“เอลนีโญ”ส่งผลลุกลามภาคอุตฯ เหตุผลผลิตเกษตรลดลงราคาพุ่ง
สนค.ประเมินผลกระทบเอลนีโญ ชี้ทำผลผลิตสินค้าเกษตรหลายการการลดลงทำราคาพุ่งแต่ห่วงปริมาณไม่เพียงพอป้อนตลาดระบุปี 67 ไทยได้ประโยชน์ส่งออกข้าว ผลไม้ น้ำมันปาล์ม
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญไม่เพียงส่งผล
กระทบต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมปศุสัตว์ นอกจากนี้ ส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาพลังงาน และเงินเฟ้อสูงขึ้น อีกทั้งต้นทุนค่าขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีการตั้งวอร์รูมเพื่อรับมือกับผลกระทบจากเอลนีโญที่มีต่อพืชเกษตร สำหรับผู้ประกอบการจะต้องติดตามข้อมูลและเตรียมการเพื่อบรรเทาผลกระทบ ตลอดจนมีการวางแผนการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบและรัดกุม
“ในภาพรวมเอลนีโญทำให้ปริมาณผลผลิตภาคเกษตรลดลง ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่หากผลกระทบด้านผลผลิตที่ลดลงมีมากกว่าผลกระทบด้านราคาที่สูงขึ้น ก็จะส่งผลให้รายได้ลดลง”
สำหรับในรายสินค้า เช่นสินค้าข้าวมีการคาดการณ์ว่าผลผลิต ปี 2566/67 จะลดลงจากปีก่อนหน้า แต่ก็พอเพียงสำหรับบริโภคในประเทศและส่งออกได้ ซึ่งอินโดนีเซียมีนโยบายความมั่นคงทางอาหารต้องการสำรองข้าว ขณะที่อินเดียขึ้นภาษีส่งออกข้าวนึ่ง รวมทั้งระงับการส่งออกข้าวทุกชนิดที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ
อีกทั้งเวียดนามมีนโยบายลดปริมาณการส่งออกข้าว โดยจะส่งออกข้าวคุณภาพสูงและไม่เน้นปริมาณ ปัจจัยเหล่านี้ น่าจะส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 อินโดนีเซียได้ลงนามข้อตกลงกับอินเดีย อนุญาตนำเข้าข้าวจากอินเดีย 1 ล้านตัน เพื่อจัดหาข้าวในกรณีเกิดการหยุดชะงักอันเป็นผลจากเอลนีโญ ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิดเพื่อหาช่องทางและโอกาสทางการค้าสำหรับไทย
สินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าสุทธิ นำเข้าจากเมียนมาเกือบทั้งหมด คาดว่าผลผลิต ปี 2566/67 จะลดลง แต่ก็ยังมีมากกว่าช่วงภัยแล้งปี 2562/63 และเป็นที่น่าสังเกตว่า ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์เป็นสินค้าทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้น
ดังนั้น การอำนวยความสะดวกการนำเข้าสินค้าพืชอาหารสัตว์จะช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของไทย แต่ขณะเดียวกันต้องสมดุลต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ไปด้วยพร้อมกัน
สินค้ามันสำปะหลังมีการคาดการณ์ว่าผลผลิต ปี 2566/67 จะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ขณะที่ข้อมูลจากการสำรวจว่าผลผลิตมันสำปะหลังจะเหลือ24 ล้านตันแต่ภาคอุตสาหกรรมแปรรูปในประเทศต้องการ 40 ล้านตัน ซึ่งจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์แปรรูปไทย ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการปลูกให้ได้ผลผลิตสูง และอาจส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกมันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชน้ำน้อยทดแทนการปลูกข้าว
สินค้าน้ำมันปาล์มมีการคาดการณ์ว่าผลผลิตปาล์มน้ำมันปี 2566/67จะลดลงจากสภาพอากาศร้อน ฝนน้อย และทำให้ผลปาล์มมีน้ำหนักลดลง ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีนโยบายลดการส่งออกน้ำมันปาล์ม ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกสูงขึ้นจึงน่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย
สินค้าผลไม้มีการคาดการณ์ว่าทุเรียนและมังคุดจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่ปลูกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ลำไย จะมีผลผลิตลดลง เนื่องจากภัยแล้งและพื้นที่ปลูกที่ลดลง อย่างไรก็ตาม จีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกผลไม้ที่สำคัญของไทยยังมีความต้องการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 มูลค่าการส่งออกผลไม้สดของไทย ขยายตัว17.8%
สินค้าน้ำตาลเอลนีโญทำให้อินเดียมีผลผลิตน้ำตาลลดลง อีกทั้งรัฐบาลอินเดียมีมาตรการชะลอการส่งออกน้ำตาล ทำให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกลดลง และส่งผลให้ราคาน้ำตาลโลกสูงขึ้น