ลิ้มรสไวน์จากดินแดนศักดิ์สิทธิ์ 'อิสราเอล'
เมื่อเอ่ยชื่อเหล้าองุ่นดัง หรือที่เราคุ้นกันว่า “ไวน์” คอไวน์หลายคนอาจนึกถึง ไวน์ฝรั่งเศส ไวน์อิตาลี ชิลี แอฟริกาใต้ แต่ลองนี่ดูบ้างประไร ไวน์อิสราเอลจากดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ที่มีประวัติย้อนไปถึงยุคพระคัมภีร์ไบเบิล
วันก่อน สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยโดยเอกอัครราชทูตออร์นา ซากิฟ และ วิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดกงานชิมไวน์อิสราเอล ได้ “ไคม์ กาน” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องไวน์และผู้ก่อตั้ง เกรปแมน ศูนย์ไวน์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นผู้แนะนำไวน์ชั้นเยี่ยม 23 ชนิดจากโรงบ่มของอิสราเอลที่ได้รับการคัดเลือกมาเป็นพิเศษสำหรับงานนี้
“ผมเพิ่งรู้นะครับว่า ไวน์อิสราเอลเป็นไวน์ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ผมไม่เชื่อหรอก ท่านทูตออร์นาบอกผมหลายครั้ง ผมต้องพิสูจน์ คืนนี้มาช่วยกันพิสูจน์นะครับว่า ไวน์อิสราเอลดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกจริงหรือเปล่า” ประธานกรรมการอมตะกล่าวเปิดงานอย่างท้าทายแขกที่มากันเป็นจำนวนมากทั้งเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ ข้าราชการระดับสูง นักธุรกิจ และ บุคคลสำคัญจากหลากหลายสาขา
ก่อนบทพิสูจน์จะเริ่มขึ้น ไคม์ กาน ขึ้นกล่าวแนะนำถึงเส้นทางการผลิตไวน์ อิสราเอลในฐานะประเทศโบราณมีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีการผลิตไวน์เมื่อ 10,000 ปีก่อน ต่อมาเมื่อ5,000 ปีก่อนคริสตกาล ไวน์มาถึงดินแดนคานาอัน หลังจากนั้น 2,000 ปีก่อนคริสตกาล โนอาห์ปลูกไร่องุ่นแห่งแรกที่มีการบันทึกไว้ ช่วง 1,500-500 ปีก่อนคริสตกาล ถือเป็นยุคทองของไวน์อิสราเอลโบราณ
ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตไวน์อิสราเอลในสมัยปัจจุบันก่อตั้งขึ้นในช่วงคริสตทศวรรษ 1880 โดยบารอน เอ็ดมันด์ เจมส์ เดอ รอธไชลด์ เจ้าของปราสาทและโรงบ่มไวน์ลาฟิต-รอธไชลด์ อันโด่งดังในบอร์โดซ์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่ออิสราเอลได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นประเทศเมื่อพ.ศ. 2491 นั้น มีโรงบ่มไวน์ในประเทศเพียง 14 แห่ง ปัจจุบันประเทศเล็กๆ อย่างอิสราเอลมีโรงบ่มไวน์กว่า 300 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ผลิตไวน์รวมกันได้มากกว่า 40 ล้านขวดต่อปี
ปี 2453 อิสราเอลเริ่มประชาสัมพันธ์ไวน์ของตนไปทั่วโลกและเริ่มลงทุนด้านเทคโนโลยี “ด้วยตระหนักว่าสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือเราต้องเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ” ด้วยความเป็นประเทศเล็ก แห้งแล้ง อิสราเอลมีปัญหาเรื่องน้ำจึงเร่งลงทุนด้านการกลั่นน้ำทะเลและใช้การชลประทานที่มีคุณภาพควบคู่กันไปในการดูแลไร่องุ่น ผู้ผลิตไวน์อิสราเอลรุ่นใหม่ออกไปหาความรู้จากต่างประเทศ ผ่านการฝึกอบรมจากทั่วโลก
"ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเราได้รับเสียงชื่นชมจากนิตยสารชื่อดัง จากการแข่งขัน และที่พิเศษสุด พวกคุณได้มีโอกาสชิมไวน์ด้วยตนเอง ลองดูนะครับ ผมคิดว่า ไวน์จะบ่งบอกตัวมันเอง ในอนาคตเราจะใช้การวิจัยและพัฒนา ผสมผสานกับเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเกษตร ผลิตไวน์ที่มีคุณภาพและมีคุณค่า และยินดีต้อนรับพวกคุณสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ดินแดนแห่งน้ำผึ้ง ดินแดนแห่งไวน์" ผู้เชี่ยวชาญกล่าวถึงไวน์อิสราเอลอย่างภาคภูมิใจ โดยเน้นว่าสิ่งที่ทำให้ไวน์ของเขาแตกต่างจากที่อื่นคือ “คุณภาพ”
อย่างไรก็ตาม การชิมครั้งนี้จะไม่สมบูรณ์หากไม่ได้ฟังผลการลิ้มรสจากวิกรม ผู้เป็นเจ้าภาพร่วม ความยูนีคของไวน์อิสราเอลจากลิ้นของเจ้าพ่ออมตะ “มีความสมูธ ไม่ทำให้เรารู้สึกว่าดื่มไวน์ไม่ดี เรารู้สึกว่ามันดี กลิ่นที่เราดื่มไปและลิ้นที่เราสัมผัส เราไม่เคยคิดว่าอิสราเอลมีไวน์ดี แต่เขาบอกว่าเขามีเทคโนโลยี มีการค้นคว้าซึ่งตรงนี้อิสราเอลเขาเก่ง ก็มีเหตุผลที่เขาบอกว่าไวน์เขามีเอกลักษณ์”
ส่วนคำว่า “ไวน์จากดินแดนศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งฟังดูมีพลังมาก เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มตามความรู้สึก และหากจะถอดบทเรียนการทำไวน์ของอิสราเอลหลังจากที่ไทยเคยถอดบทเรียนการทำเกษตรในพื้นที่แห้งแล้งมาแล้ว วิกรมตอบทันที “ก็ทำ R&D สิ ไทยเราทำวิจัยด้านการเกษตรเยอะมาก เรามีมหาวิทยาลัยดีๆ มี สวทช. เรื่องอาหารเครื่องดื่มเรามีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว เรารู้ว่าอิสราเอลเขามีไวน์ดีเพราะการวิจัย เราก็มาทำวิจัยให้ดีขึ้น”
นั่นคือหนึ่งมุมมองของนักธุรกิจใหญ่มากประสบการณ์ ซึ่งจะว่าไปแล้วไวน์ก็เหมือนกับสินค้าอีกหลายชนิด ดี/ไม่ดี ชอบ/ไม่ชอบ ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคน แต่สิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของความเป็นอิสราเอลไม่ว่าจะเป็นคนหรือไวน์นั่นก็คือ การยืนยันตัวตนพิสูจน์ให้โลกเห็นว่ามีอิสราเอลอยู่ตรงนี้ อย่างที่กานย้ำบ่อยครั้งว่า “ไวน์จะบ่งบอกตัวมันเอง” ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