'UNGCNT' ชู 5 ประเด็นสำคัญกู้ 'วิกฤติโลกร้อน'
UN Global Compact ชู Forward Faster ดึงภาคธุรกิจ เร่งความคืบหน้า และให้คำมั่นต่อ 5 ประเด็น เป้าหมายที่ภาคเอกชนสามารถสร้างผลกระทบได้มากที่สุด สร้างความร่วมมือทั้งคู่ค้า และคู่แข่ง แก้วิกฤติโลก
Key Point :
- การแก้ปัญหาวิกฤติโลก ให้รอดพ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคเอกชน ที่มีศักยภาพ และเป้าหมายร่วมกัน
- อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่มี 17 ข้อ 169 เป้าประสงค์ อาจเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ได้ครบ 17 ข้อ
- จึงเกิด Forward Faster ในการดึงภาคธุรกิจ เร่งความคืบหน้า และให้คำมั่นต่อ 5 ประเด็นเป้าหมาย สร้างความร่วมมือทั้งคู่ค้า และคู่แข่ง ให้เห็นผลได้เร็วขึ้น
UN Global Compact เผยเทรนด์ความยั่งยืนในปี 2024 จากข้อมูลที่สำรวจกว่า 1,200 บริษัททั่วโลก เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อ 169 เป้าประสงค์ พบว่า กว่า 85% ทำไม่ได้ตามเป้า แม้จะมีองค์กรธุรกิจมีความตั้งใจประกาศเจตนารมณ์กว่า 96% และ 79% มีสินค้า และบริการที่ตอบโจทย์ และเชื่อมโยงกับ SDGs
ขณะเดียวกัน ราว 39% มองว่ายังทำไม่เต็มที่ เพราะบางครั้งแผน ยังไม่ออกมาเป็นสินค้า และบริการอย่างแท้จริง เป็นที่มาของ โครงการ Forward Faster ในการดึงภาคธุรกิจ เร่งความคืบหน้า และให้คำมั่นต่อ 5 ประเด็นเป้าหมายที่ภาคเอกชนสามารถสร้างผลกระทบได้มากที่สุด สร้างความร่วมมือทั้งคู่ค้า และคู่แข่ง ทำเรื่องเดียวกัน เพื่อให้เห็นผลได้เร็วขึ้น
ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวในงาน SUSTAINABILITY FORUM 2024 จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ว่า UN Global Compact เกิดขึ้นในปี 2000 จากการเล็งเห็นว่าต้องพึ่งเอกชนในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะมีบริษัทที่อยู่มานาน และอยากจะอยู่ต่อไป เกิดนวัตกรรมวัดผลในเชิงสังคม 17 เป้าหมาย เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- UNDP ร่วม ก.ล.ต. ชูคู่มือ SDG พัฒนายั่งยืน เจาะตลาดมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลล์
- 'ศุภชัย เจียรวนนท์' ประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนประเทศ บนเวที 'GCNT Forum 2023'
- ‘ฟินแลนด์’ ครองแชมป์ ‘ประเทศพัฒนายั่งยืน’ 2023 ไทยรั้งที่ 43 จาก 193 ประเทศ
“ในประเทศไทย มีปัจจัยเร่งที่จะต้องมีการดำเนินงาน และแข่งขัน ในการพัฒนาเพราะเราเจ็บปวดจากหลายเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่แค่ PM2.5 แต่เป็นความแล้ง ความร้อน และมีแนวโน้มว่าผลผลิตทางการเกษตรลดลง 25% ในปีหน้า กลายเป็นต้นทุนที่เราต้องเสียในการผลิต เรื่องของเทคโนโลยี การผันผวนเศรษฐกิจและการเมือง”
ทั้งนี้ ใน 2 ปีที่ผ่านมา UN GCNT และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) มองว่า ต้องขยับจาก ESG มาโฟกัสให้ทุกประเทศร่วมกันจากเดิม SDGs 17 เป้าหมาย โดยเลือก Top 5 เป้าหมายที่ 6 น้ำสะอาดและสุขาภิบาล เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม และอุตสาหกรรม และเป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
5 ประเด็นเร่งด่วน กู้วิกฤติโลก
ดร.ธันยพร กล่าวต่อไปว่า หากบริษัทต้องทำหลายเรื่อง ทำอย่างไรให้เกิดผลิตผล ดังนั้น จึงมีการหารือเพิ่มเติมในปีนี้ มี 5 เรื่องที่สหประชาชาติ มองว่า ภาคธุรกิจสามารถทำไปพร้อมกัน และจะวัดผลไปด้วยกัน ภายใต้ Forward Faster โครงการริเริ่มใหม่ล่าสุดที่เรียกร้องให้ธุรกิจต่างๆ เร่งความคืบหน้า และให้คำมั่นต่อ 5 ประเด็นเป้าหมายที่ภาคเอกชนสามารถสร้างผลกระทบได้มากที่สุด ดังนี้
