“เวิลด์แบงก์” ชี้จุดอ่อนทางการศึกษา ทำคนเคลื่อนไม่ทันพลวัตเศรษฐกิจ

“เวิลด์แบงก์” ชี้จุดอ่อนทางการศึกษา  ทำคนเคลื่อนไม่ทันพลวัตเศรษฐกิจ

“เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ยังคงเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เติบโตเร็ว และมีพลวัตมากที่สุดในโลก” มานูเอลา วี.เฟอร์โร รองประธานธนาคารโลกเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว

 พร้อมระบุว่า “การคงรักษาพลวัตนี้ไว้ และการช่วยให้เด็กๆ ในปัจจุบันมีงานทำ และมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงจำเป็นต้องให้เด็กได้รับการสอนที่มีคุณภาพสูง”

“การศึกษา” คือ เครื่องมือพัฒนาคนที่ต้องสอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าการศึกษายังมีจุดอ่อนการพัฒนาก็จะไม่สมบูรณ์แบบ

รายงานเรื่อง Fixing the Foundation: Teachers and Basic Education in East Asia and Pacific ของ ธนาคารโลกระบุว่า แม้จะมีจำนวนเด็กที่เข้าศึกษาในโรงเรียนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย แต่ปรากฏว่ามีเด็กในบางประเทศหรือบางพื้นที่ของบางประเทศยังคงไม่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอีกทั้งพบว่าคุณภาพของการศึกษาในเขตพื้นที่ชนบท และพื้นที่ที่มีความยากจนของประเทศ ด้อยกว่าพื้นที่ในเขตเมือง และเขตที่มีผู้มีรายได้สูงอาศัยอยู่อย่างมาก

นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่าใน 14 ประเทศจากทั้งหมด 22 ประเทศ รวมถึงอินโดนีเซีย,เมียนมา,กัมพูชา,ฟิลิปปินส์ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีภาวะความยากจนทางการเรียนรู้(กำหนดโดยพิจารณาจากเด็กอายุ 10 ปี ที่สามารถอ่าน และเข้าใจเนื้อหาที่เหมาะสมกับวัยได้)คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50%

สำหรับประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง เช่น มาเลเซีย มีภาวะความยากจนทางการเรียนรู้ที่สูงกว่า 40%ในทางตรงกันข้าม ญี่ปุ่น,สิงคโปร์ และสาธารณรัฐเกาหลี มีภาวะความยากจนทางการเรียนรู้อยู่ที่ 3-4%

“ความล้มเหลวในการเตรียมทักษะพื้นฐานให้กับนักเรียน ทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาต่อยอดทักษะขั้นสูงที่จำเป็นสำหรับนวัตกรรมการผลิต และบริการที่ซับซ้อน รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งเสริมความสามารถในการผลิต”

รายงานระบุถึง “ครู” ที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาของเด็กแต่พบว่า หลายประเทศในภูมิภาค ครูมักมีความรู้ในสาขาวิชาของตนที่จำกัดใน สปป.ลาวมีเพียง 8% ของครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เท่านั้น ที่ทำคะแนนแบบประเมินวิชาคณิตศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ได้ 80% หรือสูงกว่า ในทำนองเดียวกัน ประเทศอินโดนีเซียมีครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เพียง 8% เท่านั้นที่ทำคะแนนได้ 80% หรือสูงกว่าจากการประเมินทักษะ

รายงานจึงแนะนำให้มุ่งเน้นที่การเสริมสร้างศักยภาพของครู แม้ว่าจะมีข้อมูลแสดงให้เห็นว่าในแต่ละปีมีการฝึกอบรมครูในภูมิภาคนี้เป็นสัดส่วนค่อนข้างสูงแต่ข้อมูลใหม่จากการสำรวจในกัมพูชา,ฟิจิ,สปป.ลาว,มองโกเลีย,ฟิลิปปินส์,ไทย,ติมอร์-เลสเต,ตองกา และเวียดนาม ระบุว่า โครงการฝึกอบรมเหล่านั้นไม่ได้ใช้แนวทางที่ช่วยปรับปรุงการเรียนรู้ของนักเรียนแต่อย่างใด เช่น ในบรรดาประเทศที่ทำการสำรวจ โครงการฝึกอบรมนี้ได้มุ่งเน้นไปที่เนื้อหาวิชาเพียง 14% ของโครงการเทียบกับ 81% ของโครงการที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงการเรียนรู้ของนักเรียนทั่วโลก

เพื่อให้โครงการอบรมมีประสิทธิผลการฝึกอบรมควรส่งเสริมความรู้ในวิชาต่างๆ โดยเปิดโอกาสให้มีการฝึกฝนความรู้ใหม่ๆ ในหมู่ครูการติดตามผลการฝึกสอน และการให้คำปรึกษาตลอดจนจัดให้มีสิ่งจูงใจทางวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเลื่อนตำแหน่งหรือเงินเดือน นอกจากนี้ควรมีการมอบรางวัลตอบแทนให้ครูที่สามารถรักษาคุณภาพการสอนได้อย่างสม่ำเสมอ

เทคโนโลยีการศึกษา(EdTech) มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงการเรียน การสอนสำหรับนักเรียน ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการที่นักเรียนหรือครูสามารถเข้าถึงบทเรียนที่มีการบันทึกวิดีโอไว้ล่วงหน้าจากครูที่มีคุณภาพสูง มีส่วนทำให้คะแนนของนักเรียนสูงขึ้น และช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการสอนของครูคนอื่นด้วย อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีการศึกษาจะได้ผลดีที่สุดเมื่อใช้กับครูที่ได้รับการฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว

รายงานยังระบุอีกว่า การที่ผู้กำหนดนโยบายให้การสนับสนุน และมีความมุ่งมั่นในการปรับปรุงผลลัพธ์ของการเรียนรู้นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่มุ่งหวังนอกจากนี้การพิจารณานำมาตรการที่ประสบความสำเร็จมาใช้ในการยกระดับคุณภาพการสอน และปรับปรุงการเรียนรู้ของนักเรียนรวมถึงการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพ และการใช้เทคโนโลยีการศึกษานั้นจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และต้องมีการจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติม

การแก้ปัญหาภาวะความยากจนทางการเรียนรู้จะทำให้อนาคตของเด็กรุ่นหลังสดใสขึ้น อีกทั้งส่งเสริมให้เศรษฐกิจของภูมิภาคดียิ่งขึ้น ดังนั้น การแก้ไขรากฐานทางการศึกษาจำเป็นต้องอาศัยการปฏิรูป และทรัพยากรต่างๆ ตลอดจนความร่วมมือจากทุกฝ่าย

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์