ออสเตรเลียปักยุทธศาสตร์การค้า "อาเซียน" มุ่งพลังงานสีเขียว - อาหารและเกษตร
ออสเตรเลียประกาศยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ปี 2583 ช่วยกระตุ้นการค้าการลงทุนในอาเซียน และไทย คาดมูลค่าการค้าจะขยายตัวถึง 6.3% หนุนสาขาที่ไทยมีศักยภาพ ทั้งเกษตร และอาหาร พลังงานสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และบริการสุขภาพ
แนะผู้ประกอบการไทยต่อยอดขยายโอกาสทางการค้า และการลงทุนกับออสเตรเลีย
นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ออสเตรเลียได้ประกาศยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ปี 2583 ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์กับภูมิภาคอาเซียนส่งเสริมการค้าการลงทุนให้เติบโตขึ้น และกระตุ้นการลงทุนของนักธุรกิจชาวออสเตรเลียให้ลงทุนในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงไทย โดยคาดการณ์ว่า หากมีการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น มูลค่าการค้าจะขยายตัวถึง 6.3% หรือประมาณ 343 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2583 จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะต่อยอด และขยายโอกาสทางการค้า และการลงทุนกับออสเตรเลีย
นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย (นายแอนโทนี แอลบานีส) ได้แต่งตั้งนายนิโคลัส มัวร์ เป็นผู้แทนพิเศษสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้นำการหารือกับภาคส่วนต่างๆ อย่างรอบด้าน และได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยเล็งเห็นถึงศักยภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะสามารถเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นอันดับ 4 ของโลก ภายในปี 2583 รองจากสหรัฐ จีน และอินเดีย ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 4% ระหว่างปี 2565-2583 ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของประชากร และอุตสาหกรรมต่างๆ ในภูมิภาค
สำหรับยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้ระบุสาขาที่มีความน่าสนใจ และมีศักยภาพในการส่งเสริมการค้า และการลงทุนกับไทย อาทิ เกษตรและอาหาร ซึ่งออสเตรเลียมีศักยภาพในการป้อนวัตถุดิบด้านเกษตรขั้นสูง การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสีเขียว นักลงทุนออสเตรเลียสามารถเข้ามาลงทุนด้านเทคโนโลยีสีเขียว ยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่ และธุรกิจ BCG การศึกษาและการพัฒนาทักษะแรงงานต่างๆ ผ่านระบบการรับรองการศึกษาทางเลือก อาทิ การท่องเที่ยว บริการโรงแรม เทคโนโลยีสารสนเทศ การก่อสร้าง และผลิตอาหาร เศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เจาะตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านภาพยนตร์ เกม แอนิเมชัน ศิลปะ แฟชั่น และวัฒนธรรม และบริการสุขภาพ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากร ทั้งไทยและออสเตรเลีย ที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมากขึ้น จึงมีความต้องการที่จะส่งเสริมการลงทุนในด้านนี้ อาทิ เทคโนโลยีด้านการแพทย์ เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ และการฝึกอบรมดูแลผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ รายงานยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้ประเมินสัดส่วนการลงทุนของออสเตรเลียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยในปี 2565 มีมูลค่า 123.1 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย คิดเป็นสัดส่วน 3.4% ของการลงทุนทั่วโลกของออสเตรเลีย ส่วนด้านการค้า ออสเตรเลียเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 8 ของอาเซียน มีสัดส่วนการค้า 3.4% โดยส่งออกสินค้ากลุ่มแร่ธาตุ และเชื้อเพลิงเป็นหลัก ซึ่งจากปริมาณการค้า และการลงทุนที่ค่อนข้างจำกัด จึงน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลออสเตรเลียให้ความสำคัญกับการจัดทำยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของออสเตรเลียกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและขยายโอกาสทางการค้า และการลงทุน
ทั้งนี้ ไทย และออสเตรเลียมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ร่วมกัน 3 ฉบับ คือ ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) นอกจากนี้ ในปี 2565 การค้าระหว่างไทย และออสเตรเลีย มีมูลค่า 18,315.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 6.27% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปออสเตรเลีย มูลค่า 11,187.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากออสเตรเลีย มูลค่า 7,128.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ และอัญมณีเครื่องประดับ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ก๊าซธรรมชาติน้ำมันดิบ และสินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะ และผลิตภัณฑ์
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์