สยามพิวรรธน์ เปิดตัวน้ำดื่มรักษ์โลก ONESIAM ขับเคลื่อนสู่องค์กรขยะเป็นศูนย์
สยามพิวรรธน์ เปิดตัวน้ำดื่มรักษ์โลก ONESIAM ที่ใช้บรรจุภัณฑ์จากอะลูมิเนียม สะท้อนความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนสู่องค์กรขยะเป็นศูนย์
สยามพิวรรธน์ ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกชั้นนำ เจ้าของและผู้บริหารโครงการที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ ตอกย้ำผู้นำการพัฒนาจุดหมายปลายทางระดับโลกสู่ความยั่งยืน เปิดตัวน้ำดื่มจากกระป๋องอะลูมิเนียม ONESIAM Drinking Water ที่นำไอเดียน้ำดื่ม รักษ์โลก บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มจากอะลูมิเนียม สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100% ด้วยกระบวนการ
รีไซเคิลเพื่อเปลี่ยนขยะเป็นบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ สอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการขยะแบบ 360 องศา พร้อมดีไซน์โดดเด่นล้ำสมัยที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ไทยมือรางวัลระดับโลก นำร่องผลิตและจำหน่ายภายในศูนย์การค้าใน กลุ่มสยามพิวรรธน์ สะท้อนความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนสู่ องค์กรขยะเป็นศูนย์ หรือ Zero Waste สร้างผลกระทบเชิงบวก (Net Positive Impact) และเดินหน้าสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050
นางสาวนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฎิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เปิดเผยว่า สยามพิวรรธน์ เตรียมเปิดศักราชปี 2567 ด้วย ONESIAM Drinking Water ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ทำขึ้นภายใต้นโยบายบริหารจัดการขยะแบบ 360 องศา อย่างครบวงจร มุ่งสู่เป้าหมายการขับเคลื่อนสู่ องค์กรขยะเป็นศูนย์ หรือ Zero Waste โดยการรังสรรค์น้ำดื่มในบรรจุภัณฑ์กระป๋องอะลูมิเนียมที่ดีไซน์ลวดลายบนกระป๋องแบบพิเศษ สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการรีไซเคิลได้อย่างไม่รู้จบ ช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่จากการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตวัตถุดิบอะลูมิเนียมได้ถึง 95% และ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการรีไซเคิลอะลูมิเนียม 1 กิโลกรัม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 9.13 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2eq) อีกทั้งตัวกระป๋องสามารถบีบอัดง่าย ทำให้ช่วยลดพื้นที่จัดเก็บเพื่อเตรียมนำกลับไปรีไซเคิล
โครงการน้ำดื่ม ONESIAM ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของ สยามพิวรรธน์ เพื่อบรรลุเป้าหมายลดปริมาณการฝังกลบขยะจากการดำเนินงาน 50% ภายในปี 2030 และเดินหน้าสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2050 ซึ่งการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์น้ำดื่มเป็นอะลูมิเนียมนี้ จะเพิ่มศักยภาพในการนำขยะกระป๋องไปรีไซเคิล ช่วยลดการจัดการขยะแบบฝังกลบอย่างเป็นระบบ ช่วยประหยัดพลังงานและทรัพยากรในการผลิตใหม่
กระป๋องน้ำดื่ม ONESIAM Drinking Water ออกแบบโดย สมชนะ กังวารจิตต์ Executive Creative Director ของ Prompt Design นักออกแบบผู้คว้ารางวัลออกแบบระดับโลกกว่า 200 รางวัล นำแนวคิดที่สะท้อนตัวตนของ ONESIAM ที่เปรียบเสมือน Single Planet นำเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทั้งในด้านความมั่นใจ ความกระตือรือร้น และความอัศจรรย์ ผสมผสานลายเส้นที่หลากหลายให้ความรู้สึกสนุกสนาน เกิดพลังงานในการสร้างสรรค์ โดยใช้เทคนิคการพิมพ์แบบเปิดให้เห็นสีเนื้อกระป๋อง เพิ่มลูกเล่นความโดดเด่นคล้ายการปั๊มนูน และสร้างความแตกต่างให้ผู้พบเห็นสนุกไปกับงานออกแบบที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว
น้ำดื่ม ONESIAM สร้างสรรค์โดย Greenery Water ผู้ผลิตน้ำดื่มกระป๋องอะลูมิเนียมแบรนด์แรกของไทย ที่มีเป้าหมายในการลดขยะจากขวดน้ำดื่มพลาสติกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมากถึง 6,000 ล้านขวดต่อปี โดยใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิลไม่ต่ำกว่า 70% ในการผลิต สามารถหมุนเวียนใช้ทรัพยากรอย่างไม่รู้จบ ตามแนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดของเสียตกค้างในระบบนิเวศ จากการนำบรรจุภัณฑ์กระป๋องอะลูมิเนียมใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นกระป๋องใบใหม่อีกครั้ง ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพ 100%
นอกจากนี้ ลูกค้าและประชาชนทั่วไป สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยฟื้นฟูและส่งต่อโลกที่น่าอยู่สำหรับทุกคน โดยนำกระป๋องอะลูมิเนียมที่ใช้แล้วมาทิ้งที่เครื่องอัดกระป๋องที่ตั้งในศูนย์การค้าในเครือของ สยามพิวรรธน์ หรือนำกระป๋องมาคัดแยกแล้วนำมาฝากที่ Recycle Collection Center หรือ RCC จุดรับวัสดุบรรจุภัณฑ์สะอาดแบบไดร์ฟทรู (Drive-Thru) ที่บริเวณจุดจอดรถทัวร์ ชั้น G ฝั่ง North และบริเวณทางออก 4 ชั้น G (ฝั่งธนาคารกรุงเทพ) สยามพารากอน และจะเริ่มดำเนินการที่ไอคอนสยาม ในต้นปี 2567
น้ำดื่ม ONESIAM Drinking Water เริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2566 ที่ร้าน Loft ชั้น 2 สยามดิสคัฟเวอรี่ และชั้น 3 ไอคอนสยาม, Grab & Go ชั้น 4 สยามดิสคัฟเวอรี่ และผ่าน ONESIAM SuperApp รวมทั้งยังมีแผนวางขายผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending machine) ในสยามพารากอน และสยามเซ็นเตอร์ ในต้นปี 2567