'NRF' สร้างความยั่งยืน 'ต้นน้ำ' สู่ความยั่งยืน 'ระบบอาหาร'
บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF มุ่งเดินหน้าหนุน "ต้นน้ำ" สู่เกษตรอินทรีย์ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน
เป็นเวลากว่า 8 ปี ที่ บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF เดินหน้าส่งเสริมเกษตรกรที่อยู่ใน ห่วงโซ่อุปทาน มากกว่าพันราย ซึ่งถือเป็น "ต้นน้ำ" เพื่อยกระดับสู่ เกษตรอินทรีย์ โดยการสร้างแรงจูงใจรับซื้อสินค้าเกษตรในราคาสูงกว่าตลาด 20-30% ตลอดจนการให้ความรู้และสนับสนุนเปลี่ยนไร่ขนาดเล็กให้เป็นแปลงใหญ่เพื่อให้สะดวกต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้
ขณะเดียวกัน ยังมุ่งมั่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการเผา โดยทำโครงการร่วมกับเกษตรกรภาคเหนือ จ.เชียงราย นำร่อง 1 หมู่บ้าน มีเกษตรกร 200 ครัวเรือน เก็บสิ่งที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวและลงทุนในชุมชนเพื่อให้มีเตาเผาชนิดพิเศษสุญญากาศ ไม่ปล่อยมลพิษ แปรเป็น "ไบโอคาร์บอน" นำไปฝังในไร่ ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้กว่า 20-30% เนื่องจากมีคุณสมบัติทำให้ดินซับน้ำ
หนุน "ต้นน้ำ" สู่เกษตรอินทรีย์
แดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ให้สัมภาษณ์กับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า สิ่งสำคัญที่สุดของภาคการเกษตรคือ ยกระดับความรู้ อาชีพ ความสามารถ และปลายทางคือ ยกระดับรายได้ต่อครัวเรือนให้เข้มแข็งขึ้น หากยกระดับเกษตรกรได้ ประเด็นต่อมาคือ ประเทศไทยจะได้มีภาคอุตสาหกรรมเกษตรที่ไม่ถดถอย
"ปัจจุบันเราอยู่ใน สังคมผู้สูงอายุ มีการประเมินว่า เกษตรกรที่มีอยู่ราว 14 ล้านคน อาจจะหายไปครึ่งหนึ่งในปี 2050 และฤดูในการปลูกก็อาจจะหายไป 1 ฤดู หากไม่ช่วยยกระดับ เพิ่มขีดความสามารถ เพิ่มรายได้ต่อครัวเรือน และสนับสนุนให้เป็นเกษตรแปลงใหญ่เพื่อนำเทคโนโลยีมาจับ อาจจะแย่เพราะเกษตรคือต้นน้ำ"
สร้าง "ปลายน้ำ" ยกระดับเกษตรกร
ที่ผ่านมา NRF ได้เข้าซื้อกิจการร้านค้าปลีกเอเชียที่อังกฤษ 2 แห่ง เป็นช่องทางการตลาดให้เกษตรกร จัดซื้อจากเกษตรกรโดยตรง
ประเด็นนี้ "แดน" กล่าวต่อไปว่า ปกติการส่งออกผัก ผลไม้จะต้องผ่านคนกลาง 4-6 ราย ดังนั้นเราจึงพยายามที่จะตัดคนกลางออกไปให้ได้มากที่สุด และแบ่งรายได้ตรงนั้นให้เกษตรกรโดยตรง ขณะที่ทางเกษตรกรเองก็ต้องทำผลผลิตให้ได้ มาตรฐานการนำเข้าของอังกฤษเช่นกัน อีกทั้งอยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มในการขายสินค้าของเอเชีย ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้น ยังรวมถึงประเทศอื่นๆ อาทิ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น
"อยากเชิญชวนภาคส่งออกที่ต้องการทำตลาดในต่างประเทศ มาร่วมมือกันสร้าง Soft Power สินค้าเกษตรของไทย เข้าสู่ประเทศอังกฤษ เชื่อว่าสิ่งนี้ จะสร้างการเติบโตต่อเนื่อง ด้วยความยั่งยืน และไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนมากในการเติบโต แต่สามารถเพิ่ม Margin ในการขาย"
ทั้งนี้ การดำเนินการ ที่ผ่านมา NRF ตอบโจทย์เป้าหมายด้านความยั่งยืน SDGs ทั้งหมด 13 เป้าหมาย โดยเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดคือ เป้าหมายที่ 13 เกี่ยวกับการรับมือกับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยโครงการลดการเผาที่ทำร่วมกับเกษตรใน จ.เชียงราย ในการฝังคาร์บอน และคาดการณ์ว่าจะออกคาร์บอนเครดิตได้ 4,000 - 5,000 ตันต่อปี ซึ่งจะมาชดเชยกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ NRF รวมถึงเน้นเป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ และเป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน