เศรษฐกิจ-สังคม 'คาร์บอนต่ำ' ทีดีอาร์ไอ แนะฮาวทูสู่หมุดหมายใหม่ประเทศไทย
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ จัดงานสัมมนา “TDRI Annual Public Conference 2023” ปรับประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนต่ำ" เนื้อหาสาระสามารถนำมาสรุปเป็นฮาวทูให้ประเทศไทยสู่เป้าหมาย การพัฒนาที่ยังยืนได้อย่างน่าสนใจ
อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อ ปฏิรูปภาคไฟฟ้า...พาไทยให้อยู่รอด ว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเพิ่มพลังงานสะอาดเพื่อบรรลุเป็นหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 แต่จากรายงานคะแนนความสมดุลของประเทศไทย ของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน แสดงให้เห็นว่าคะแนนความสมดุลของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2020 สาเหตุหลักมาจากราคาค่าไฟที่ค่อนข้างสูง และสัดส่วนพลังงานไฟฟ้าสะอาดค่อนข้างต่ำ
ทีดีอาร์ไอมองว่า จะต้องเร่งระบบไฟฟ้าให้เป็นตลาดเสรี แม้จะมีการพูดถึงทั้งในองค์กรระดับเอกชนและภาครัฐมาในระยะหนึ่งแล้วแต่ก็ยังไม่มีการกำหนดแบบแผนที่ชัดเจน ดังนั้น ภาครัฐจะต้องออกนโยบายเพื่อเป้าหมายไฟสะอาด ราคาถูก และเป็นธรรม
“การที่ไทยยังอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มากเกินไป และปรับราคารับซื้อพลังงานสะอาด ทำให้บริษัทพลังงานไทยหันไปเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ลดความสามารถในการดึงดูดนักธุรกิจที่ต้องการลงทุนในประเทศไทย”
สำหรับปัจจัยที่ทำให้พลังงานสะอาดไม่ถึงเป้าคือ 1. ภาคประชาชน โดยการล้มเลิกแผน Net Metering ทำให้ประชาชนลดการติดตั้งโซลาร์รูฟจากค่าไฟที่หายไป เพราะปัจจุบันใช้ระบบ Net Billing ที่ทำให้สิทธิส่วนลดค่าไฟต้องหายไป
2. การไม่เปิดสิทธิ์ให้เอกชนเชื่อมต่อระบบส่งไฟฟ้า แม้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกร่างกำหนดเชื่อมต่อสายส่ง Third Party Access เพื่อรองรับระบบไฟฟ้าเสรีในอนาคต แต่ก็ไม่มีความชัดเจน
3. ภาคการจำหน่าย ซึ่งนโยบายภาครัฐยังไม่สนับสนุนภาครัฐไฟฟ้าราคาถูก และเป็นธรรม ซึ่งสาเหตุเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ 1. การคาดการณ์ปริมาณความต้องการไฟฟ้าที่สูงเกินจริง 2. คิดต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจาก 3 แหล่งที่ไม่เป็นธรรม
องค์ประกอบทางสังคมและเศรษฐกิจนอกจากภาคพลังงานแล้ว การเคลื่อนย้าย คน หรือ ของ ในสังคมก็เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนด้วยเช่นกัน
สุเมธ องกิจจิกุล รองประธาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการขนส่งส่วนใหญ่ยังใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่ปล่อยคาร์บอนสูงในการเดินทาง โดย สาขาที่ปล่อยมากที่สุด คือ การขนส่งทางบก ที่ยังใช้น้ำมันดีเซลและเบนซิน รองลงมา คือ ขนส่งทางอากาศ ดังนั้น หากต้องการลดคาร์บอนตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนจะต้องลดการปล่อยคาร์บอนภาคขนส่งอย่างน้อย 40% ในปี 2030 ในปัจจุบันมีการปล่อยในปริมาณ 80 ล้านตันต่อปี และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเป็น 110 ล้านตันต่อปี ในปี 2030 หากยังใช้เชื้อเพลิงปกติ และไม่มีมาตรการส่งเสริม
อย่างไรก็ตาม นโยบายภาครัฐ 4 ด้านที่ยังไม่ตอบโจทย์ คือ 1 การส่งเสริมการใช้รถ EV ยังจำกัดในเมือง 2. ระบบขนส่งสาธารณะในเมืองไม่พร้อมทำให้คนยังใช้รถยนต์ส่วนบุคคล 3. การลงทุนรถไฟทางคู่ที่ไม่ตอบโจทย์การขนส่งระหว่างเมือง 4. การปล่อยคาร์บอนจากการเดินทางทางอากาศยังไม่มีมาตรการที่ดี
สิ่งที่อยู่คู่กับการดำเนินชีวิตในสังคมอย่างหนึ่งคือ “ภาษี” เพราะไม่ว่าจะทำกิจกรรมใดๆในระบบเศรษฐกิจก็จะมีเม็ดเงินภาษีแฝงอยู่ในทุกการใช้จ่ายและทุกกิจกรรม ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของ “คาร์บอนต่ำ”
กรรณิการ์ ธรรมพาณิชวงศ์ นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อ ปั๊มรายได้ สร้างเศรษฐกิจ...ผลิตในยุคคาร์บอนต่ำ ว่า
ช่วง 10 ปี ข้างหน้า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับวันจะมีความทวีรุนแรงมากขึ้น ปัญหาเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้รัฐบาลในหลายประเทศรวมถึงบริษัทขนาดใหญ่หันมาสนใจเกี่ยวกับนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการยกระดับเป้าหมายองค์กรเพื่อจะไปสู่การผลิตในยุคคาร์บอนต่ำมากขึ้น
นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันยังมีอุปสรรคในการที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำหรือเศรษฐกิจสีเขียวมาก โดยมีปัจจัย 1.กฎระเบียบในการซื้อขายไฟฟ้ 2. ไทยยังไม่มีภาษีคาร์บอนที่ชัดเจน 3. ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน 4. มีความท้าทายในเรื่องของสโคป 3 emissions และ 4. ขาดความรู้และยังมีพฤติกรรมการผลิตการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ
ข้อเสนอแนะของทีดีอาร์ไอ เป็นเหมือนภาพสะท้อนจากกระจกที่ไม่เพียงบอกว่า ความพยายามสู่การพัฒนาที่ยังยืนของประเทศไทยยังมีส่วนที่ต้องแก้ไขและสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่หากดำเนินการได้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าจะไม่ใช่แค่ภาพสะท้อนแต่จะเป็นภาพความสำเร็จของประเทศไทยและคนไทยทุกคน