ไทยนำเข้ารถไฟฟ้าจากจีนเพิ่ม 826% สอท.กระทุ้งรัฐอย่าทิ้งFuture ICE
การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าแบบต่างๆของไทยช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีอัตราขยายตัวอย่างก้าวกระโดด เช่นรถยนต์โดยสารประเภทยานยนต์ไฟฟ้า มีการนำเข้าสูงสุดจากประเทศจีน ปี 2565 มูลค่า 14,626 ล้านบาท ต่อมาช่วง ม.ค.-ต.ค.ปี 2566
มีการนำเข้ามูลค่าเพิ่มสูงขึ้นถึง 69,657 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 826%(เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน) โดยสถิตินี้สอดคล้องกับอัตราเติบโตของยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งเป็นผลจากมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมีแผนเดินหน้าต่อสำหรับการกำหนดอากรการนำเข้ามาตรการอีวี 3.5 จะมีการลดอากรนำเข้าให้ไม่เกิน 40%สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป (CBU) ในช่วง 2 ปีแรก (พ.ศ.2567 – 2568) กรณีเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8%เหลือ2%สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท
โดยได้ตั้งเงื่อนไขกระตุ้นการลงทุนในประเทศ ให้ผู้ได้รับการสนับสนุนผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569ในอัตราส่วน1 : 2 (นำเข้า1คัน ผลิตชดเชย2คัน) และจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น1 : 3 ภายในปี 2570
อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการดังกล่าวจะเป็นสาเหตุให้การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าพุ่งสูงอย่างก้าวกระโดดแต่ก็เป็นการซื้ออนาคตที่จะได้ผลตอบแทนเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งภูมิภาค แต่ไทยในฐานะ"ดีทรอยต์แห่งเอเชีย”จะทิ้งฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่นี้ไปจริงๆหรือ
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้จัดทำ Action Planแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยเฉพาะประเด็นยานยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine) จึงเป็นที่มาของ ส.อ.ท. ในการจัดตั้ง Cluster of FTI Future Mobility-ONE หรือ CFM-ONE เพื่อจัดทำข้อเสนอและขับเคลื่อนการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ควบคู่กับภาครัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย ONE FTI
ยุพิน บุญศิริจันทร์ ประธาน Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ด้วยบริบทของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ประสบกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิตในบริบท Technology Disruption รวมถึงมีการออกมาตรการที่ชัดเจนว่าตั้งแต่ปี 2573 (ค.ศ. 2030) จะมีการขายยานยนต์ประเภทสันดาปภายในให้ลดลง โดยเฉพาะในประเทศยุโรป และสหรัฐประเทศไทยจึงต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยยกระดับชิ้นส่วนยานยนต์ไทยเพื่อมุ่งการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
ภายใต้แนวคิด “Strong global production hub with industry transformation” โดยคาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2573 (ค.ศ. 2030) รวม 2,500,000 คัน จะมีสัดส่วนการผลิตที่เป็นรถยนต์ Future ICE คิดเป็น 70% หรือ 1,750,000 คัน และรถยนต์ประเภท ZEV คิดเป็น 750,000 คัน โดยเห็นว่า การที่จะส่งเสริมให้มีการผลิตยานยนต์ทั้ง 2 ประเภทนี้ ภาครัฐจะต้องมีแนวทางในการส่งเสริม ผ่านมาตรการสนับสนุนที่จำเป็น
โดยรักษาและต่อยอดความเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และผลักดันให้เกิดการขยายตลาดการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนในกลุ่มอะไหล่ทดแทน (Replacement Equipment Manufacturing: REM) ไปยังกลุ่มประเทศที่ยังมีการใช้เครื่องยนต์ประเภทสันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE)
"จึงต้องเร่งรัดการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ในกลุ่มประเทศที่ยังมีการใช้เครื่องยนต์ ICE เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ และอเมริกาใต้ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต REM หรือส่วนแต่งรถ (Performance Parts) รวมถึงจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรม"
ส่วนการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อออกมาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ในกลุ่ม Future ICE (Poduct champion, HEV, PHEV, REEV) นั้นเสนอให้สนับสนุนแนวทางการกำหนดโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสำหรับยานยนต์ที่จะบังคับใช้ปี 2569 การผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐมีการกำหนดมาตรฐานมลพิษ ได้แก่ Euro 5 สำหรับรถจักรยานยนต์ และ Euro 6 สำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่ให้มีความเหมาะสม โดยคงยอดการผลิต Future ICE เป็น 70% ของทั้งหมดในปี 2573 และยกระดับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ยานยนต์สมัยใหม่
"ต้องสร้างกลไกการจับคู่บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยกับต่างชาติ เพื่อเพิ่มโอกาสสำหรับการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (Localization) และต่อยอดสู่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กำลัง (Power Electronic Parts) จัดสรรงบประมาณสำหรับการฝึกอบรมแรงงานเพื่อเข้าสู่ยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อเพิ่มทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical Skills)"
ไม่เพียงการนำเข้ารถไฟฟ้าจากจีนที่เพิ่มสูงขึ้น การนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าชนิดอื่นๆจากแหล่งอื่นก็มีอัตราขยายตัวที่สูงกันดังนั้นการจ่ายเพื่อนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปในตอนนี้ต้องให้แน่ใจว่าในอนาคต การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องไม่หลุดเป้าหมายและสับสนจนสุดท้ายแล้วไม่ได้เลย