  ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้ง รีมิลค์  ชวนชิมไอศกรีมทำจากโปรตีนรีมิลค์ โปรตีนตัวนี้เหมือนน้ำนมวัวทุกประการ แต่ปลอดส่วนผสมจากสัตว์  ตัวผลิตภัณฑ์ไม่มีแลคโตส ไม่มีคอเลสเตอรอล ไม่มีฮอร์โมนเร่งโต แต่มีรสชาติ เนื้อสัมผัส ฟังก์ชันเหมือนผลิตภัณฑ์นมทั่วไป สามารถนำไปทำนม ไอศกรีม ชีส โยเกิร์ต และผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ ได้ทุกชนิด 

โปรตีนรีมิลค์ใช้ยีสต์ผลิตโปรตีนแบบเดียวกับที่วัวผลิตน้ำนม จากนั้นนำไปหมักเหมือนกับการทำเบียร์ ไวน์ แต่แทนที่จะได้แอลกอฮอล์กลับได้เป็นโปรตีนน้ำนม ที่เหมือนกับโปรตีนจากนมวัว 100%

“เราตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อหวังทรานส์ฟอร์มอุตสาหกรรมน้ำนมจากสัตว์ เราผลิตน้ำนมด้วยคุณภาพ และรสชาติเดียวกัน ด้วยเทคโนโลยีที่สร้างความยั่งยืนในระยะยาว” Wolff กล่าวและว่า กระบวนการผลิตของรีมิลค์ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ใช้ที่ดินเพียง 1% เมื่อเทียบกับการทำฟาร์มโคนมจากสัตว์ ใช้วัตถุดิบเพียง 4% ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 95% เมื่อเทียบกับการใช้โค ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากรีมิลค์ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับโค ในฟาร์มปศุสัตว์ต้องใช้น้ำราว 600 แกลลอนผลิตน้ำนม 1 แกลลอน ซึ่งเป็นการผลิตที่ใช้ทรัพยากรสูงมาก แต่รีมิลค์ใช้วัตถุดิบเพียงน้อยนิด จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างมากเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์

เอฟทีเอไทย-อิสราเอลหนุนความร่วมมือแห่งอนาคต

งาน “Savor the Future of Food”  เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ของความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมอาหารแห่งอิสราเอล เอกอัครราชทูตซากิฟ กล่าวถึงโอกาสการค้าการลงทุนระหว่างกันว่า  การค้าระหว่างไทยกับอิสราเอลอยู่ที่ประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์ ส่วนการลงทุนมีมากกว่านั้น แต่จำเป็นต้องระบุภาคส่วนที่มีศักยภาพให้ถูกต้องเพื่อความร่วมมือระหว่างกัน

“ดิฉันเชื่อว่า อุตสาหกรรมอาหารแข็งแกร่งมากในแง่นี้ เราพยายามแนะนำคนในภาคส่วนอาหารจากอิสราเอลและไทยให้รู้จักกันได้ทำงานร่วมกัน รวมไปถึงความร่วมมือในภาคส่วนอื่นๆ อาทิ เกษตร, ความมั่นคงด้านอาหาร, ความมั่นคงทางไซเบอร์, โทรคมนาคม การแพทย์ และสำรวจความร่วมมือสาขาอื่นๆ ที่จะทำร่วมกันได้”

ในมุมมองของทูตเชื่อว่า หากมีข้อตกลงการค้าเสรีจะยิ่งส่งเสริมความสัมพันธ์ของสองประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

"ส่วนตัวดิฉันเชื่อว่าสิ่งนี้จำเป็นมาก เราเริ่มคุยกับรัฐบาลไทยเรื่องเอฟทีเอ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะคืบหน้าในอนาคต” ทูตซากิฟ กล่าวทิ้งท้ายสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลใหม่ที่จะผลักดันการเจรจาเอฟทีเอให้มากยิ่งขึ้น

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์