สรรพสามิตแนะใช้กลไกภาคบังคับช่วยลดโลกร้อน

สรรพสามิตแนะใช้กลไกภาคบังคับช่วยลดโลกร้อน

สรรพสามิตแนะใช้กลไกภาคบังคับช่วยลดปัญหาโลกร้อน โดยกรมพร้อมใช้มาตรการทางภาษีหนุน เผยแนวศึกษาภาษีสินค้าใดปล่อยคาร์บอนสูงจะถูกเก็บภาษีในอัตราสูง เร่งผู้ผลิตปรับตัว กรณีรถยนต์หากปล่อยคาร์บอนมากกว่า 200 กรัมต่อกิโลเมตรจะถูกเก็บภาษีสูงถึง 35%ในปี 69 และ 38% ในปี 73

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต Keynote Address : New Excise Tax to move Thailand to low carbon economy ในงาน SUSTAINABILITY FORUM 2024 จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ กรมฯได้ปรับบทบาท และประกาศตัวเองว่าเป็นหน่วยราชการแรกที่ให้ความสำคัญด้าน ESG โดยเราจะไม่เพียงจัดเก็บภาษีบาป เหล้า บุหรี่ เพียงอย่างเดียว แต่จะมุ่งเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ ในเวทีนี้ ขอพูดที่มีความสำคัญคือ ด้านสิ่งแวดล้อม ที่ทุกคนต้องปรับและช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เนื่องจาก ไทยติด 1 ใน 10 ประเทศที่มีความเสี่ยงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ พันธสัญญาในเวทีโลกของไทยต่อการแก้ไขปัญหาโลกร้อน คือ ภายในปี 2065 การปล่อยก๊าซคาร์บอนจะต้องเป็นศูนย์ ซึ่งหลายฝ่ายยังมองว่า เป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่ด้วยแรงกดดันจากหลายประเทศทั่วโลก จะทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว โดยเฉพาะภาคธุรกิจในไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตซัพพลายเชนจากต่างประเทศ ก็จะได้รับแรงกดดันที่ต้องมีการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วย ไม่เช่นนั้น จะได้รับแรงกดดันทางด้านกำแพงภาษี ซึ่งขณะนี้ ประเทศในแถบยุโรป และ สหรัฐอเมริกา ก็ได้ออกกติกาทางด้านภาษีมาแล้ว

เขากล่าวว่า ในส่วนของสรรพสามิตเอง ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนหลายรายการ ดังนั้น กรมฯ จึงต้องปรับโครงสร้างภาษีให้สอดคล้องกับทิศทางที่ดูแลสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยปล่อยคาร์บอนถึง 372 ล้านตันคาร์บอน แบ่งเป็น กลุ่มพลังงาน และขนส่งรวม 70% ซึ่งใน 70% นี้ เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีกรมสรรพสามิต

ดังนั้น กรมฯ จึงได้ศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีสินค้าที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยนำมาตรฐานโลกมาเป็นแนวทางคือ 1.จัดเก็บระดับคอร์ปอเรท 2.จัดเก็บระดับโปรดักต์ ซึ่งในอำนาจของกรมฯ นั้น สามารถจัดเก็บได้เลยจากโปรดักต์ และเห็นว่า การจัดเก็บภาษีสินค้าตั้งแต่ระดับต้นน้ำ เช่น น้ำมัน แก๊ส ถ่านหิน ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่ส่งต่อไปยังสินค้ากลางน้ำและปลายน้ำ จะเป็นการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

อย่างไรก็ดี สิ่งที่กรมฯ ต้องคำนึงสำหรับการออกแบบการจัดเก็บภาษีดังกล่าวคือ เมื่อเก็บแล้ว จะต้องสามารถหักลบกับการจัดเก็บภาษีของต่างชาติได้ จัดเก็บแล้วต้องมีความเป็นธรรม และต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ แต่เรื่องนี้ ต้องคำนึงถึงต้นทุนของประชาชนด้วย ทั้งนี้ ตนเห็นว่า ประเทศที่จะช่วยโลกร้อน หรือช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ต้องใช้กลไกภาคบังคับ เพื่อผลที่มีประสิทธิภาพในการปรับเปลี่ยนเชิงพฤติกรรม

เขายกตัวอย่างกรณีที่กรมฯ ศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีรถยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนว่า ในอนาคตรถยนต์ใดที่ปล่อยคาร์บอนสูงก็จะถูกเก็บภาษีในอัตราสูง ซึ่งจะบีบไปเรื่อยๆ โดยรถยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนมากกว่า 200 กรัมต่อกิโลเมตร จะถูกเก็บภาษีในอัตรา 35% ในปี 2569 และ 38% ในปี 2573 , รถยนต์ที่ปล่อยคาร์บอน 151-200 กรัมต่อกิโลเมตร จะถูกเก็บภาษี 30% ในปี 2569 และ 33% ในปี 2573

รถยนต์ที่ปล่อยคาร์บอน 121-150 กรัมต่อกิโลเมตร จะถูกเก็บภาษี 25% ในปี 2569 และ 29% ในปี 2573 , รถยนต์ที่ปล่อยคาร์บอน 101-120 กรัมต่อกิโลเมตร จะเก็บภาษีในอัตรา 22% ในปี 2569 และ 26% ในปี 2573 และรถยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่า 100 กรัมต่อกิโลเมตร จะเก็บภาษีในอัตรา 13% ในปี 2569 และ 15% ในปี 2573

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์