กลุ่ม ปตท.เร่งธุรกิจยั่งยืน หนุนรัฐเก็บ ‘ภาษีคาร์บอน’ ดันเป้า Net Zero
กลุ่ม ปตท. ผนวกแนวคิด ESG แทรกในแผนธุรกิจ ย้ำ Mindset คนในองค์กรสำคัญสุด มองอนาคตธุรกิจ “น้ำมัน-แก๊ส” ต้องลดลง เร่งเดินหน้าธุรกิจใหม่ลดการปล่อยคาร์บอนและเพิ่มมูลค่าสูงหวังภาครัฐเร่งนโยบายภาษีคาร์บอนสู่เป้า Net Zero
“กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนา “SUSTAINABILITY FORUM 2024” ระหว่างวันที่ 13-14 ธ.ค.2566 โดย กลุ่มปตท. ได้นำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจยังยืนตามเมกะเทรนด์ของโลก
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคิล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวในหัวข้อ “ถอดสูตรธุรกิจ สู่ความยั่งยืน Digital Innovation for Sustainability” ว่า การดำเนินธุรกิจตามแนวคิด ESG ยึดหลักความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง GC ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่มีหุ้นส่วนทั่วโลกและขนาดใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับการพาองค์กร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประเทศมุ่งสู่ความยั่งยืนจะต้องตอบสนองเมกะเทรนด์โลก ซึ่งทั่วโลกให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสะอาดที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีสูงขึ้น ซึ่ง GC ต้องสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและตอบสนองความต้องการของลูกค้า
ทั้งนี้ GC ตั้งเป้า Net Zero ในปี 2050 โดยจะไม่สร้างภาระให้กับคนรุ่นหลัง ผ่านแต่ละสเตปของการทำงานที่ต้องชัดเจน คนที่มาทำต่อจะต้องมั่นใจว่าต้องทำได้ตามแผน ปี ค.ศ.2030 มีเป้าหมายลดปริมาณคาร์บอนให้ได้ 20% ผ่าน แผนงานที่ชัดเจน Portfolio driven 25 % Efficiency driven 20 % และ Compensation driven 55 % ด้วยการปลูกป่า และการนำมาเก็บไว้ในรูปแบบการดักจับคาร์บอน Carbon Capture and Storage : CCS ทั้งนี้ในปี 2023 สามารถทำได้ตามแผน
“แผนดำเนินงานต้องชัดเจน ซึ่งมีแผนการลงทุน 5-10 ปี ทั้งเงินลงทุน สัดส่วนการประหยัดพลังงาน ความมสามารถการแข่งขันต้องดีขึ้น การเก็บคาร์บอนแล้วนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์”
ดร.คงกระพัน กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรยั่งยืนต้องสร้างพันธมิตร ตั้งแต่ต้นทาง ทั้ง องค์กร สังคม ชุมชน มหาวิทยาลัย รวมถึงภาครัฐ
GC ถือเป็นองค์กรขนาดใหญ่ การร่วมมือกับชุมชน สร้างงาน สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ดังนั้น โดยภาพรวมการที่บอกว่าดีทั่วโลกก็จะต้องดีด้วย ทุกกระบวนการที่ผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์จะต้องคาร์บอนต่ำ คนที่มีส่วนร่วมทั้งหมดจะเกิดความภูมิใจ
นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ “PTT Synergy for Sustainability” ว่า ปตท.มีหลายสถานภาพ ทั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ และบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ต้องแข่งขันไม่ใช่เสือนอนกิน
ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืน ปตท.ได้นำแนวคิด ESG แทรกเข้าไปตั้งแต่กลยุทธ์ แผนปฎิบัติการ รวมถึงเป้าหมายธุรกิจ การที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่าภาคพลังงานปล่อยคาร์บอน 70% ปตท. อยู่ในกลุ่มดังกล่าว จึงต้องให้ความสำคัญ
“ปตท.เมื่อ 3 ปีที่แล้วได้เปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่เป็น Powering Life with future energy and beyond ปีนี้ได้ฉลองครบรอง 45 ปี จากเดิมที่หลายคนอาจจะรู้จักะคือ ออยล์&แก๊ส กับ ปิโตรเคมิคัล เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแนวโน้มจะลดลงในอนาคต ส่วนประชากรจะไม่เพิ่ม"
ดังนั้น หากจะเติบโตต่อไปจะต้องหาธุรกิจใหม่และก้าวออกไปดำเนินธุรกิจนอกประเทศ
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานด้าน ESG นั้น Mindset สำคัญ สุด ปตท. บริหารงานเป็นกลุ่ม แปลงร่างมาจากการปิโตเลียมแห่งประเทศไทย ปี 2544
รวมทั้ง ปตท.ถือหุ้นบริษัทในกลุ่มโดยตรง 36 บริษัท และมีบริษัทที่แตกลูกออกมาอีก 450 บริษัท รวมกว่า 4 หมื่นคน การบริหารองค์กรที่ซับซ้อนต้องบริหารด้วยความรอบคอบ จึงต้องทำความเข้าใจกับพนักงานให้มีแนวคิดเดียวกัน
