'กฟผ.' ชูนวัตกรรมหนุนแผนPDP เพิ่มสัดส่วนไฟสะอาด สู่เป้าหมายความยั่งยืน
"กฟผ." ย้ำ ไฟฟ้าถือเป็นพื้นฐานสำคัญให้กับเศรษฐกิจประเทศ ระบุภาคนโยบาย-ผู้ปฎิบัติ ต้องมองเป้าหมายเดียวกัน ชูนวัตกรรม หนุนแผน PDP เพิ่มสัดส่วนไฟสะอาด มุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืน
นางณิศรา ธัมมะปาละ วิศวกรระดับ 11 ทำการแทน ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในงาน “SUSTAINABILITY FORUM 2024” ในหัวข้อ "Sustainable Urbanization : Better Cities and Communities" จัดโดย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า กฟผ.ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ในส่วนของความยั่งยืนนั้น กฟผ. ได้ประกาศยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับแผนยุธศาสตร์ชาติตามแนวคิด ESG เพื่อทำให้พลังงาน และราคาค่าไฟฟ้าอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมโดยการใช้นวัตกรรมเพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ใช้ไฟอย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไฟฟ้าถือว่ามีความสำคัญ เมื่อคำนึงถึงอนาคตที่ไม่ใช่จบแค่ที่รุ่นเรา ดังนั้น รุ่นลูก รุ่นหลานจะต้องมีสังคม สภาพความเป็นอยู่อาศัยเหมือนปัจจุบันที่ยังคงให้มีอากาศบริสุทธิ์ อีกทั้ง ไฟฟ้าถือเป็นพื้นฐานสำคัญให้กับเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งภาคนโยบายและผู้ปฎิบัติจึงต้องมองเป้าหมายเดียวกัน
"รัฐบาลมุ่งสู่พลังงานสะอาดและได้กำหนดเป้าหมาย Net Zero ในเวที COP27 และ COP28 โดยจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ได้มากกว่า 50% เพราะปัจจุบันปลายแผนพัฒนาพลังไฟฟ้า (แผน PDP) สัดส่วนไม่เกิน 30% ดังนั้น การจะเพิ่มสัดส่วนจึงต้องร่วมกับทุกภาคส่วน จะเห็นว่ารัฐบาลมีนโยบาย 30@30 ต่างตอบสนองด้านความยั่งยืน"
นอกจากนี้ เมื่อ กฟผ. จะพัฒนาโครงการในโรงไฟฟ้าต่าง ๆ จะดำเนินตามกรอบแผนพีดีพี เดิมมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 20-30% ดังนั้น กฟผ. ได้พัฒนาต่อยอดสู่ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ กับพลังนํ้าจากเขื่อนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro-floating Solar Hybrid) จำนวน 16 โครงการทั่วประเทศ กำลังการผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 แม้จะมีพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้กว่า 1 หมื่นเมกะวัตต์ แต่ก็ยังมีพลังงานใหม่ ๆ จากเทคโนโลยีใหม่มาเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดอีก
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรง ทำให้ทั่วโลกต้องเผชิญกับผลกระทบและภัยพิบัติทางธรรมชาติ กฟผ. ได้ตั้งเป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ปี ค.ศ.2050 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ภายใต้กลยุทธ์ “Triple S” ประกอบด้วย
1. Sources Transformation : การจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid modernization) และการนำเทคโนโลยีทันสมัยและพลังงานทางเลือกมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในอนาคต รวมถึงศึกษาเทคโนโลยีพลังงานแห่งอนาคตในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย
2. Sink Co-Creation : การเพิ่มปริมาณการดูดซับกักเก็บคาร์บอน อาทิ โครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5 – 7 ล้านตัน ในปี 2588 พร้อมศึกษาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ รวมถึงปลูกป่า 1 ล้านไร่ ระหว่างปี 2565-2583
3. Support Measures Mechanism : กลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 การให้คำปรึกษาด้านพลังงาน การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โครงการห้องเรียนสีเขียวกว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศ
"กฟผ. ได้ดำเนินตามนโยบายภาครัฐ ซึ่งการลดก๊าซเรือนกระจก โดยเทคนิคแล้วจะต้องเพิ่มพลังงานหมุนเวียน ซึ่งยังไม่สามารถผลิตไฟสะอาดได้ 24 ชั่วโมง จึงต้องหาเทคโนโลยีอื่นมาเสริม ร่วมกับแพลตฟอร์มเพื่อให้มีการใช้ไฟฟ้าน้อยลง ทั้งนี้ พลังงานถือเป็นพื้นฐานความสุขของทุกคนทั้งประชาชน และภาคธุรกิจ กฟผ. ดำเนินการและพัฒนาโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจและภาครัฐในรูปแบบต่าง ๆ รองรับการใช้งานพลังงานในอนาคต"