'ปตท.' ผนวกแนวคิด ESG ทุกกลุ่มธุรกิจ เสริมภูมิพนักงาน ร่วมเติบโตยั่งยืน
"ปตท." ผนวกแนวคิด ESG แทรกในแผนธุรกิจ ย้ำ Mindset คนในองค์กรสำคัญสุด เร่งสร้างความเข้าใจคนทุกเจนเพื่อเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน ยันอนาคตธุรกิจ "น้ำมัน-แก๊ส" ต้องลดลง เร่งเดินหน้าธุรกิจใหม่ลดการปล่อยคาร์บอนและเพิ่มมูลค่าสูง
นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในงาน “SUSTAINABILITY FORUM 2024” ในหัวข้อ "PTT Synergy for Sustainability" จัดโดย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ปตท.มีหลายสถานภาพ ทั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ และบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ต้องแข่งขัน ไม่ใช่เสือนอนกิน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืน ปตท. ได้นำแนวคิด ESG แทรกเข้าไปตั้งแต่กลยุทธ์ แผนปฎิบัติการ รวมถึงเป้าหมายธุรกิจ การที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่าภาคพลังงานปล่อยคาร์บอน 70% ปตท. อยู่ในกลุ่มดังกล่าว จึงต้องให้ความสำคัญ
"ปตท.เมื่อ 3 ปีที่แล้วได้เปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่เป็น "Powering Life with future energy and beyond" ปีนี้ได้ฉลองครบรอง 45 ปี จากเดิมที่หลายคนอาจจะรู้จักะคือ ออยล์&แก๊ส กับ ปิโตรเคมิคัล เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแนวโน้มจะลดลงในอนาคต ส่วนประชากรจะไม่เพิ่ม ดังนั้น หากจะเติบโตต่อไปจะต้องหาธุรกิจใหม่และก้าวออกไปดำเนินธุรกิจนอกประเทศ"
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานด้าน ESG นั้น Mindset สำคัญ สุด ปตท. บริหารงานเป็นกลุ่ม แปลงร่างมาจากการปิโตเลียมแห่งชาติ ปี 2544 และปตท. ถือหุ้นบริษัทในกลุ่มโดยตรง 36 บริษัท และมีบริษัทที่แตกลูกออกมาอีก 450 บริษัท รวมกว่า 4 หมื่นคน การบริหารองค์กรที่ซับซ้อนต้องบริหารด้วยความรอบคอบ จึงต้องทำความเข้าใจกับพนักงานให้มีแนวคิดเดียวกัน
ทั้งนี้ สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเป้าหมาย Net Zero แบบมีเงื่อนไขในปี ค.ศ. 2065 คือต้องมีประเทศที่แข่งแรงสนับสนุน ดังนั้น กลุ่มปตท. ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ 6 บริษัท บวกปตท. เป็น 7 จึงต้องกำหนดเป้าหมาย Net Zero ให้เร็วกว่า แบ่งเป็น 4 บริษัทในปี ค.ศ. 2050 และอีก 3 องค์กรอาจมีข้อจำกัดและช้ากว่า แต่ก็ถือว่าเร็วกว่าที่ประเทศกำหนด
นายเทอดเกียรติ กล่าวว่า ปตท. กำหนดแนวทางการดำเนินงาน 3 ด้านหลัก หรือ 3P ประกอบด้วย
- Pursuit of Lower Emissions (การปรับ) โดยปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด อาทิ การปรับเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาใช้เงินไปแล้วเป็นหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะโรงแยกแก๊ส เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนแล้วนำมาใช้ประโยชน์ด้วยเทคโนโลยี CCUS โดยปตท.สผ. อาจเกิดธุรกิจใหม่และเป็นโอกาสในอนาคต
- Portfolio Transformation (การเปลี่ยน) โดยการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและธุรกิจใหม่ อาทิ เปลี่ยนปิโตรเคมิคัลเป็นอุตสาหกรรมมูลค่าสูง หรือจากการใช้แก๊สฯ น้ำมันมาเป็นโซลาร์ ลม ที่ดำเนินการทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงอุตวสหกรรมยา และยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นต้น
- Partnership with Nature and Society (การปลูก) การเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติผ่านการปลูกและบำรุงรักษาป่าไม้ รวมถึงพื้นที่สีเขียวต่างๆ ทั่วประเทศ โดยปลูกมาแล้ว 1 ล้านไร่ และจะปลูกเพิ่มอีก 2 ล้านไร่ รวมเป็น 3 ล้านไร่
"เราคงทำเองคนเดียวไม่ได้ องค์กร ภาคส่วนต่าง ๆ ต้องเข้ามามีส่วนร่วม การปรับแนวความคิดสำหรับ ผู้บริหารต้องสื่อสารบ่อย ๆ เพราะคนรุ่นใหม่คิดไม่เหมือนกับคนรุ่นเก่า"