ทั้งนี้ สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเป้าหมาย Net Zero แบบมีเงื่อนไขในปี ค.ศ. 2065 คือต้องมีประเทศที่แข่งแรงสนับสนุน
ดังนั้น กลุ่ม ปตท. ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ 6 บริษัท บวก ปตท. เป็น 7 จึงต้องกำหนดเป้าหมาย Net Zero ให้เร็วกว่า แบ่งเป็น 4 บริษัทในปี ค.ศ. 2050 และอีก 3 องค์กรอาจมีข้อจำกัดและช้ากว่า แต่ก็ถือว่าเร็วกว่าที่ประเทศกำหนด
นายเทอดเกียรติ กล่าวว่า ปตท. กำหนดแนวทางการดำเนินงาน 3 ด้านหลัก หรือ 3P ประกอบด้วย
Pursuit of Lower Emissions (การปรับ) โดยปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด อาทิ การปรับเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาใช้เงินไปแล้วเป็นหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะโรงแยกแก๊ส เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนแล้วนำมาใช้ประโยชน์ด้วยเทคโนโลยี CCUS โดย ปตท.สผ. อาจเกิดธุรกิจใหม่และเป็นโอกาสในอนาคต
Portfolio Transformation (การเปลี่ยน) โดยการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและธุรกิจใหม่ อาทิ เปลี่ยนปิโตรเคมิคัลเป็นอุตสาหกรรมมูลค่าสูง หรือจากการใช้แก๊สฯ น้ำมันมาเป็นโซลาร์ ลม ที่ดำเนินการทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงอุตวสหกรรมยา และยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นต้น
Partnership with Nature and Society (การปลูก) การเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติผ่านการปลูกและบำรุงรักษาป่าไม้ รวมถึงพื้นที่สีเขียวต่างๆ ทั่วประเทศ โดยปลูกมาแล้ว 1 ล้านไร่ และจะปลูกเพิ่มอีก 2 ล้านไร่ รวมเป็น 3 ล้านไร่
“เราคงทำเองคนเดียวไม่ได้ องค์กร ภาคส่วนต่าง ๆ ต้องเข้ามามีส่วนร่วม การปรับแนวความคิดสำหรับ ผู้บริหารต้องสื่อสารบ่อย ๆ เพราะคนรุ่นใหม่คิดไม่เหมือนกับคนรุ่นเก่า”
นายบัณฑิต ธรรมประจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยออยล์ ดำเนินธุรกิจสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย Net Zero ปี ค.ศ. 2065
ดังนั้น จึงให้ความสำคัญด้าน ESG ร่วมกับ ผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งผู้ค้า ลูกค้า ชุมชน และสังคม เกิดความเชื่อมั่น และสามารถเติบโตด้านเศรษฐกิจ เมื่อทำได้ดี จะได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ นักลงทุนจึงสนับสนุน
“แนวคิดเราจะทำให้องค์กรเติบโต มีผลตอบแทนระยะยาว สร้างความมั่นใจ ไม่ว่าจะธุรกิจ องค์กร พนักงานมั่นใจว่า เราจะยังอยู่แม้ว่าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะมา เพราะรูปแบบพลังงานเปลี่ยน ซึ่งเราจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง การที่เรามีความมุ่งมั่นพนักงานจะรู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืน”
ทั้งนี้ ไทยออยล์ได้ทรานฟอร์มรูปแบบธุรกิจในอนาคต โดยปัจจุบันส่วนใหญ่กำไรสุทธิ 2 ใน 3 ช่วง 5 ปี ย้อนไปมาจากธุรกิจปิโตรเลียม 80-90% และจะทรานฟอร์มไปธุรกิจคาร์บอนต่ำและมีมูลค่าสูง 20% ในอีก 7-10 ปีข้างหน้า
พร้อมขยายธุรกิจปิโตรเคมีไปสู่ภูมิภาค อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย เพื่อเพิ่มสัดส่วนกำไรเป้าหมายอนาคต 30% จากปัจจุบัน 14%
อย่างไรก็ตาม ไทยออยล์วางกลยุทธ์ 3V คือ
1. Value Maximization การต่อยอดจากน้ำมันดิบที่กลั่นมาสู่ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงโดยใช้ทรัพยากรณ์ที่จำกัดให้คุ้มค่า รวมถึงโครงการพลังงานสะอาดจะตอบโจทย์อนาคต
2. Value Enhancement การบูรณาการห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจ โดยเฉพาะการสร้างความแข่งแกร่งต่างประเทศ เพราะในไทยโตในระดับหนึ่งแค่ 2-3%
3.Value Diversification เป็นตัวช่วยตอบโจทย์เมกะเทรนด์ โดยแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ ตอบโจทย์คาร์บอนสร้างความยั่งยืน
ทั้งนี้ ธุรกิจปัจจุบันต้องลดการปลดปล่อยโดยเฉพาะการศึกษาเทคโนโลยีให้ถูกที่ถูกเวลา การลงทุนเร็วจะทำให้ขีดความสามารถแข่งขันไม่ดี ไทยออยล์จะเป็นองค์กรที่มุ่งสู่องค์กร 100 ปี
สำหรับปีนี้เข้าสู่ปีที่ 63 การจะอยู่ได้อย่างยาว ๆ จะต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ความร่วมมือของพนักงานเป็นปัจจัยสำคัญ รวมถึงภาครัฐจะต้องสนับสนุนทั้งด้านการลงทุนสิ่งใหม่ ๆ และนโยบายภาษีคาร์บอน เป็นต้น