ประเด็นเป้าหมายที่ 1 ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) บางองค์กรใช้วิธีการผสมผสานผู้บริหารทางธุรกิจ มีหลายบริษัทที่เป็นองค์กรระดับโลก เพิ่มสัดส่วนผู้นำหญิงในองค์กร 20-40% ทำให้มีความเท่าเทียมทางการคิด และส่งผลต่อการทำธุรกิจ พบว่า แค่เปลี่ยนให้ผู้หญิงคิดผู้บริโภคหันกลับมาใช้บริการมากขึ้น เพราะหลายบ้านผู้หญิงเป็นคนตัดสินใจในการซื้อของ เกิดโอกาสในการทำธุรกิจได้มากขึ้น
ประเด็นเป้าหมายที่ 2 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) เราเคยตั้งเป้าว่าจะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 1.5 องศา ขณะที่ในการประชุม COP28 มองว่า มีแนวโน้มจะไปถึง 2.6 องศา ดังนั้น เราคือเจเนอเรชั่นสุดท้าย ที่ทำให้โลกร้อนลดลง การที่จะลดอุณหภูมินั้นหากภาคธุรกิจสามารถลดการใช้พลังงานลง หรือไม่ใช้พลังงาน ไม่ผลิต เอาของที่เหลือมา Reuse Recycle ไม่ต้องผลิต ไม่ต้องใช้พลังงาน แต่ตอบโจทย์โลกใบนี้จะเป็นข้อได้เปรียบ
ประเด็นเป้าหมายที่ 3 ค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิตที่เหมาะสม (Living Wage) ค่าจ้างแรงงาน ไม่ใช่ค่าจ้างขั้นต่ำ แต่เป็นค่าจ้างที่เหมาะสมของการดำเนินชีวิต เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพในครอบครัว โดยเฉพาะในสังคมสูงวัย บางครอบครัว เหลือคนทำงานแค่ 1 คน บางบริษัทมองว่า การได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม และมาตรฐานที่ดี จะทำให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยในการเติบโตของธุรกิจ
ประเด็นเป้าหมายที่ 4 การเงิน และการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ SDGs การปรับกลยุทธ์ทางการเงินให้สอดคล้องกับ SDGs จะปลดล็อกความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ให้องค์กร ทั้งในแง่ของการดึงดูดนักลงทุน และเปิดโอกาสใหม่ในการลงทุน การปกป้องประสิทธิภาพทางการเงินของบริษัทในระยะยาว ลดความเสี่ยงเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล รวมถึงป้องกันปัญหาด้านกฎหมาย และชื่อเสียงขององค์กรที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
ประเด็นเป้าหมายที่ 5 การฟื้นคืนแหล่งน้ำ (Water Resilience) เสียงของน้ำไม่เคยบอกเราว่าเขาเดือดร้อน แต่คนใช้น้ำกำลังเดือดร้อน จากการทำเดต้า พบว่า น้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังจะขาดแคลนภายใน 3 ปี หากขาดน้ำ ไม่เพียงกระทบการเกษตร แต่กระทบต่อการใช้ชีวิตของเราด้วย ที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้คิดราคาค่าน้ำตามมูลค่าตามธรรมชาติ แต่ในออสเตรเลีย จีน และเวียดนาม ตอนนี้เอาน้ำไปอยู่ใน Bank Account เพราะเป็นความเสี่ยงของธุรกิจ โดยประเทศจีนมีหลายเขต หลายรัฐ ที่ไม่มีน้ำเพียงพอ จึงสงวนพื้นที่ภูเขา ห้ามรุกล้ำ โดย UN เผยว่า มีแค่ 100 แห่งของแหล่งน้ำทั่วโลก ที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม หนึ่งในนั้น คือ แม่น้ำโขง ในประเทศไทย
“หากมีเป้าหมายแบบนี้ ไม่ว่าจะมีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หรือ รายย่อย หากทำไปด้วยกัน เป้าหมาย Moving Forward จะง่ายขึ้น โครงการ Forward Faster เป็นการเร่งสปีด ให้พวกเราทำเรื่องเดียวกัน ร่วมมือร่วมใจ ถึงแม้ว่าจะเป็นคู่ค้า หรือ คู่แข่ง ทำเรื่องเดียวกัน และคุณจะเห็นผลได้เร็วขึ้น” ดร.ธันยพร กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์