‘กรมเจรจาฯ’ เตือน ออสเตรเลียเตรียมออกมาตรการ CBAM
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แจ้งเตือน ออสเตรเลีย อยู่ระหว่างพิจารณาจะนำมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ที่คล้ายกับของอียูมาใช้กับ 3 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า และซีเมนต์ มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดความเหลื่อมล้ำทางการแข่งขัน
คาดจะทราบผลในไตรมาส 3 ของปี 67 ด้านไทย เร่งติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด สร้างความเข้าใจผู้ประกอบการไทยพร้อมรับมือมาตรการ CBAM อย่างต่อเนื่อง
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการติดตามความเคลื่อนไหวในต่างประเทศ เรื่องแนวโน้มการนำประเด็นสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เชื่อมโยงกับการออกมาตรการทางการค้า หลังจากที่สหภาพยุโรป (อียู) เป็นประเทศแรกที่ประกาศใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) กับสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อลูมิเนียม ปุ๋ย ปูนซีเมนต์ ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ซึ่งจะบังคับใช้เต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569
ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ออสเตรเลีย ได้ประกาศว่าอยู่ระหว่างพิจารณาจะนำมาตรการที่คล้ายกับ CBAM ของอียูมาใช้ เพื่อป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอน และลดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการภายในประเทศกับคู่แข่งจากต่างชาติที่ไม่ได้มีมาตรการเข้มงวดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ออสเตรเลียได้ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับมาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อม กำหนดให้อุตสาหกรรมหรือโรงงานขนาดใหญ่ในออสเตรเลีย ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 1 แสนตันต่อปี ต้องจัดทำเป้าหมาย (baselines) ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ให้ได้ 43% ภายในปี 2573 และเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยออสเตรเลียจะเริ่มบังคับใช้กับสินค้าเหล็ก เหล็กกล้า และซีเมนต์ ซึ่งคาดว่าจะทราบผลการพิจารณา ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567
“กรมจะติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้ และหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับไทยต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา กรมได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับมาตรการ CBAM ของอียู โดยเฉพาะการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการและผู้ผลิตสินค้าของไทย อาทิ การให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน การคำนวณค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอน กระบวนการตรวจสอบ และรับรองการดำเนินงานของผู้ประกอบการ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก รวมทั้งการรับมือให้ครอบคลุมมาตรการ CBAM ที่ประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย จะประกาศใช้ในอนาคต” นางอรมน เสริม
ทั้งนี้ ในปี 2565 ไทยส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าไปออสเตรเลีย มูลค่า 20.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 1% ของการส่งออกเหล็กกล้าของไทยสู่โลก ขณะที่ออสเตรเลียนำเข้าเหล็กกล้าจากทั่วโลก มูลค่า 2,247 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน จีนไทเป เกาหลีใต้ เวียดนาม และอินเดีย และไทยส่งออกปูนซีเมนต์ไปออสเตรเลีย มูลค่า 61.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 13.86% ของการส่งออกปูนซีเมนต์ของไทยสู่โลก ขณะที่ออสเตรเลียนำเข้าปูนซีเมนต์จากทั่วโลก มูลค่า 238.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม