“เอลนีโญ”เผาศก.ไทย 6 แสน - 2 ล้านล้าน “ครม.”ตั้ง“กรรมการด่วนพิเศษ”ลดผลกระทบ
เอลนีโญ คือ ปรากฎการณ์อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทร แปซิฟิกกลางและตะวันออกสูงขึ้นผิดปกติ โดยเมื่อต้พ.ค. 2566ที่ผ่านมา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO)
ได้ประกาศแจ้งเตือนปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น และการเกิดเอลนีโญจะส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศและมรสุมแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคของโลกโดยเอลนีโญเกิดจากกระแสลมเปลี่ยนทิศ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังภูมิภาคอเมริกาใต้ จึงทำให้ภูมิภาคอเมริกาใต้มีฝนตกหนักกว่าปกติ ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย จะเกิดภัยแล้งและอาจเกิดไฟป่า
ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้รับทราบรายงานผลกระทบ เอลนีโญ่ ที่ได้รับการยืนยันจากทั่วโลก ว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จะไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงปีเดียว แต่อาจจะมีผลกระทบต่อเนื่อง สูงสุดถึง 3 ปี ซึ่งหาก ประเทศไทยมีแผนรับมือที่ไม่ดี อาจจะสร้างความเสียหาย ให้กับประเทศ คิดเป็นมูลค่าขั้นต่ำที่ 6 แสนล้านบาท และมีมูลค่าเสียหายสูงสุดที่ 2 ล้านล้านบาท
โดยนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ตั้ง"คณะกรรมการพิเศษด่วนที่สุดเพื่อรับมือ ผลกระทบจากเอลนีโญ่" โดย ศึกษาความเป็นไปได้ในการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในต่างจังหวัด เพื่อออกมาตรการรับมือผลกระทบได้อย่างรวดเร็วเนื่องจาก หากต้องรอขั้นตอน การขอตั้งงบประมาณ ตามระบบราชการ แบบเดิมอาจไม่ทันสถานการณ์
ทั้งนี้ การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จากส่วนกลางจะทำให้ ส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ,องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ. ) และเทศกลาลที่มีเงินงบประมาณ เงินทุนสำรองอยู่แล้วมากพอ สามารถนำเงินออกมาใช้จ่ายได้ทันท่วงทีเช่นการ สร้างฝาย , ฝายซอยซีเมนต์ ธนาคารน้ำใต้ดิน ที่เป็นโครงการไม่ใหญ่มาก ใช้งบไม่เยอะสามารถใช้งบท้องถิ่นดูแลได้ทันท่วงที
ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งตั้งศูนย์ บริการประชาชน ภาคการเกษตรทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อให้เกษตรร้องเรียนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และจะแก้ไขได้ตรงจุด ซึ่งปัญหาภัยแล้งที่เป็นผลกระทบจากภาวะเอลนีโญ นั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งเตรียมรับมือและแก้ไข โดยจะหารือกับผู้บริหารเพื่อวางแนวทางรับมือทั้งกรมชลประทาน และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับการเก็บน้ำและการเติมน้ำในเขื่อน
“แผนรับมือเอลนีโญ ต้องครอบคลุมทั้ง3ปี แบ่งเป็นแผนระยะสั้น กลางและยาว เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด ที่เห็นชัดที่สุดในขณะนี้คือเกิดขึ้นกับผลผลิตข้าว ที่นาข้าวเสียหายเป็นจำนวนมาก”
ข้อมูลจากการสัมมนา“มุมมองเศรษฐกิจไทย ประจำไตรมาส 3 ปี 2566” โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC )ระบุว่า เศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤติภัยแล้งจะส่งผลในปี 2566-256 โดยแบ่งเป็น สถานการณ์น้ำฝนและน้ำในเขื่อนในปัจจุบันที่เผชิญฝนแล้งรุนแรงในหลายพื้นที่ ปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนทั่วประเทศค่อนข้างต่ำ ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งจะรุนแรงโดยภาคเหนือ กลาง ตะวันออก ฝนแล้งรุนแรงสุดในรอบ 41 ปี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและใต้ฝนแล้งใกล้เคียงปี 2552
สำหรับผลกระทบจากภับแล้งจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ แยกเป็นกรณีฐาน คือ ประมาณการปริมาณฝนที่น้อยกว่าค่าปกติ (ฝนแล้ง) โดยกำหนดให้เกิดเอลนีโญและไอโอดี (ไอโอดี (Indian Ocean Dipole) ขั้วบวก : ปรากฏการณ์ที่ความแตกต่างของอุณหภูมิ ผิวน้ำระหว่างบริเวณมหาสมุทรอินเดียฝั่ง ตะวันตกและฝั่งตะวันออกสูงขึ้นผิดปกติ)ขั้วบวกในเดือน ส.ค – ธ.ค. ในระดับเดียวกับ
การคาดการณ์ ณ เดือน ส.ค. ของสถาบันวิจัย IRI และกรมอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลีย
ในส่วนคาดการณ์กรณีฐาน SCB EIC ระบุว่า มูลค่าความเสียหายโดยตรง 69,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ปี 2566 มูลค่า 20,000 ล้านบาท ส่งผลต่อจีดีพี ลดลง 0.14% และทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.18% ขณะที่ปี 2567 มูลค่า 49,000 ล้านบาท ส่งผลต่อจีดีพีลดลง 0.36% เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.45%
จากแผนการเตรียมงานรับมือผลกระทบจากเอลนีโญ ที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะรัฐมนตรีนับเป็นสัญญาณที่ดีท่ามกลางสัญญาณแห่งความน่ากังวลใจจากผลกระทบจากความแห้งแล้งของสภาพอากาศที่ปั่นป่วน